‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น’ ยังคงเป็นจริงเสมอ เมื่อในที่สุด ‘ปราโบโว ซูเบียนโต โจโยฮาดิกูซูโม’ วัย 72 ปี หรือมีชื่อเรียกสั้นว่า ‘ปราโบโว ซูเบียนโต’ รมว.กลาโหมของอินโดนีเซียคนปัจจุบัน ได้ออกมาประกาศชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567
ผลการนับคะแนนแบบ Quick Count อย่างไม่เป็นทางการของหลายสำนักออกมาว่า ปราโบโว ได้คะแนนเสียงถึงประมาณ 57-59% ทิ้งห่างเหนือคู่แข่งคนสำคัญอีกสองคนอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ปราโบโว กำลังเข้าใกล้ความสำเร็จมีโอกาสจะชนะเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย หลังจากเขาต้องพบกับความผิดหวัง พ่ายแพ้แก่ ‘โจโก วิโดโด’ ในการลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ผ่านมา ถึง 2 ครั้ง 2 หน
‘ไทยรัฐออนไลน์’ จึงขอพาคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ ปราโบโว ซูเบียนโต ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อินโดนีเซีย ผู้ที่สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญอีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศ
เปิดประวัติ ‘ปราโบโว ซูเบียนโต’
ปราโบโว เกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2494 ที่กรุงจาการ์ตา เขาเป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 4 ของครอบครัวที่ทรงอิทธิพลที่สุดครอบครัวหนึ่งในอินโดนีเซีย เพราะซูมิโตร โจโยฮาดิกูซูโม พ่อของปราโบโว เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และเป็นนักการเมืองซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวงในสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีซูการ์โนและซูฮาร์โต ขณะที่ โดรา มาเรีย สีรีจาร์ แม่ของปราโบโว เป็นแม่บ้าน ซึ่งจบการศึกษาด้านการพยาบาลศัลยกรรมในเนเธอร์แลนด์
ปู่ของปราโบโว คือ มาร์โกโน โจโยฮาดิกูซูโม เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารเนการา อินโดนีเซีย (Negara Indonesia) หรือ (BNI) ซึ่งเป็นธนาคารรัฐแห่งแรกของอินโดนีเซีย อีกทั้งปู่ของเขายังเป็นคนแรกที่ได้เป็นหัวหน้าสภาที่ปรึกษาสูงสุดของอินโดนีเซียอีกด้วย แต่สภาฯ แห่งนี้ได้ถูกยุบในปี 2546
จาการ์ตาโพสต์ สื่อภาษาอังกฤษในอินโดนีเซียรายงานว่า ปราโบโว ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในวัยเด็กในต่างประเทศ เนื่องจากพ่อของปราโบโวเกี่ยวข้องในรัฐบาลปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Revolutionary Government of the Republic of Indonesia) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2501 เพื่อต่อต้านรัฐบาลกลางสมัยอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน จึงทำให้ปราโบโวสามารถพูดได้หลายภาษาทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษและภาษาดัตช์
จากการที่ ปราโบโว เกิดมาในครอบครัวที่ทรงอิทธิพลครอบครัวหนึ่งในอินโดนีเซีย ทำให้เขาได้รับสิทธิพิเศษในการเดินตามความฝันมาโดยตลอด เพราะหลังจากจบการศึกษาจากสถาบันการทหาร (AKABRI) ในปี 2517 ได้ไม่นานนัก ปราโบโวได้เข้าเป็นทหารในกองทัพบกอินโดนีเซีย
เพียง 2 ปีต่อมา ปราโบโวได้รับเลือกให้อยู่ในกองกำลังพิเศษ ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษ Kostrad ที่มีกำลังพล 27,000 ราย เมื่อปี 2541 ระหว่างเขาเป็นทหารในกองทัพนานถึง 28 ปี ปราโบโวมีผลงานทั้งด้านขาวและด้านดำ กระทั่งถูกปลดประจำจากกองทัพอย่างไม่สมศักดิ์ศรี หลังการปกครองในยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โตล่มสลายในปี 2541
ปราโบโว ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษ ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปาปัว และติมอร์ตะวันออก รวมทั้งการลักพาตัวนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่ต่อต้านซูฮาร์โตระหว่างปี 2540-2541 จนสูญหายหลายคน แต่ปราโบโวได้ปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด
เพียงสองเดือนหลังจาก ซูฮาร์โตถูกพลังประชาชนออกมาประท้วงขับไล่จนต้องยอมลงจากตำแหน่ง หลังจากเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียยาวนานถึง 32 ปี ในปี 2541 และในเดือนสิงหาคมปีนั้น ปราโบโว ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ยุติอาชีพทหาร และลี้ภัยตัวเองไปอยู่ในจอร์แดน
ปราโบโวและนายทหารอีกหลายคนถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามเดินทางเข้าประเทศด้วยข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออก จนกระทั่งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยกเลิกแบล็กลิสต์ให้แก่ปราโบโวในปี 2565 ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหมของอินโดนีเซียในรัฐบาลประธานาธิบดีโจโก วิโดโด และเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ
แต่งงานกับลูกสาวอดีต ปธน.ซูฮาร์โต
ปราโบโวแต่งงานกับ Siti Hediati Hariyadi บุตรสาวของซูฮาร์โต ในปี 2526 และมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน แต่ทั้งสองได้จดทะเบียนหย่ากันทันทีหลังจากอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตถูกพลังประชาชนขับไล่ออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2541 จึงทำให้เชื่อกันว่าการหย่าของปราโบโวกับภรรยา เป็นการหย่ากันทางนิตินัยเท่านั้น
จากนั้น ปราโบโวได้ลี้ภัยตัวเองไปอยู่ในประเทศจอร์แดนหลายปี ก่อนจะกลับมาอินโดนีเซียในปี 2554 และก้าวเดินตามรอยพี่ชาย ด้วยการทำธุรกิจ ตั้งบริษัทผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์ บริษัทพลังงาน Nusantara Energy และต่อมา ได้ตั้งกลุ่มบริษัท Nusantara Group (นูซันตารา กรุ๊ป) ซึ่งมีบริษัทลูกหลายบริษัทที่ทำธุรกิจหลายอย่าง ทั้งน้ำมันปาล์ม ถ่านหินและก๊าซ เหมืองแร่ อุตสาหกรรมเกษตรและประมง
ก้าวสู่เส้นทางการเมือง
ถึงแม้ปราโบโวจะโชคดีในการทำธุรกิจ แต่เขากลับไม่ประสบความสำเร็จในการได้เป็นตัวแทนของพรรคโกลคาร์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2547 ทำให้ 4 ปีต่อมา เขาร่วมก่อตั้งพรรคเกอรินดรา
ในขณะที่ปราโบโวได้รับเลือกให้ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี คู่กับประธานาธิบดี เมกาวตี ซูการ์โนบุตรี บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน จากพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซียของการต่อสู้ (PDI-P) ที่สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยในการเลือกตั้ง ปี 2552 แต่ต้องพบกับความพ่ายแพ้
จากนั้น ปราโบโว ได้รับเลือกให้เป็นประธานพรรคเกอรินดรา ในปี 2557
นักการเมืองรวยสุดที่ลงชิงตำแหน่ง ปธน.
ปราโบโว เป็นนักการเมืองที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดในบรรดาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2567 โดยมีการคาดประมาณทรัพย์สินเมื่อ 31 มีนาคม 2566 ว่า เขาครอบครองทรัพย์สินเป็นมูลค่ามหาศาลถึง 2 ล้านล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,600 ล้านบาท คิดในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 36 บาท)
จากอดีตผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษ ปราโบโวได้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูมีความน่ารัก เป็นผู้ใหญ่ใจดี มีความนุ่มนวลขึ้น นับตั้งแต่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบันในรัฐบาลโจโกวี
นักวิเคราะห์การเมืองมีความเห็นว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ปราโบโวได้ปรับภาพลักษณ์ของตัวเองให้เป็นรัฐบุรุษที่มีเสน่ห์ มีความน่ารักน่าชื่นชม เป็นผู้ใหญ่ใจดี ใช่ผู้นำที่ดูดุดันและมีความคิดชาตินิยมที่เคร่งศาสนาเหมือนก่อน โดยเฉพาะการใช้สื่อโซเชียลอย่าง TikTok และการ์ตูน ปรับภาพลักษณ์ให้เป็น ‘คุณปู่ผู้น่ารัก’เพื่อหวังครองใจเยาวชนอินโดนีเซีย ในยุค Gen Z ซึ่งถือเป็นกลุ่มประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้
กระทั่งในที่สุด จากผลการนับคะแนนเลือกตั้ง แบบ Quick Count ออกมาว่า ปราโบโว ได้คะแนนเสียงนำเป็นอันดับหนึ่ง ทิ้งห่าง ‘อานีส บาสเวดัน’ อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา และ ‘กันจาร์ ปราโนโว’ อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง จากพรรครัฐบาล PDI-P ไปแบบขาดลอย ทำให้ปราโบโว และ ‘ยิบราน รากาบูมิง’ คู่ชิงรองประธานาธิบดีของเขา ซึ่งเป็นบุตรชายของประธานาธิบดีวิโดโดออกมาประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้
และทำให้ความฝันของปราโบโว ที่จะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซียอยู่ใกล้จนสามารถจะเอื้อมถึงในไม่ช้า
ที่มา :thejakartapost,reuters
บทความโดย อรัญญา ศรีจันทรนิตย์
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 15 ก.พ.67
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2763180