ผู้นำฮ่องกงประกาศจัดทำกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่อย่างเร่งด่วน เพื่อขจัดภัยคุกคามประเด็นสนับสนุนการประกาศเอกราช
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม 2567 กล่าวว่า จอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงประกาศเร่งจัดทำกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ หลังบังคับใช้ด้วยฉบับของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่มาตลอด 4 ปี
กฎหมายดังกล่าวจะขยายขอบเขตกฎหมายที่จีนบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เพื่อปิดปากผู้เห็นต่าง โดยระบุเพิ่มเติมประเด็นอาชญากรรม เช่น การกบฏ และการแทรกแซงจากภายนอก
นักวิจารณ์กล่าวว่า กฎหมายความมั่นคงจะส่งผลกระทบต่อสถานะของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางระหว่างประเทศ และลิดรอนเสรีภาพของชาวฮ่องกงที่มีมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ซึ่งรัฐบาลฮ่องกงระบุว่าจะเปิดรับฟังการปรึกษาหารือสาธารณะ จะเสริมความสามารถของทางการในการปราบปรามภัยคุกคามที่มีอยู่และที่อาจเกิดขึ้น
“ในขณะที่สังคมโดยรวมดูสงบและปลอดภัยมาก แต่เรายังคงต้องระวังการก่อวินาศกรรมที่อาจเกิดขึ้นและคลื่นใต้น้ำที่พยายามสร้างปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแนวคิด ‘ฮ่องกงเป็นเอกราช’ ยังคงฝังอยู่ในจิตใจของบางคน” ผู้นำฮ่องกงกล่าวในงานแถลงข่าว
“ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาตินั้นมีอยู่จริง เราเคยประสบกับมันและได้รับความเดือดร้อนจากมันอย่างหนัก ซึ่งเราไม่ต้องการเผชิญกับประสบการณ์อันเจ็บปวดนั้นอีก” จอห์น ลีกล่าว พร้อมเสริมว่า ตัวแทนความวุ่นวายจากต่างชาติบางรายอาจยังคงแทรกซึมอยู่ในฮ่องกง
นับตั้งแต่อังกฤษคืนฮ่องกงคืนให้กับจีนเมื่อปี 2540 ดินแดนแห่งนี้อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งมีโครงสร้างทางกฎหมายและระบบตุลาการศาลแยกจากจีนแผ่นดินใหญ่
ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับย่อ หรือที่รู้จักกันในชื่อกฎหมายพื้นฐาน ฮ่องกงจำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง 7 ประการ ซึ่งรวมถึงการกบฏและการจารกรรม
ความพยายามครั้งแรกของรัฐบาลฮ่องกงในปี 2546 ที่จะปรับใข้ฎหมายความมั่นคงแห่งชาติต้องระงับลง หลังจากประชาชนครึ่งล้านออกมาประท้วงตามท้องถนน
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดินแดนกึ่งปกครองตนเองแห่งนี้ก็พบเจอกับความขัดแย้งตามมาอีกหลายระลอกรวมถึงในปี 2562 ที่ผู้คนหลายแสนคนเข้าร่วมในการประท้วงที่รุนแรงเพื่อเรียกร้องเสรีภาพมากขึ้น
เพื่อเป็นการตอบสนองเหตุดังกล่าว รัฐบาลปักกิ่งได้บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปี 2563 เพื่อลงโทษต่อการก่ออาชญากรรมสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ การแบ่งแยกดินแดน, การบ่อนทำลายความมั่นคง, การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ โดยกำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึงตลอดชีวิต
หลังจากนั้นก็มีผู้ถูกจับกุมในฮ่องกงสะสมจนถึงปัจจุบัน 290 คนแล้ว เนื่องด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งรวมถึงนักการเมืองคนสำคัญ, นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย, ทนายความด้านสิทธิ, นักสหภาพแรงงาน และผู้สื่อข่าวอีกหลายสิบคน
ในบรรดาผู้ถูกจับกุมเหล่านั้น มีผู้ถูกตัดสินลงโทษแล้วมากกว่า 30 คน ขณะที่อีกหลายสิบคนถูกควบคุมตัวเพื่อรอการพิจารณาคดีเป็นเวลานานกว่า 2 ปี
ฝ่ายปกครองระบุว่า กฎหมายของเมืองที่กำหนดภายใต้มาตรา 23 ของกฎหมายพื้นฐาน จะลงโทษต่ออาชญากรรมใหม่ ๆ มากมาย เช่น การทรยศ, การกบฏ, การจารกรรม, กิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ และการแทรกแซงจากภายนอก
“ผมต้องย้ำว่ากฎหมายพื้นฐานมาตรา 23 จะต้องเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด” ลีกล่าว พร้อมเสริมว่ารัฐบาลฮ่องกงรอมา 26 ปีกว่าจะทำให้เป็นจริง
ลีกล่าวว่า ทางการจะดำเนินการร่วมกับกลุ่มท้องถิ่นและต่างประเทศในกระบวนการปรึกษาหารือเกี่ยวกับกฎหมาย จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และเชื่อว่าประชาชนจะต้องพอใจกับความมั่นคงที่จะได้รับจากกฎหมายฉบับใหม่นี้
ผู้นำฮ่องกงทิ้งท้ายว่า “ผมมั่นใจมากว่าถ้าเราบังคับใช้มาตรา 23 ยิ่งเร็วเท่าไหร่ สิ่งที่เป็นปัญหากับเรามากว่า 26 ปี ก็จะสิ้นสุดได้เร็วเท่านั้น และเราจะสามารถมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมได้ต่อไป”
เขาเสริมว่า ตัวบทกฎหมายจะไม่บังคับส่งผู้ถูกจับกุมไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับชาวฮ่องกง เนื่องจากร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่เสนอในปี 2562 เคยเป็นประเด็นที่จุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในขณะนั้น.
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยโพสต์ / วันที่เผยแพร่ 30 ม.ค. 2567
Link : https://www.thaipost.net/abroad-news/526179/