ไทยใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการเลือกตั้งครั้งแรก โดยสภาเด็กและเยาวชนเขตกรุงเทพฯ ระบุ มีความโปร่งใส รู้ผลทันที ประหยัดงบได้กว่า 30 เท่า!
16 ก.พ. 67 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงผลการเลือกตั้งสภาเด็กและเยาวชนเขตอย่างไม่เป็นทางการ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หลังปิดหีบเลือกตั้งเวลา 17.00 น. จากการเลือกตั้งผ่าน D-vote ในระบบ Blockchain ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งสามารถรู้ผลทันทีหลังปิดหีบ
โดยไม่ต้องมีกระบวนการรับหีบ เปิดหีบ นับบัตรเลือกตั้ง และไม่ต้องมีการขนส่งบัตรเลือกตั้งไปนับ ช่วยให้การเลือกตั้งโปร่งใส เป็นก้าวแรกของการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการเลือกตั้ง
ด้าน ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ หรือ “ดร.เรือบิน” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ดีโหวต จำกัด กล่าวว่า ทุกวันนี้ การทำงานด้านนโยบาย โดยการนำเสียงของประชาชนมาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นที่มาของการนำระบบ D-vote ระบบ Blockchain มาใช้ ซึ่ง D-vote มาจากคำว่า decentralization หรือ การกระจายศูนย์
ซึ่งแรกเริ่มมาจากการจัดทำโพลล์ต่าง ๆ ทำให้ทราบปัญหาจากประชาชน จนนำมาสู่การนำมาใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งระบบดังกล่าวนำมาซึ่งความโปร่งใส เป็นส่วนตัวประสิทธิภาพสูง และรวดเร็ว
การเลือกตั้งครั้งนี้ ใช้ระบบยืนยันตัวตนผ่าน ThaID ของกรมการปกครอง ควบคู่กับการ e-KYC โดย D-vote และสยามราชธานี (SO) ซึ่งทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ต่างจากการใช้คนประจำหน่วยที่อาจมีความเห็นหลากหลายมาตรวจสอบรูปจากบัตรประชาชน และเมื่อมีการกดลงคะแนน ระบบจะบันทึกผลลง Blockchain ผ่าน JIB Chain ที่มีกว่า 25,000 โหนด และ Kub Chain ที่ถือโหนดโดยองค์กรชั้นนำหลายสิบแห่ง
ซึ่งทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขคะแนนในภายหลังได้ โดยคะแนนจะถูกบันทึกโดยการเข้ารหัส เพื่อให้ไม่สามารถอ่านผลคะแนนได้ก่อนปิดหีบ แต่จะสามารถรู้จำนวนผู้มาใช้สิทธิได้แบบเรียลไทม์ หลังปิดหีบ กุญแจไขรหัสจะถูกเปิดเผยเพื่อให้สามารถรวมและตรวจสอบผลได้ทันที
ด้านความเป็นส่วนตัว การลงคะแนนจะเป็นการส่งข้อมูลทางเดียวที่ไม่สามารถย้อนกลับไปหาได้ว่าผู้ลงคะแนนนี้เป็นใคร แต่ตัวผู้ลงคะแนนจะสามารถรู้ได้ว่าคะแนนของตนได้ถูกส่งไปรวมในผลเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว
ในด้านประสิทธิภาพ ระบบ Blockchain สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 5-14 วินาที และสามารถรายงานผลได้ภายใน 12 นาที รวมระยะเวลาที่ใช้คนในการตรวจทานและส่งรายงานผลทั้ง 30 เขตเลือกตั้ง และต้นทุนที่ใช้ในการจัดการลงคะแนนอยู่ที่ 1-2 บาท ต่อโหวต
ซึ่งหากถูกนำไปปรับใช้กับการเลือกตั้งหรือทำประชามติในระดับประเทศ คาดว่าจะช่วยร่นระยะเวลาในการรายงานผลคะแนนให้อยู่ภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังปิดหีบ ประหยัดงบประมาณในส่วนของการจัดการเลือกตั้ง ที่ไม่รวมงบประมาณประชาสัมพันธ์ ได้ 20-30 เท่า และลดความผิดพลาดในการนับคะแนนได้แทบทั้งหมด
ซึ่งเป็นความมุ่งหวังของการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อให้ได้บทเรียนที่นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดในการเลือกตั้งในระดับใหญ่ยิ่งขึ้นต่อไป
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : PPTV / วันที่เผยแพร่ 17 ก.พ.67
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ไอที/217334