จิม ทอมป์สัน-ราชาไหมไทย
จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) ผู้ได้รับการขนานนามว่า “ราชาไหมไทย” เกิดเมื่อ พ.ศ. 2449 ที่เดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวอเมริกันหัวเก่า บิดาเป็นเจ้าของโรงงานทอผ้า มีตาเป็นนายพลที่เคยผ่านสงครามกลางเมือง และเป็นนักเดินทางที่เชี่ยวชาญประเทศในเอเชีย
เมื่ออายุกว่า 30 ปี ทอมป์สันยังไม่ประสบความสำเร็จใดๆ จนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต เมื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังป้องกันชาติ
จิม ทอมป์สัน สายลับซีไอเอ?
ระหว่างสงคราม จิม ทอมป์สันได้พบกับ ร้อยเอกเอ็ดวิน แบล็ค สมาชิกของ โอเอสเอส (Office of Strategic Service) บุคคลที่มีอิทธิพลในชีวิตทอมป์สัน ผู้กองแบล็คภายหลังคือนายพลจัตวาแบล็ค ผู้บัญชาการหน่วยสนับสนุนการรบในประเทศไทย และยังเคยเป็นทูตสหรัฐในเวียดนาม เคยประจำฐานทัพทหารอากาศอเมริกันในโคราช ฯลฯ เมื่อสงครามผ่านไปประมาณหนึ่งปี นายพลแบล็คได้พบกับทอมป์สันอีกครั้ง จึงชักชวนให้เขามาประจำหน่วยโอเอสเอส
โอเอสเอสเป็นหน่วยสืบราชการลับ ทำหน้าที่หาข่าว, ทำการจารกรรม, ก่อวินาศกรรม, ล้มล้างโฆษณาชวนเชื่อ, ลักลอบเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ศัตรู ฯลฯ เจ้าหน้าที่ในหน่วยโอเอสเอสจึงได้รับการฝึกใช้อาวุธหลายชนิด, การจารกรรม, การเอาตัวรอด, ฝึกการสังหาร, การส่งข่าว ฯลฯ ทอมป์สันเองก็เคยถูกส่งไปปฏิบัติการใต้ดินในต่างประเทศ ภายหลังโอเอสเอสเปลี่ยนเป็น ซีไอเอ (Central Intelligence Agency)
หลังสงครามครั้งนั้น โลกต้องประสบกับความวุ่นวายอีกคราวหนึ่ง เมื่อมหาอำนาจผู้ชนะสงครามพยายามจัดระเบียบโลกขึ้นใหม่ มีการแบ่งออกเป็นสองค่าย คือค่ายโลกเสรี และคอมมิวนิสต์ ลัทธิการล่าอาณานิคมรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง ด้วยชาติมหาอำนาจต่างพยายามชิงพื้นที่ในยุทธศาสตร์สำคัญของโลก อันนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ครั้งใหม่ที่เรียกว่า “สงครามเย็น”
ประเทศมหาอำนาจในโลกเสรีคืออเมริกา ประกาศเป็นศัตรูกันอย่างเอาเป็นเอาตายประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งในงานใต้ดิน เพื่อการข่าว และการจารกรรม
ประเทศไทยเองตกเป็นเป้าหมายสำคัญในเวลาไม่นาน เมื่อค่ายคอมมิวนิสต์รุกคืบหน้าขับไล่ฝรั่งเศสออกจากเวียดนาม, ลาว และเขมร อเมริกาในฐานะผู้นำโลกเสรีหวาดผวากับทฤษฎีโดมิโน ว่าฐานที่มั่นสุดท้ายในอินโดจีนจะตกเป็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในที่สุด จึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะรักษาพื้นที่ยุทธศาสตร์นี้ไว้ มีการจัดตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นเพื่อป้องกันการรุกคืบของฝ่ายคอมมิวนิสต์
เวลานั้นเรียกได้ว่า สายลับเดินกันเพ่นพ่านเต็มบ้านเต็มเมือง
ดูเหมือนว่างาน “สร้าง” คอมมิวนิสต์ของอเมริกา ประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศไทย สร้างให้ทุกคนหวาดกลัวคำคำนี้ สร้างให้ทุกคนต้องการจะทำลายคอมมิวนิสต์ให้หมดไป ด้วยเหตุผลนี้อเมริกาในฐานะ “รัฐพี่เลี้ยง” จึงเข้าควบคุม และแทรกแซงกิจการเกือบทุกด้านของประเทศไทยไว้เกือบหมด โดยความเห็นชอบของรัฐบาล
ในยุคเริ่มแรกของสายลับ จิม ทอมป์สันอาจจะเป็นสายลับรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าจะทำงานอย่างเปิดเผยในฐานะเจ้าหน้าที่โอเอสเอส มีฐานปฏิบัติการอยู่ในพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งเวลานั้นยังใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลอยู่ สายลับโอเอสเอสยังไม่ได้มีบทบาทที่น่ากลัวเหมือนในสมัยหลังๆ ยังคงมีภาพพจน์เป็น “พระเอก” อยู่ ต่างกับงานสายลับสมัยหลังในยุคของซีไอเอ ซึ่งเริ่มมีพฤติการณ์ฉาวโฉ่ หลังจากการปฏิบัติงานในพื้นที่อเมริกาใต้
สายลับเกือบทั้งหมดจะมีอาชีพบังหน้า ไม่ว่าจะเป็นหมอ, นักวิชาการ, นักกฎหมาย, เจ้าหน้าที่การทูต หรือแม้แต่นักธุรกิจ ก่อนเกิดสงครามโลก เราได้รับบทเรียนมาแล้วในลักษณะนี้จากสายลับญี่ปุ่น ซึ่งมาในคราบหมอฟัน ช่างถ่ายรูปบ้าง เช่นเดียวกับระยะหลังสงครามโลก เราก็เพิ่งมารู้ภายหลังว่านักวิชาการที่มาสำรวจประเทศไทยในคราบของนักโบราณคดี, นักวิทยาศาสตร์, นักมานุษยวิทยา และอื่นๆ ต่างก็ส่งข้อมูลกลับไปให้กับองค์การต่างๆ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากซีไอเอ
ราชาไหมไทย
เมื่อ จิม ทอมป์สัน เข้ามาประเทศไทยในระยะแรกนั้น ได้ทำงานปรับปรุงโรงแรมโอเรียนเต็ล ซึ่งร่วมหุ้นกับเพื่อนชาวต่างชาติ และผู้มีอำนาจในประเทศไทย ระยะนี้เชื่อได้ว่าทอมป์สันยังทำงานให้กับโอเอสเอสอยู่ เขาเดินทางกลับอเมริกาเพื่อปลดประจำการในปี 2489 แต่ตัดสินใจเดินทางกลับมาประเทศไทย เพื่อดำเนินกิจการโรงแรมต่อไปอีก หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เขาคงจะหลงรักประเทศไทยเข้าแล้ว
คำถามก็คือ จิม ทอมป์สัน เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกทำไม เพราะธุรกิจโรงแรมแค่นั้นหรือ การปลดประจำการเป็นการยุติงานสืบราชการลับไปด้วยหรือเปล่า
ที่สำคัญ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ จะยอมให้คนที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างเขาเลิกไปเฉยๆ แบบนี้หรือ ทั้งที่งานทางด้านนี้กำลังเข้มข้นขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คพ่ายแพ้ต่อเหมาเจ๋อตุงในปี 2492 เท่ากับว่าอเมริกากำลังจะเข้าตาจนในการรักษาพื้นที่แถบนี้
ไม่ชัดเจนว่า ทอมป์สันยังทำภารกิจราชกิจลับอยู่หรือไม่ ทั้งในระยะเริ่มต้นและในระยะที่มีธุรกิจผ้าไหมแล้ว กรณีนี้ยังเป็นปัญหาที่จะต้องวิเคราะห์ในลำดับต่อไป
แต่ในระยะแรก หลังจากที่เกิดความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมทุนกิจการโรงแรมชาวฝรั่งเศสชื่อมิสเจอไมนี ครูลล์ ถึงจุดที่ไม่อาจร่วมธุรกิจกันได้งานด้านนี้ จึงต้องเลิกไปในที่สุด
วิลเลียม วอร์เรน เขียนไว้ในหนังสือ Jim Thompson The Unsolved Mystery ว่า เมื่อการทำธุรกิจโรงแรมล้มเหลว เขายังคงทำงานเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง “อย่างไม่เป็นทางการ” ให้กับสถานทูตอเมริกา ซึ่งขณะนั้นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยคือ เอ็ดวิน เอฟ. สแตนตั้น ระหว่างปี 2490-2496 เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากต่อนโยบายการต่างประเทศของไทย ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ประเด็นคือคำว่า “อย่างไม่เป็นทางการ” หมายถึงอะไร หมายถึงการปฏิบัติงานนอกรูปแบบหรือไม่ อย่างที่ทราบกันดีว่าในสมัยนั้น สถานทูตจะทำงานใกล้ชิดกับหน่วยสืบราชการลับ ทูตบางคนก็เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ซีไอเอมาก่อน ดังนั้นการเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ อาจจะบอกถึงบทบาทของจิม ทอมป์สันได้ระดับหนึ่ง
ส่วนในช่วงเวลาหลังสงคราม หน่วยงานโอเอสเอส ได้เปลี่ยนมาเป็นซีไอเอในปี 2490 งานในระยะแรกนั้นอาจจะยังไม่ดุเดือด
เท่ากับตอนหลังเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการจาก วิลเลียม โดโนแวน มาเป็น อัลเลน ดูลเลส ในปี 2496 นักต่อต้านคอมมิวนิสต์ตัวยง ที่เพิ่มความเข้มข้นในงานจารกรรมมากยิ่งขึ้น ทำให้งานสืบราชการลับเริ่มรับบทเป็น “ผู้ร้าย” ตั้งแต่การใช้กำลังทหารจำนวนมากขึ้น แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น แทรกแซงกิจการของรัฐบาลอเมริกาเอง ไปจนถึงการลอบสังหารบุคคลสำคัญของโลก
ระยะนี้เองที่เริ่มจะเห็นการเดินทางของทอมป์สันได้เด่นชัดขึ้น เขาได้เดินทางไปในที่ต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง พม่า เขมร โดยเฉพาะลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่จิม ทอมป์สัน ได้พบเห็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ตลอดจนได้พบเห็นผ้าไหมชิ้นงามๆ จากชาวบ้าน จิม ทอมป์สันได้ซื้อผ้าทอเหล่านี้เก็บสะสมไว้ แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ธุรกิจทางด้านนี้
การเดินทางของเขาในเขตลาว และภาคอีสานของไทยนั้น นอกจากจะเป็นการเดินทางเพื่อเสาะหาผ้าไหมแล้ว เชื่อได้ว่า นั่นเป็นการหาข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในประเทศลาวให้กับรัฐบาลอเมริกาอีกด้วย เพราะระยะนั้นประเทศลาวอยู่ในภาวะที่สับสน และเกิดการต่อสู้กันระหว่างผู้นำลาวฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนฝรั่งเศส ฝ่ายที่เป็นกลาง และฝ่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม และจีน
ที่สำคัญการเดินทางแต่ละครั้งของทอมป์สัน ใช้แผนที่ทางการทหาร และภาพถ่ายทางอากาศเป็นคู่มือ ในการสำรวจเส้นทาง ซึ่งตามปรกติจะถือเป็นความลับทางการทหาร นี่อาจเป็นข้อยืนยันอีกข้อหนึ่งที่ว่าเขายังมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อทางการทหารของสหรัฐฯ
ด้วยความที่เป็นคนในสังคมทำให้เขารู้จักคนสำคัญ ๆ ทั่วโลก ถึงกับเคยพูดว่า ความที่เป็นคนที่มีเพื่อนมาก ทำให้มีเพื่อนที่เป็นทั้งคอมมิวนิสต์ ฝ่ายเป็นกลาง และพวกฝ่ายขวา ทั้งที่สังคมยุคนั้นมีลักษณะที่แบ่งแยกมิตร และศัตรู ค่อนข้างชัดเจน
แม้จิม ทอมป์สัน จะยุ่งวุ่นวายกับธุรกิจผ้าไหมแค่ไหนก็ตาม แต่ทางการก็ยังต้องการให้เขาทำงานหลายๆ อย่างให้อยู่นั่นเอง ระยะหลังคือตั้งแต่ปี 2495 เป็นต้นมา เขามีงานที่ทำอย่างเปิดเผยอีกอย่างหนึ่งคือเป็นตัวแทนขององค์การสหประชาชาติ งานนี้ทำให้ต้องเดินทางไปพม่าอยู่บ่อยครั้ง โดยไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการเศรษฐกิจสําหรับเอเชียตะวันออกไกล หรือ ECAFE (Economic Commission for Asia and Far East)
นอกจากนี้ยังปรากฏว่า เดินทางไปกรุงเบรุตอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีข้อมูลชี้ชัดได้ว่าเดินทางไปทำไมที่นั่น
เขารู้จักกับนักการเมืองคนสำคัญทั่วเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น อูนุ และเนวิน ของพม่า ประธานาธิบดีซูการ์โน ซึ่งผู้นำอย่าง นายพลเนวิน และซูการ์โน ก็เคยมาเยี่ยมเรือนไทยของจิม ซึ่งเป็นผู้นำที่รัฐบาลสหรัฐฯ “จับตามอง” อย่างใกล้ชิด
ส่วนหลักฐานที่มีอยู่เพียงชิ้นเดียวคือ จดหมายของจิม ที่เขียนถึง อิลิเนอร์ พี่สาวของเขาเอง ฉบับวันที่ 29 ธันวาคม 2503 ระบุว่า ชนชั้นสูงของไทยต้องการให้เขาออกแบบและตกแต่งสถานที่แห่งหนึ่งให้ เพราะเห็นผลงานของ จิม ทอมป์สัน ที่แสดงไว้ในการตกแต่งห้องพักของโรงแรมโอเรียนเต็ลหลายห้อง แต่เรื่องนี้กลับถูกสั่งห้ามจาก ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ด้วยเหตุผลว่า เขาเป็นซีไอเอ
รวมถึงการหายตัวอย่างไร้ร่องรอยของเขาในบ่ายวันที่ 26 มีนาคม 2510 เมื่อเดินทางไปประเทศมาเลเซีย
จนถึงวันนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับจิมกันแน่ หากมีผู้วิเคราะห์ว่าเป็นการ “ลักพาตัว” เพราะการ “วางตัวเป็นกลาง” ของเขาในระยะหลัง ทำให้เกิดความหวาดระแวงจากฝ่ายอเมริกันและฝ่ายคอมมิวนิสต์ จิม ทอมป์สัน ที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างวิถีกระสุน จึงได้รับอันตราย แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นฝีมือของฝ่ายใด
หมายเหตุ : คัดย่อและเรียบเรียงเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือ “จิม ทอมป์สัน ราชาไหมไทย” หรือ “สายลับ” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2544
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2565
ที่มา จิม ทอมป์สัน “ราชาไหมไทย” หรือ “สายลับ”
ผู้เขียน ปรามินทร์ เครือทอง
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : นิตยสารศิลปวัฒนธรรม / วันที่เผยแพร่ 25 ม.ค.67
Link : https://www.silpa-mag.com/history/article_83617