พาวเวอร์แบงก์ หรือ แบตเตอรี่สำรอง กลายเป็นสิ่งจำเป็นในยุคเทคโนโลยี ยิ่งถ้าต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ยิ่งจำเป็นต้องรู้เลยว่า “พกขึ้นเครื่องเท่านั้น” ห้ามโหลดลงใต้เครื่องเด็ดขาด แต่จะพกได้มากน้อยกี่อัน ต้องเป็นไปตามกฎมาตรฐานความปลอดภัยที่ กพท. กำหนด
พาวเวอร์แบงก์ หรือ แบตเตอรี่สำรอง กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเดินทางในยุคเทคโนโลยีขณะนี้แล้ว ถือเป็นอุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้ผู้เดินทางบ่อยๆ สะดวกสบายมากขึ้น แต่หากการเดินทางนั้น ต้องโดยสารด้วยเครื่องบิน การพกพาวเวอร์แบงก์ก็จะมีข้อบังคับใช้เข้ามากำกับเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อบังคับนี้เป็นไปตามกฎมาตรฐานความปลอดภัยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
“พาวเวอร์แบงก์ต้องพกติดตัวขึ้นเครื่องเท่านั้น
ห้ามใส่กระเป๋าโหลดใต้เครื่องเด็ดขาด”
ไม่มีคนดับไฟในห้องเก็บกระเป๋า
เหตุผลสำคัญที่ไม่ให้นำพาวเวอร์แบงก์ รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โหลดไปกับกระเป๋าใต้เครื่อง เพราะแบตเตอรี่ที่อยู่ในนั้น หากเกิดการระเบิดหรือไหม้ ขึ้นมา “จะไม่สามารถดับไฟได้” เพราะห้องเก็บกระเป๋าใต้เครื่องบินไม่มีผู้โดยสารอยู่รวมถึงไม่มีการปรับความดันอากาศในนั้น แล้วใครจะมาดับไฟให้ได้ล่ะ ?
แต่สำหรับกรณีที่ขนส่งสัตว์ เช่น สุนัข แมว จะถูกเก็บไว้ในห้องที่สามารปรับความดันอากาศได้ น้องหมาน้องแมวก็จะยังสามารถหายใจได้ตามปกติเหมือนในห้องโดยสารของผู้โดยสารด้านบน
พกได้กี่เครื่องต้องดูที่ปริมาตรความจุ
พาวเวอร์แบงก์ที่สามารถใส่กระเป๋าถือขึ้นเครื่องบินได้ ต้องมีขนาดความจุไฟฟ้าไม่เกิน 32,000 mAh เท่านั้น (ถ้าเกินให้เก็บไว้ที่บ้าน ไม่ต้องพกมา ถูกทิ้งอย่างเดียว)
• พาวเวอร์แบงก์ความจุไฟฟ้า 20,000 mAh (ไม่เกิน 100 WH) สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้แบบไม่จำกัดจำนวน
• พาวเวอร์แบงก์ความจุไฟฟ้า 20,000-32,000 mAh (100-160 WH) นำขึ้นบนเครื่องบินได้ไม่เกิน 2 ก้อน
• พาวเวอร์แบงก์ความจุไฟฟ้า 32,000 mAh (มากกว่า 160 WH) ไม่ได้รับอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องบินในทุกกรณี
• ห้ามนำพาวเวอร์แบงก์ใส่กระเป๋าเดินทางโหลดใต้เครื่องเด็ดขาด
• สำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมที่ไม่ระบุความจุกระแสไฟฟ้า วัตต์-ชั่วโมง (Watt-Hour : WH) หรือขนาดบรรจุของลิเธียม (Lithium Content : LC) หรือระบุไม่ชัดเจน ห้ามมิให้พาไปกับเครื่องบิน ไม่ว่าจะใส่ในกระเป่าสัมภาระติดตัวหรือสัมภาระที่โหลดใต้เครื่องก็ตาม
ทั้งนี้ ให้หมั่นตรวจเช็กพาวเวอร์แบงก์ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ หากพบการใช้งานที่มีประสิทธิภาพน้อยลง ควรทิ้งในถังขยะอันตราย ที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็น สีส้ม สีแดง ก่อนทิ้ง ให้นำแบตเตอรี่ที่บวมหรือเสื่อมสภาพไปแช่นํ้าประมาณ 5 ชั่วโมง เพื่อลดประจุพลังงาน จากนั้นก็เช็ดให้แห้ง แล้วห่อกระดาษหรือใส่ถุงเพื่อนำไปทิ้งในถังขยะอันตรายหรือจุดรับทิ้ง
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้บนเครื่องบิน
ในฐานะ “ผู้โดยสาร” เมื่อได้กลิ่นควัน กลิ่นเหม็นไหม้ หรือเห็นประกายไฟ ไฟไหม้ ไม่ว่าจะจากในห้องโดยสารหรือนอกห้องโดยสาร
“ให้รีบแจ้งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (แอร์โฮสเตส) ทันที
จากนั้นให้ตั้งสติ และปฏิบัติตามคำสั่งของแอร์โฮสเตสทุกอย่าง”
ในกรณีที่แอร์โอสเตส สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่มีการแจ้งให้ผู้โดยสารต้องอพยพออกจากเครื่อง ก็ให้นั่งโดยสารต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทาง
แต่ถ้ากรณีที่จำเป็นต้องนำเครื่องลงฉุกเฉิน เพื่อทำการอพยพ ผู้โดยสารห้ามนำสัมภาระใดๆ ติดตัวไปอย่างเด็ดขาด ใครที่ใส่รองเท้าส้นสูงให้ถอดทิ้งไว้ กรณีที่เกิดไฟไหม้ในเครื่องบิน มีควัน ให้ก้มลง คลานต่ำ ไปยังประตูทางออกฉุกเฉิน ที่แอร์โฮสเตสตะโกนบอก
เมื่อถึงประตูทางออก และมีสไลด์กางออกจากประตู ให้เข้าแถว นั่งยืดขาตรง กอดอก โน้มตัวไปข้างหน้า และ ไถตัวลงไป เมื่อถึงพื้นให้วิ่งออกจากเครื่องบินให้ไกลออกไปให้มากที่สุด แล้วจับกลุ่มกัน ตรวจดูว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และเป็นสัญญาณให้ผู้ช่วยเหลือได้เห็น
“ห้ามกลับไปถ่ายรูป ถ่ายคลิป เซลฟี่ ไลฟ์สดรายงานสถานการณ์ใดๆ เด็ดขาด”
ดังนั้น ให้พยายามให้ความสนใจเมื่อแอร์โฮสเตสสาธิตวิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ บนเครื่องบินรวมถึงทางออกฉุกเฉินบนเครื่อง
ที่มา : ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หลักเกณฑ์การพาแบตเตอรี่ลิเธียมไปกับอากาศยาน พ.ศ.2559
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยบีบีเอส / วันที่เผยแพร่ 24 ก.พ.67
Link : https://www.thaipbs.or.th/news/content/337412