เริ่มแล้ว! TikTok ให้ติดป้ายกำกับคลิปที่สร้างจาก AI เช็กเลยแบบไหนเข้าข่ายบ้าง ? หวังลดโอกาสเกิดความเข้าใจผิดสำหรับคนดูคลิป
TikTok เริ่มให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ติดป้ายกำกับว่า “เนื้อหาที่สร้างโดย AI (AI-Generated Content)” เพื่อลดโอกาสการเข้าใจผิด และแพลตฟอร์มเองก็จะสุ่มตรวจคลิปด้วยเพื่อลดโอกาสเกิดความเข้าใจผิดสำหรับคนดูคลิป หลังจากเทคโนโลยีการจำแลงเสียงและท่าทาง อย่าง Deepfake เริ่มใช้งานได้ง่าย และเสียง AI ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์สังเคราะห์คำใหม่จากการเรียนรู้เสียงของคนจริงเป็นที่แพร่หลาย
คลิปแบบไหนที่ต้องติดป้ายว่าสร้างโดย AI บน TikTok
ข้อมูลจาก TikTok ระบุว่า เนื้อหาที่สร้างโดย AI ได้แก่ รูปภาพ วิดีโอ และ/หรือเสียงที่สร้างหรือแก้ไขโดยกระบวนการการเรียนรู้เชิงลึก (deep-learning) หรือที่เรารู้จักกันคือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเนื้อหานี้อาจรวมถึงคลิปที่ดูสมจริงและดูเป็นการ์ตูนด้วย
ส่วนถ้าเราเล่นฟิลเตอร์สร้างภาพ AI หรือใส่ฟิลเตอร์เพื่อบังคับรูปนิ่งให้ขยับปากตามในแอปฯ ไม่จำเป็นต้องติดป้ายกำกับ ว่าคลิปสร้างโดย AI บน TikTok
ตัวอย่างของเนื้อหาที่สร้างโดย AI มีดังต่อไปนี้
– วิดีโอที่มีคนพูดจริง ซึ่งรูปภาพ เสียง แต่คำพูดถูกแก้ไขหรือตัดต่อโดย AI เช่น Deepfake
– วิดีโอหรือรูปภาพที่มีฉากหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ได้รับการแก้ไขหรือแก้ไขโดย AI เช่น ภาพ AI ที่นำมาประกอบ
– วิดีโอหรือรูปภาพของบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ถูกสร้าง พากย์เสียง และตัดต่อโดย AI ทั้งหมด
ติดป้ายว่าคลิปสร้างโดย AI บน TikTok ทำอย่างไร ?
เมื่ออัปโหลดคลิปลงบน TikTok ผู้ใช้สามารถเลือกติ๊กว่า เนื้อหานี้สร้างโดย AI ได้ทันทีในหน้า อัปโหลดคลิป
ถ้าไม่ติ๊ก ว่า คลิปสร้างโดย AI บน TikTok จะเป็นอย่างไร ?
หาก TikTok ตรวจพบว่าคลิปดังกล่าวสร้างด้วย AI ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ภาพ AI ประกอบ , ใช้ AI พากย์เสียง หรือใช้ Deepfake แล้วไม่ติดป้ายกำกับว่า คลิปสร้างโดย AI ระบบอาจทำการลบคลิปดังกล่าวออกจากแพลตฟอร์ม
ทำไปทำไม ? ทำไปเพื่ออะไร ?
TikTok ให้เหตุผลว่าทำไมต้องให้ติดป้ายกำกับคลิปที่สร้างจาก AI เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดบน TikTok และป้องกันการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือการแอบอ้างบุคคลอื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต
ขณะที่ก่อนหน้านี้ Meta เจ้าของ Facebook และ Instagram ก็วางระบบที่จะขึ้นป้ายกำกับเนื้อหาที่สร้างจาก AI เช่นกัน เพื่อลดโอกาสการสร้างความเข้าใจผิดและการเผยแพร่ข่าวปลอมในแพลตฟอร์ม
บทความโดย NOPPARIT KAMOLSUWAN
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : Springnews / วันที่เผยแพร่ 12 ก.พ.67
Link : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/847756