แอปพลิเคชันเล่นคลิปวิดีโอ “ติ๊กตอก” (TikTok) ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วโลก แต่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แอปพลิเคชันนี้ต้องเผชิญกับกระแสความระแวงสงสัย อันเนื่องมาจากบริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของกิจการมีสัญชาติจีน ทำให้เกิดความกังวลต่อประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งาน รวมทั้งสายสัมพันธ์ที่ติ๊กตอกอาจมีกับรัฐบาลจีนด้วย
ขณะนี้บรรดานักการเมืองชาวอเมริกัน กำลังอภิปรายร่างกฎหมาย ที่จะบังคับให้บริษัทแม่ของติ๊กตอกต้องขายกิจการแอปพลิเคชันดังกล่าวให้กับสหรัฐฯ มิฉะนั้นอาจต้องถูกแบนไม่ให้มีการใช้งานในสหรัฐฯ ได้ต่อไป แต่ล่าสุดอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว แม้จะเคยสนับสนุนให้แบนการใช้งานติ๊กตอกมาก่อนก็ตาม
“ติ๊กตอก” ได้รับความนิยมแค่ไหน
ติ๊กตอกเป็นแอปพลิเคชันเล่นคลิปวิดีโอขนาดสั้น มีลักษณะการใช้งานคล้ายกับยูทิวบ์ (YouTube) คือเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาโพสต์หรือลงเผยแพร่คลิปวิดีโอ รวมทั้งแชร์และร่วมแสดงความคิดเห็นต่อคลิปวิดีโอนั้นได้
คลิปวิดีโอขนาดสั้นในติ๊กตอกมีความยาวตั้งแต่ 3 วินาที ไปจนถึง 3 นาที ผู้ใช้งานสามารถตัดต่อคลิปวิดีโอบนติ๊กตอกได้อย่างง่ายดาย โดยใช้งานตัวกรองหรือฟิลเตอร์ รวมทั้งแปะสติ๊กเกอร์ เพิ่มดนตรีประกอบ และใส่เอฟเฟกต์ที่เป็นเทคนิคพิเศษต่าง ๆ ลงไปได้
ในตอนแรกที่ติ๊กตอกเริ่มโด่งดังขึ้นมา แอปพลิเคชันนี้มีชื่อเสียงในฐานะแหล่งรวมคนหนุ่มสาว ที่พากันรวมกลุ่มมาแสดงความสามารถด้านการเต้น บ้างก็ขับร้องหรือไม่ก็ลิปซิงก์ตามบทเพลงที่กำลังฮิต รวมทั้งทำกิจกรรมตามคำท้าทายหรือแชลเลนจ์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ ผู้ใช้งานติ๊กตอกที่มีอายุถึงเกณฑ์และอยู่ในภูมิภาคที่ได้รับอนุญาต สามารถจะสตรีมวิดีโอของตนในรูปแบบไลฟ์สดไปยังผู้ติดตามจำนวนมากได้ ซึ่งผู้ชมเหล่านี้สามารถจะสมัครเป็นสมาชิกของช่องติ๊กตอกดังกล่าว รวมทั้งมอบของขวัญดิจิทัลเป็นการสนับสนุนผู้ผลิตเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่ตนชื่นชอบได้
แอปพลิเคชันนี้ยังมี “ติ๊กตอกช็อป” หรือพื้นที่สำหรับร้านค้าออนไลน์โดยเฉพาะ โดยผู้ใช้งานสามารถจะเข้าไปซื้อสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งสินค้าที่บรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์นำเสนอผ่านคลิปวิดีโอหรือไลฟ์สดด้วย
ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2019 เป็นต้นมา ติ๊กตอกขึ้นติดอันดับแอปพลิเคชันที่มีผู้ดาวน์โหลดสูงสุดอยู่เป็นประจำ ทั้งยังสามารถเอาชนะอินสตาแกรม ด้วยการแซงหน้าขึ้นเป็นแอปพลิเคชันที่มีผู้ดาวน์โหลดสูงสุดของโลกตลอดช่วงปี 2023 ตามการรายงานของ Sensor Tower บริษัทผลิตข้อมูลข่าวกรองแวดวงดิจิทัล ซึ่งติดตามผลประกอบการของบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยในเดือนมีนาคม 2023 ติ๊กตอกมีสถิติผู้ใช้งานขาประจำในสหรัฐฯ ถึงเดือนละ 150 ล้านคนด้วยกัน
ใครคือเจ้าของติ๊กตอก
บริษัทไบท์แดนซ์ (ByteDance) ของเอกชนชาวจีน ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2012 คือบริษัทแม่ผู้ถือครองกิจการของติ๊กตอกในปัจจุบัน โดยจดทะเบียนบริษัทที่หมู่เกาะเคย์แมนและมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงปักกิ่ง รวมทั้งมีสำนักงานหลายแห่งทั่วยุโรปและในสหรัฐฯ ด้วย
ไบท์แดนซ์ยังเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ตัดต่อวิดีโอ CapCut รวมทั้งซอฟต์แวร์อีกหลายโปรแกรม ที่มีการใช้งานกันเฉพาะแค่ในจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงแอปพลิเคชัน “ตู้ยิ้น” (Douyin) ซึ่งเป็นเสมือนติ๊กตอกในเวอร์ชันของจีนนั่นเอง
นายโชว ซื่อ ชิว นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของติ๊กตอกในปัจจุบัน แต่นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่า นายจาง ยี่หมิง ผู้ก่อตั้งไบท์แดนซ์ ยังคงมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของติ๊กตอก
ติ๊กตอกทำงานอย่างไร
หัวใจสำคัญของติ๊กตอกคืออัลกอริทึม ซึ่งเป็นชุดคำสั่งในแอปพลิเคชันที่กำหนดว่าจะแสดงเนื้อหาหรือคอนเทนต์แบบใดแก่ผู้ใช้งาน โดยตัดสินใจจากข้อมูลการเข้าชมและการมีส่วนร่วมกับคลิปวิดีโอที่นำเสนอไปก่อนหน้านั้น
ติ๊กตอกแบ่งการนำเสนอคลิปวิดีโอออกเป็น 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ช่องที่ผู้ใช้เลือกติดตาม (Following) ช่องที่เป็นเพื่อนกับผู้ใช้ (Friends) และช่องที่แอปพลิเคชันเลือกสรรให้สำหรับผู้ใช้งานโดยเฉพาะ (For You)
ช่องที่ผู้ใช้เลือกติดตามและช่องที่เป็นเพื่อนกัน จะนำเสนอเนื้อหาจากผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ผู้ใช้กดติดตาม และมีการตอบสนองโดยผู้ผลิตกดติดตามผู้ใช้งานคนดังกล่าวด้วย ส่วนช่อง For You นั้น แอปพลิเคชันจะคัดเลือกคลิปวิดีโอมาให้ผู้ใช้งานได้ชมโดยอัตโนมัติ
การบริหารจัดการโดยอัลกอริทึมเช่นนี้ ทำให้ติ๊กตอกกลายเป็นจุดหมายปลายทางหลักของบรรดาผู้ใช้งานที่หิวกระหายใคร่ได้รับชมเนื้อหาที่ต้องการ รวมทั้งเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของบรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ปรารถนาจะได้ผู้ชมหลักล้านคน โดยวิดีโอบนติ๊กตอกสามารถจะมียอดผู้ชมพุ่งทะยานขึ้นไปได้อย่างมหาศาล หากกลายเป็นไวรัลในสื่อสังคมออนไลน์
ทำไมติ๊กตอกตกเป็นประเด็นโต้เถียงกันในสหรัฐฯ
นักการเมืองและผู้ควบคุมการใช้งานสื่อออนไลน์ทั่วโลก ต่างแสดงความกังวลต่อเรื่องที่เจ้าของกิจการติ๊กตอกเป็นชาวจีน แม้ที่ผ่านมาจะเคยมีความพยายามในหลายวิถีทาง เพื่อชักจูงให้คนเหล่านี้เชื่อว่า ตัวแอปพลิเคชันมีความปลอดภัยเพียงพอมาแล้วก็ตาม
ติ๊กตอกนั้นรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน เหมือนกับแอปพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป แต่กลับถูกระแวงสงสัยและจับจ้องตรวจสอบมากกว่าคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นว่ามีการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานไปมากน้อยเพียงใด และใครมีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้บ้าง
นั่นหมายความว่า มีความหวั่นเกรงว่าข้อมูลของผู้ใช้งานติ๊กตอกจากทั่วโลก จะตกไปอยู่ในมือของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่ติ๊กตอกและไบท์แดนซ์ปฏิเสธอย่างแข็งขันมาโดยตลอดว่าไม่อาจจะเป็นไปได้
เมื่อช่วงปลายปี 2022 ผู้สื่อข่าวหญิงชาวอังกฤษคนหนึ่งพบว่า เธอถูกติดตามสืบข้อมูลส่วนตัว ผ่านช่องทางในบัญชีติ๊กตอกที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแมวของเธอ
ต่อมาในปี 2023 สถาบันในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น รัฐบาลและรัฐสภาของสหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป, รวมทั้งทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่างสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ของตนใช้งานแอปพลิเคชันติ๊กตอกกับโทรศัพท์เครื่องที่ใช้ปฏิบัติงาน
เรื่องนี้ทำให้ติ๊กตอกต้องพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า โดยแสดงการแยกตัวออกห่างจากเจ้าของชาวจีนให้คนเหล่านี้ได้เห็น รวมทั้งดำเนินโครงการความริเริ่มอย่าง Project Clover ซึ่งจะเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานชาวยุโรปเอาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ภายในภูมิภาคของตน
กฎหมายติ๊กตอกคืออะไร จะใช้สั่งแบนติ๊กตอกได้หรือไม่
นักการเมืองสหรัฐฯ จากทั้งสองพรรคการเมืองหลัก ร่วมกันเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวในเดือน มี.ค. 2024 เพื่อจัดการกับบริษัทที่ถูกบงการโดย “ศัตรูต่างชาติ”
หากมีการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้จริง บริษัทไบท์แดนซ์จะต้องขายกิจการของติ๊กตอกในสหรัฐฯ ภายใน 6 เดือน มิฉะนั้นจะถูกแบนโดยระงับการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันในสหรัฐฯ และจะไม่สามารถใช้บริการฝากเว็บไซต์หรือเว็บโฮสติ้งได้
ประธานาธิบดี โจ ไบเด็น ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันบอกว่า จะลงนามรับรองร่างกฎหมายนี้ ในทันทีที่มีการผ่านร่างดังกล่าวจากสภาคองเกรสและส่งมาให้เขาพิจารณาในขั้นสุดท้าย
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามจะจำกัดการเข้าถึงติ๊กตอก เนื่องด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง โดยในปี 2020 อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เคยพยายามสั่งแบนติ๊กตอกมาแล้วขณะที่ยังดำรงตำแหน่งผู้นำอยู่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้นายทรัมป์ซึ่งหวังจะเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในปีนี้ ได้กลับลำมาวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านร่างกฎหมายที่อาจสั่งแบนติ๊กตอก โดยอ้างว่าการกระทำนี้เอื้อผลประโยชน์ให้แก่บริษัทคู่แข่งอย่างเฟซบุ๊กโดยไม่เป็นธรรม
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 14 มี.ค.67
Link :https://www.bbc.com/thai/articles/c84jelkn4x9o