ปัจจุบันสถานการณ์คนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิง หรือเหตุความรุนแรงอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีแนวโน้มที่จะเกิดเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังเหตุการณ์ที่ผ่านมา เช่น เหตุสังหารหมู่ตำบลลำพะยา จังหวัดยะลา เหตุกราดยิงเทอร์มินอล 21 จังหวัดนครราชสีมา เหตุสังหารหมู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู เหตุตำรวจใช้อาวุธยิงกราดภายในบ้าน ย่านสายไหม และเหตุกราดยิงในจ.เพชรบุรี รวมไปถึงเหตุการณ์ล่าสุด เหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน ในปี พ.ศ. 2566
แพทย์หญิงเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องมีการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้สามารถเผชิญเหตุในสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้บาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเหมาะสม รวมไปถึงสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ให้มีความเข้าใจในขอบเขตอำนาจหน้าที่ และรับทราบขั้นตอนในการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้การสนับสนุนการปฏิบัติการเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะนำไปสู่ความปลอดภัย ลดอัตราการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ซึ่งในวันนี้ กรุงเทพมหานครมีการจำลองเหตุการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ในฐานะเมืองหลวงขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลาย ซึ่งการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของเมืองขนาดใหญ่นั้น ย่อมมาพร้อมกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย อาทิ ปัญหาอาชญากรรม ภัยการก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ รวมถึงโรคระบาด ซึ่งสร้างความเสียหาย และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร จึงมีนโยบายให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรองรับเหตุสาธารณภัยมาโดยตลอด การฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับสาธารณภัยภายใต้โครงการฯ
โดยในปี พ.ศ. 2567 นี้ จะเป็นการฝึกซ้อมโดยกำหนดสถานการณ์และบทบาทในหัวข้อ “คนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิง” โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น เขตบางคอแหลม ซึ่งเป็นการทบทวนฝึกซ้อมแผนฯ และเรียนรู้การเผชิญเหตุสาธารณภัยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต และนำไปสู่การวางแผนพัฒนา กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม
โดยนำระบบบัญชาการเหตุการณ์ Incident Command System (ICS) มาใช้ เพื่อช่วยให้การเผชิญเหตุการณ์ไม่เกิดความสับสน การปฏิบัติการและการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเป็นไปอย่างมีขั้นตอนและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการประเมินศักยภาพและความพร้อมในการร่วมปฏิบัติการในเหตุสาธารณภัยดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การวางแผนการพัฒนาศักยภาพและความพร้อมในการรับมือกับสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ การซ้อมแผนปฏิบัติการทางการแพทย์ฯ ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กรมเจ้าท่า โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น โรงพยาบาลในเครือข่ายระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย (อรินทราช 26) สถานีตำรวจนครบาล วัดพระยาไกร มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และมูลนิธิร่วมกตัญญู
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : จส.100 / วันที่เผยแพร่ 8 มี.ค.67
Link : https://www.js100.com/en/site/news/view/138169