สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ว่า ฟิลิปปินส์มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย จากเหตุดินถล่มและน้ำท่วมบนเกาะมินดาเนา ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และร่องความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดฝนตกหนัก
แม้งานศึกษาของกลุ่มเครือข่าย ความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอ) พบว่า ฝนที่ตกหนักอย่างผิดปกติ ทางตะวันออกของเกาะมินดาเนา “ไม่ได้รุนแรงเป็นพิเศษ” แต่มันกลายเป็น “มหันตภัย” เพราะผู้คนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม และความบกพร่องในการแจ้งเตือนด้านสภาพอากาศ
“เราไม่สามารถโทษฝน สำหรับผลกระทบร้ายแรงเพียงอย่างเดียวได้ เนื่องจากปัจจัยหลายประการซึ่งเกิดจากมนุษย์ คือสิ่งที่ทำให้ฝนตกหนักเช่นนี้ กลายเป็นหายนะร้ายแรง” นายริชาร์ด อีบาเนซ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ จากสถาบันความยืดหยุ่นของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าว
อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์หลายคนพบว่า อัตราความยากจนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ในภูมิภาคภูเขาของฟิลิปปินส์ ทำให้ผู้คนเสี่ยงต่อผลกระทบจากฝนตกหนัก ขณะที่ “การตัดไม้ทำลายป่าอย่างเข้มข้น” ส่งผลให้ความเสี่ยงของการเกิดดินถล่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า นโยบาย, กฎหมาย และเงินทุนในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ชะงักงันอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับการตอบสนองหลังภัยพิบัติแทน อีกทั้งประเทศยังมีข้อบกพร่องด้านการพยากรณ์อากาศ และการแจ้งเตือนด้านสภาพอากาศ ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับความเสี่ยงในท้องถิ่นที่จำกัด และขาดคำแนะนำสำหรับการอพยพ
“มันมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการปรับปรุงทั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า และการประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติที่คล้ายคลึงกันในอนาคต” อีบาเนซ กล่าวทิ้งท้าย
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 3 มี.ค.67
Link : https://www.dailynews.co.th/news/3226745/