หน.คณะพูดคุยสันติสุข จบภารกิจสองคืนสามวัน จชต. หารือฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ฝ่ายปกครองและผู้นำศาสนา แจงแผนการพูดคุยสันติสุขเป็นนโยบายรัฐบาล ภายใต้กรอบรธน. คาดหวัง BRN ร่วมสร้างบรรยากาศสันติสุข ลดการก่อเหตุร้ายในช่วงเดือนถือศีลอด หลังประสานมาเลเซียช่วยขับเคลื่อน
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 67 นายฉัตรชัย บางชวด หน.คณะพูดคุยสันติสุขและรองเลขา สมช.กล่าวถึงภารกิจใน จชต.ระหว่างวันที่ 17-19 มี.ค. พบปะหารือทั้งผู้รับผิดชอบด้านงานการข่าวของกอ.รมน.ภาค 4 สน. -กกล.ตร.จชต. ฝ่ายปกครองและผู้นำศาสนาใน จว.ยะลาและนราธิวาส รับฟังข้อสังเกตข้อกังวลตอบคำถามชี้แจงข้อสงสัยจากทุกฝ่ายในเรื่องของการพูดคุยฯ ต่อแผนความเข้าใจร่วมสร้างสันติสุข หรือ JCPP (Joint Comprehensive Plan Towards Peace) ผ่านความเห็นชอบทั้งจากจากนายกรัฐมนตรีและฝ่ายความมั่นคง พูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ BRN ยอมรับเป็นเงื่อนไขก่อนเข้าร่วมพูดคุยสันติสุข
“แผนการพูดคุยฯ (JCPP) เริ่มทำตั้งแต่ยุคของ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มในยุคผม กระบวนการทำกันมาอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลที่แล้วเรื่อยมา ได้นำเรียนรัฐบาลมาโดยตลอด ทั้งในเชิงหลักการ สาระสำคัญต่าง ๆ ได้เรียนให้รัฐบาลรับทราบเห็นชอบในการดำเนินการต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ถึงปัจจุบัน ได้นำเสนอท่าน (นายกฯ) เห็นชอบในหลักการ” หน.ฉัตรชัยกล่าวระหว่างลง พท.จชต. ถึงข้อสงสัยที่มีก่อนหน้านี้ต่อแผน JCPP ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล
หน.คณะพูดคุยสันติสุข กล่าวถึงการพูดคุยฯ ว่า เป็นไปตามรธน. ถ้านอกเหนือ รธน.เราไม่คุย เราชัดเจน ถ้ามีการเสนอนอก รธน.มาเรารับฟัง แต่กรอบเราชัด คุยภายใต้ รธน. ตรงนี้เองทาง BRN ก็ทราบดี เห็นชอบตามหลักการทั่วไปแล้ว น่าจะเข้าใจตรงกันในส่วนนี้
ระหว่างเข้าพบ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ รองทมทภ.4 ซึ่งรับผิดชอบงานด้านการข่าวของกองทัพ นายฉัตรชัย เปิดเผยถึงการหารือในเรื่องการลดสถานการณ์ความรุนแรงในจชต.จากการบังคับใช้กฎหมายของ จนท.แลกเปลี่ยนกับการยุติการก่อเหตุร้ายจาก BRN ที่เป็นสาระสำคัญใน JCPP ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันขับเคลื่อนหลังได้ข้อยุติและลงนามในแผน JCPP ร่วมกัน
“ทางกองทัพตระหนักในส่วนนี้ เราได้อธิบายถึงกระบวนการขั้นตอน ในการลดความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเราเรียกว่าการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งต้องทำคู่ขนานกันทำด้วยกัน ถ้าเราลดการใช้มาตรการทางกฎหมายในบางส่วนแล้ว ทาง BRN ก็ต้องหยุดการก่อเหตุต่าง ๆด้วย เป็นลักษณะต่างฝ่ายต่างตอบแทนเพื่อสร้างบรรยากาศในพื้นที่”
หลังพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคง หน.คณะพูดคุยฯ ได้หารือกับทางกองกำลัง ตร.จชต.ในเรื่องการใช้มาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แก้ปัญหาขัดแย้ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายความมั่นคง หากการพูดคุยฯ คืบหน้าถึงขั้นยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ จะใช้ช่องทางทางกฎหมายร่วมแก้ปัญหา คล้ายคำสั่ง สน.นายกฯ 66/23 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ช่วยเหลือ นศ.ที่จับอาวุธสู้รัฐบาลหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติไม่ถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย
“มาตรา 21 เป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหา ยังมีข้อจำกัดในหลายเรื่อง ไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ถูกกล่าวหา เป็นผู้ที่ยังไม่ถูกอัยการสั่งฟ้องเป็นหลักที่จะเข้าข่ายเงื่อนไขนี้ ซึ่งยังมีไม่มาก ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องดูให้ครอบคลุม อาจไม่สามารถใช้ม.21 ได้ แต่จะมีเครื่องมือที่คล้ายๆ กันมาดูแล เช่นกลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มที่อาจเรียกว่ากลุ่มหน้าขาวทั้งหลายที่เป็นคนใหม่ๆ เราจะทำอย่างไร คนเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ยังไม่เข้าสู่ขบวนการ เราก็เตรียมคิดให้ครอบคลุม แม้กระทั่งผู้ที่พ้นโทษไปแล้ว ยังมีความกังวลอยู่ เราจะช่วยดูให้ครอบคลุม ในหลักการคือคล้ายๆ กับม.21 ทำยังไงให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน ด้วยความมั่นใจ ไม่เกิดความหวาดระแวง”
สาระสำคัญของมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงใช้ในพื้นที่ที่ไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกรณีการเข้ามอบตัววางอาวุธของ BRN โดยจะไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายมีเงื่อนไขต้องเข้ารับการอบรมจาก จนท.ในกรอบเวลาที่กำหนดไว้และต้องให้ความช่วยเหลือ จนท.ในการแก้ไขปัญหาขัดแย้ง นอกจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงยังมี ม.21 ในพ.ร.บ.อัยการฯ ที่สามารถนำมาใช้พิจารณาประกอบแก้ปัญหาความมั่นคงใน จชต.โดยใช้ช่องทางกฎหมาย
นายฉัตรชัย กล่าวถึงสถานการณ์การพูดคุยฯ แม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อยุติร่วมกันในเรื่องรายละเอียดทางเทคนิค ในแผน JCPP แต่ได้มีการสื่อสารกับ พล.อ. Tansri Zainal Abidin ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ถึงแผนงานกองทัพภาคสี่ในช่วงถือศีลอด เดินหน้าสร้างบรรยากาศสันติสุขใน จชต. ลดความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย คาดหวัง BRN จะร่วมสร้างบรรยากาศสันติสุขในช่วงเดือนรอมฎอน ของการถือศีลอด
“ได้สื่อสารไปถึงผอคส.มาเลเซีย ให้แต่ละฝ่ายพิจารณาในเรื่องการสร้างบรรยากาศร่วมกันลดเหตุความรุนแรงช่วงถือศีลอด”
นอกจากหารือฝ่ายความมั่นคง คณะพูดคุยฯ ยังได้รับฟังความเห็นข้อเสนอแนะจากฝ่ายปกครองผ่านผวจ.ยะลาและนราธิวาส และเข้าพบประธานคกก.อิสลามจว.ยะลาและนราธิวาส ซึ่งทั้งหมดจะมีบทบาทสำคัญในช่วงที่สองสนับสนุนการขับเคลื่อนสันติสุข ในเรื่องของการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) และการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ หาทางออกทางการเมืองจากความขัดแย้ง ที่คาดว่าจะเดินหน้าได้ในช่วงกลางปี2567
ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2567 จะมีการหารือครั้งที่สามของหน.ฝ่ายเทคนิคทั้งสองฝ่าย หาขอยุติร่วมกันในส่วนที่ยังเห็นแตกต่างในรายละเอียดของ JCPP ที่มีสามสาระสำคัญในเรื่องลดความรุนแรง หารือสาธารณะ และการหาทางออกทางการเมืองจากความขัดแย้ง หากการหารือในรอบที่สามทั้งสองฝ่ายสามารถได้ข้อยุติในรายละเอียดของ JCPP จะมีการลงนามในแผนร่วมกันก่อนเดินหน้ากระบวนการสร้างสันติสุข จชต.
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 20 มี.ค.67
Link : https://www.thairath.co.th/news/local/south/2772040