ศาลฮ่องกงตัดสินลงโทษจำคุกผู้ประท้วง 12 คน จากการที่บุกเข้าไปในอาคารสภานิติบัญญัติในระหว่างการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2562
ศาลฮ่องกงพิพากษาจำคุกผู้ประท้วง 12 คน ตั้งแต่ 4-7 ปี ในเหตุการบุกโจมตีอาคารสภานิติบัญญัติระหว่างการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2562 หลังผู้ประท้วงบุกเข้าไปในอาคารสภานิติบัญญัติของฮ่องกง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 โดยทุบหน้าต่างและบุกเข้าไปด้านใน ในขณะที่ประชาชนแสดงความไม่พอใจจากร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถส่งตัวผู้กระทำความผิดไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อดำเนินคดี
ผู้ที่ถูกพิพากษาโดยผู้พิพากษาศาลแขวง หลี่ ชีโฮ ยังรวมถึง นายเกรกอรี หว่อง นักแสดงวัย 45 ปี ซึ่งถูกจำคุกเป็นเวลา 6 ปี 2 เดือน หลังจากปฏิเสธข้อกล่าวหา ขณะที่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เวนตุส เลา และโอเวน โจว ซึ่งให้การรับสารภาพ ได้รับโทษจำคุก 54 เดือน และ 20 วัน และ 61 เดือน และ 15 วัน ตามลำดับ ส่วนอัลเธีย ซวน อดีตประธานสมาพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยฮ่องกง วัย 27 ปี ซึ่งให้การรับสารภาพ ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี 9 เดือน
ผู้พิพากษากล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการทำลายหลักนิติธรรมของฮ่องกงอย่างร้ายแรง โดยผู้ประท้วงได้บุกเข้าไปในอาคารโดยใช้เครื่องกีดขวาง ขว้างปาไข่ พ่นสีสโลแกนทางการเมืองบนผนัง และสาดหมึกลงบนตราสัญลักษณ์ของรัฐบาล
โอเวน โจว บอกกับศาลก่อนการพิพากษาลงโทษว่า การที่รัฐบาลปฏิเสธที่จะถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน หลังจากมีประชาชนหนึ่งล้านคนออกมาเดินขบวนต่อต้าน เป็นสาเหตุโดยตรงของเหตุการณ์ดังกล่าว “ไม่ว่าศาลจะลงโทษผมอย่างไร ผมก็จะยังคงเดินหน้าต่อไป และเปลี่ยนความกลัวของผมให้เป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับวันที่ผมเดินเข้าไปในห้องขัง”
โจว กล่าวว่า การกระทำของพวกเขามีสาเหตุมาจากความต้องการยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ถูกคุกคามจากทางการ และกล่าวว่า “มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้นำขบวนการสิทธิมนุษยชนที่สนับสนุนการชุมนุมโดยสงบและมีเหตุผล เคยกล่าวไว้ว่า การจลาจลคือภาษาของผู้ที่ถูกเพิกเฉย”
หว่อง กาโฮ นักข่าวนักศึกษา หม่า ไคชุง และนักข่าวสื่อออนไลน์ ที่ได้รับการปล่อยตัวจากเหตุจลาจล แต่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานเข้า หรืออยู่ในบริเวณอาคารสภานิติบัญญัติ ถูกปรับเป็นเงิน 1,500 ดอลลาร์ฮ่องกง และ 1,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ตามลำดับ ทั้งนี้ข้อหาก่อการจลาจลมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี ในศาลแขวงฮ่องกง
ทั้งนี้มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 10,200 คน ที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงในปี 2562 โดยในจำนวนนี้ 2,937 คนถูกตั้งข้อหาความผิด รวมทั้งการจลาจล การชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และความเสียหายทางอาญา ในจำนวนนี้มีผู้ถูกตั้งข้อหาก่อจลาจลมากกว่า 870 ราย ตามข้อมูลของ “เดอะ วิตเนส” ซึ่งเป็นสำนักข่าวออนไลน์ที่เชี่ยวชาญด้านข่าวกฎหมาย
ที่มา Reuters
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 17 มี.ค.67
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2771118