ท่าอากาศยานนราธิวาส จัดการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินและแผนเผชิญเหตุท่าอากาศยานเต็มรูปแบบ (Full-Scale Exercise) ประจำปีงบประมาณ 2567 (NARA-EMEX 2024) กรณีอากาศยานไถลออกนอกทางวิ่ง และกรณีเหตุระเบิด “Car bomb”
กรมท่าอากาศยาน (ทย.) รายงานว่า ท่าอากาศยานนราธิวาส โดยนางสาวสุรีรัตน์ ทิพย์โยธา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนราธิวาส พร้อมเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจังหวัดนราธิวาส ร่วมฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินและแผนเผชิญเหตุเต็มรูปแบบ (Full-Scale Exercise) ประจำปีงบประมาณ 2567 ( NARA-EMEX 2024 ) กรณีอากาศยานไถลออกนอกทางวิ่ง และกรณีเหตุระเบิด “Car bomb” โดยมีว่าที่ร้อยตรีตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธาน และร่วมฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุเป็นผู้บัญชาการ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (Emergency Operation Center (EOC)) และมีผู้แทนจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์ประเมินการซ้อมแผนฯ ซึ่งการฝึกซ้อมดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2567 ณ ท่าอากาศยานนราธิวาส
สำหรับการฝึกซ้อมในครั้งนี้ ได้จำลองสถานการณ์กรณีอากาศยานไถลออกนอกทางวิ่ง และกรณีเหตุระเบิด “Car bomb” เพื่อนำมาตรการที่กำหนดไว้ในแผนฉุกเฉินและแผนเผชิญเหตุไปสู่การปฏิบัติจริง และทำการบรรยายสรุปภาพรวม ขั้นตอนการฝึกซ้อม โดยมีการบูรณาการฝึกซ้อมร่วมกับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดนราธิวาสเข้าร่วมการทำงานร่วมกัน เช่น หน่วยสนับสนุนด้านการดับเพลิง หน่วยกู้ชีพกู้ภัย หน่วยทางการแพทย์ หน่วยทางด้านพิสูจน์หลักฐาน หน่วยทหารและตำรวจ และหน่วยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายในพื้นที่
โดยการฝึกซ้อมเป็นไปตามแผน เจ้าหน้าที่สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 37 ที่กำหนดให้สนามบินต้องดำเนินการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินของสนามบินเต็มรูปแบบ ทุก 2 ปี และสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหากเกิดเหตุการณ์จริง และสามารถนำแผนฉุกเฉินท่าอากาศยานไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยานมีแผนที่จะทำการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินและแผนเผชิญเหตุแบบเต็มรูปแบบ (Full-Scale Exercise) ในท่าอากาศยานในสังกัด จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ท่าอากาศยานนครราชสีมา ท่าอากาศยานน่านนคร ท่าอากาศยานเลย ท่าอากาศยานนครพนม ท่าอากาศยานระนอง ท่าอากาศยานแม่สอด และท่าอากาศยานพิษณุโลก ผ่านการจำลองสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละท่าอากาศยาน ตลอดจนท่าอากาศยานในสังกัดได้มีการฝึกซ้อมย่อย
สำหรับแผนฉุกเฉินและแผนเผชิญเหตุภายในท่าอากาศยาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ได้ทบทวนความรู้ ทักษะการทำงาน สามารถเตรียมพร้อมรองรับหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมท่าอากาศยานมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการ ภายใต้มาตรฐานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สายการบิน ส่วนราชการ ผู้โดยสาร และผู้ใช้บริการ โดยยึดหลักในการดูแลรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของทุกท่านเป็นสิ่งสำคัญ
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 4 มี.ค.67
Link : https://mgronline.com/business/detail/9670000019670