สหรัฐ-อังกฤษ-นิวซีแลนด์อ้าง จีนอยู่เบื้องหลังจารกรรมไซเบอร์ครั้งใหญ่ กระทบนับล้านคน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ของสหรัฐและอังกฤษได้กล่าวหาทางการจีน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ว่าได้ทำการจารกรรมทางไซเบอร์ที่กระทบต่อประชาชนนับหลายล้านคน รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติ นักวิชาการ นักข่าว และบริษัทต่างๆ รวมถึงบริษัทได้รับสัมปทานในการป้องกันประเทศ เช่นเดียวกับนิวซีแลนด์ที่กล่าวหารัฐบาลจีนมีความเกี่ยวข้องกับการแฮ็กข้อมูลทางไซเบอร์ต่อรัฐสภานิวซีแลนด์ในปี 2021
ทางการสหรัฐและอังกฤษได้เรียกกลุ่มแฮ็กเกอร์ดังกล่าวที่ทั้งสองประเทศอ้างว่าเป็นหนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน ว่า Advanced Persistent Threat 31 หรือ APT31 โดยพุ่งเป้าโจมตี เจ้าหน้าที่ของทำเนียบขาวสหรัฐ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ สมาชิกสภาของอังกฤษ ฝ่ายค้านรัฐบาลจีนและเจ้าหน้าที่รัฐบาลทั่วโลกที่วิจารณ์จีน รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ 5G ชั้นนำและเทคโนโลยีไร้สาย บริษัทด้านเหล็ก พลังงาน และเสื้อผ้าของสหรัฐอีกด้วย
ลิซา โมนาโก รองอัยการสูงสุดสหรัฐ กล่าวในแถลงการณ์ว่า ปฏิบัติการแฮ็กข้อมูลทั่วโลกของจีนมีจุดประสงค์เพื่อปราบปรามบรรดาผู้วิจารณ์รัฐบาลจีน และเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันต่าง ๆ ของรัฐและจารกรรมความลับทางการค้า
ในเอกสารคำฟ้องที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ต่อแฮ็กเกอร์ชาวจีน 7 คน บอกว่าการแฮ็กข้อมูลของพวกเขาส่งผล หรืออาจส่งผลให้เกิดภัยคุกคามต่อบัญชีทำงาน อีเมล์ส่วนตัว คลังเก็บข้อมูลออนไลน์ และบันทึกการโทรของชาวอเมริกันหลายล้านคน สหรัฐและอังกฤษได้ประกาศคว่ำบาตรชาวจีน 2 คนและบริษัทจีน 1 แห่ง ได้แก่ Wuhan Xiaoruizhi Science and Technology ซึ่งนายโอลิเวอร์ ดาวเดน รองนายกรัฐมนตรีอังกฤษบอกว่า พวกเขาอยู่เบื้องหลังความพยายามที่จะเข้าถึงข้อมูลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษที่วิจารณ์จีนและอาจเข้าถึงข้อมูลของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอังกฤษมากถึง 40 ล้านคน
ด้านรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ว่าสำนักงานความมั่นคงทางการสื่อสาร (GCSB) ที่ดูแลเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ ได้พบความเชื่อมโยงระหว่างการดำเนินงานทางไซเบอร์ที่พุ่งเป้าไปยังหน่วยงานที่ให้บริการกับสมาชิกรัฐสภาและสำนักงานที่ปรึกษารัฐสภาของนิวซีแลนด์ในปี 2021 กับกลุ่มแฮ็กเกอร์ที่ชื่อ Advanced Persistent Threat 40 หรือ APT40 ที่ได้รับการหนุนหลังจากทางการจีน
นิวซีแลนด์บอกอีกว่า APT40 ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน ได้เข้าถึงข้อมูลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนและข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ไม่ได้ถูกลบออกไปแต่อย่างใด แต่ทาง GCSB เชื่อว่ากลุ่มแฮ็กเกอร์ได้ลบข้อมูลที่มีความซับซ้อนทางเทคนิคมากขึ้น ซึ่งอาจเปิดทางให้แฮ็กเกอร์เข้ามาดำเนินกิจกรรมที่ถือเป็นการล่วงล้ำ
อย่างไรก็ดี นักการทูตของจีนทั้งในสหรัฐและอังกฤษ รวมถึงโฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศนิวซีแลนด์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าแล้ว
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 มี.ค.67
Link : https://www.matichon.co.th/foreign/news_4493040