เมื่อต้นเดือนมีนาคม Lairam Times สื่อท้องถิ่นในรัฐมิโซรัม (Mizoram) ของอินเดีย เปิดเผยข้อมูลและภาพการหารือระหว่าง เค. วันลาลเวนา (K. Vanlalvena) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย กับตัวแทนจากกองทัพอาระกัน หรือ AA หนึ่งในสมาชิกกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ
วาระของรัฐบาลอินเดียชัดเจน คือต้องการเข้าไปเจรจาเรื่องการสร้างถนน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่เมืองกะลาดัน (Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project) อินเดียเป็นผู้อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อสร้างเส้นทางขนส่งเพื่อเชื่อมพื้นที่ในอินเดียทางตะวันออกเฉียงเหนือที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล กับท่าเรือที่เมืองซิตตเว (Sittwe) เมืองเอกของรัฐยะไข่
เป็นที่น่าสังเกตว่าการหารือของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นที่เมืองปาเลทวา (Paletwa) ในรัฐฉิ่นทางตอนใต้ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกองทัพอาระกัน (มีฐานปฏิบัติการทั้งในรัฐอาระกันและฉิ่นตอนใต้) เมืองปาเลทวานี้ก็มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำกะลาดัน และอยู่ใกล้กับชายแดนอินเดียมาก กองทัพอาระกันเข้าควบคุมเมืองปาเลทวาได้อย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นปี
โครงการกะลาดันของรัฐบาลอินเดียเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2018 ในยุครัฐบาล NLD แต่ก็ต้องหยุดไปเมื่อเกิดวิกฤตการระบาดของโควิด-19 และนับตั้งแต่รัฐประหาร ก็ยังไม่มีทีท่าว่าโครงการนี้จะถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ จนเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ต้องหยุดอีกครั้ง ด้วยการสู้รบระหว่างกองทัพอาระกันกับกองทัพพม่า
อินเดียเห็นความสำคัญของแม่น้ำกะลาดันเป็นพิเศษ เพราะเป็นแม่น้ำเส้นสำคัญที่หล่อเลี้ยงพม่าทางตะวันตกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมมิโซรัมเข้ากับท่าเรือน้ำลึกที่ซิตตเว มูลค่า 120 ล้านเหรียญ ประกอบไปด้วยท่าเรือ 1 แห่งที่ปาเลทวาและสะพานข้ามแม่น้ำกะลาดันที่มิโซรัมฝั่งอินเดีย
อินเดียว่าจ้างบริษัทก่อสร้างพม่า 4 แห่งเพื่อดำเนินการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด แต่เมื่ออินเดียยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับ SAC เพื่อเดินหน้าโครงการนี้ต่อได้ ก็ทำให้โครงการกะลาดันทั้งหมดในฝั่งพม่าหยุดชะงัก เมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน สุพรหมณยัม ชัยศังกระ (Subrahmanyam Jaishankar) เข้าพบตาน ส่วย (Than Swe) เบอร์ 2 ของ SAC เพื่อหาทางสานต่อโครงการทั้งหมดนี้ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่า SAC จะยินยอมให้อินเดียกลับเข้าไปก่อสร้างในพื้นที่ต่อ เนื่องจากเป็นพื้นที่การสู้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อ SAC ไม่สามารถให้ไฟเขียวรัฐบาลอินเดียเพื่อสานต่อโครงการกะลาดันต่อ อินเดียก็จำเป็นต้องเข้าหากองกำลังที่มีพื้นที่อยู่ในเขตของโครงการ ด้วยกองทัพอาระกันก็เข้มแข็งขึ้นตามลำดับ อีกทั้งเป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ที่เพิ่งตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไปในรัฐฉานเหนือ และด้วยกลุ่มพันธมิตรกองกำลังทั้งสามมีจีนสนับสนุนทั้งด้านอาวุธและอื่นๆ ยิ่งทำให้กองกำลังกลุ่มนี้มีบารมี และเป็นที่ยอมรับมากขึ้นจากองคาพยพทั้งภายในและนอกพม่า
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าโครงการของอินเดียพาดผ่านพื้นที่ในรัฐอาระกันรวมทั้งปาเลทวา ที่แม้จะอยู่ในรัฐฉิ่น แต่ก็เป็นฐานที่มั่นของกองทัพอาระกัน อย่างไรก็ดี พื้นที่รัฐฉิ่นไม่ได้มีเพียงกองทัพอาระกันควบคุม แต่ยังมีกองกำลังอีกหลายกลุ่ม หากรัฐบาลอินเดียต้องการทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จจริงก็ต้องเปิดฉากการเจรจากลับกองกำลังอื่นๆ ในรัฐฉิ่น แต่ก็เป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะโครงการทั้งหมดย่อมมีผลกระทบกับวิถีชีวิตของผู้คน ดังนั้นอินเดียจึงไม่สามารถพูดคุยแต่กับกองทัพอาระกันได้
รัฐฉิ่นตอนเหนือมีเมืองยุทธศาสตร์อีกเมือง ชื่อว่าเมืองริคกอดา (Rihkhawdar) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กองทัพแห่งชาติฉิ่น (Chin National Army) ปกครองอยู่ และยังเป็นเมืองการค้าระหว่างรัฐฉิ่นกับมิโซรัม แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการกะลาดัน กองกำลังฝ่ายฉิ่นเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าตนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอินเดียและมีการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการมาแล้วหลายครั้ง
สิ่งที่น่าจับตามองจากความเคลื่อนไหวในปาเลทวาในเวลานี้อาจไม่ใช่เรื่องโครงการสร้างถนนหรือท่าเรือ แต่เป็นท่าทีของรัฐบาลอินเดีย ที่เปิดเผยให้โลกรับทราบความเคลื่อนไหวว่าเริ่มการเจรจากับกองทัพอาระกันอย่างเป็นทางการ ไม่ได้เปิดช่องทางเพื่อติดต่อรัฐบาล SAC ไว้เพียงหน้าเดียว และเลือกเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นประโยชน์กับอินเดียแบบลับ ๆ หรือไม่เป็นทางการมาตลอด
ในกรณีของไทย การที่ไทยไม่มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพม่า เหมือนกับที่จีนและอินเดียมี ก็ทำให้ช่องทางการติดต่อสัมพันธ์กับกองกำลังที่มีความสำคัญตามแนวชายแดนไทย-พม่ายังเป็นไปแบบเดิมๆ ไทยไม่ได้มีแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการว่าต้องการเข้าไปสนับสนุนกองกำลังกลุ่มใดให้ต่อสู้กับ SAC แม้ไทยจะมีผลประโยชน์บางอย่างในพื้นที่ที่มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ปกครองอยู่บ้าง แต่แนวทางของไทยยังคงเป็นการติดต่อ SAC เป็นหลัก เพราะยังถือว่าเป็นตัวแทนของ “รัฐ” ในพม่าโดยสมบูรณ์
ผู้เขียนอยากจะเน้นย้ำอีกสักครั้ง หลังจากที่ได้พูดมาหลายเวทีแล้ว ว่าไทยจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริง และอาจยึดโมเดลของอินเดียเป็นแนวทาง เพื่อเริ่มเจรจากับกลุ่มการเมืองหรือกองกำลังฝั่งชาติพันธุ์ โดยอาจจะเริ่มจากประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่มาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ร่วมกัน แล้วจึงขยายไปที่ประเด็นการเมืองต่อไปในอนาคต หากไทยยังคงดูลาดเลา หรือที่เรียกว่า “รำมวย” อยู่ ไม่กล้าเปิดหน้าเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ในท่ามกลางสถานการณ์ที่เข้าด้ายเข้าเข็มเช่นนี้ ในอนาคต หากไทยหวังว่าจะใช้ประโยชน์จากกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะในแนวทางใด ก็จะเข้าถึงได้ยากขึ้นอย่างแน่นอน อนึ่ง การ “เข้าหา” ในกรณีนี้ ไม่ได้หมายถึงการพูดคุยอย่างเป็นทางการเพียงอย่างเดียว ในทางการทูตและการทหาร การทำงานในระดับปฏิบัติการอื่นๆ ก็มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ข้อมูลในฝ่ายความมั่นคงของไทยน่าจะเพียงพอให้ประเมินสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-พม่าได้รอบด้าน แต่ก็ขึ้นอยู่กับ “ผู้ใหญ่” ว่าจะเล็งเห็นความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์หลายๆ ด้านหรือไม่ และขึ้นอยู่กับการทำงานสอดประสานกันระหว่างหน่วยงานความมั่นคงของไทย รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศด้วย โจทย์นี้หากไม่เร่งเครื่องทำงานกันอย่างจริงจังในเร็ววันนี้ การจะมาคลายเงื่อนเมื่อสายไปแล้วก็จะยากขึ้นอย่างแน่นอน
บทความโดย ลลิตา หาญวงษ์
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 15 มี.ค.67
Link : https://www.matichon.co.th/columnists/news_4473523