สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ว่า แม้กฎหมายดังกล่าวผ่านการรับรองในเดือน ธ.ค. 2562 แต่การประกาศใช้ถูกเลื่อนออกไป หลังเกิดการประท้วงและความรุนแรงในวงกว้าง ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย
ทั้งนี้ กฎหมายความเป็นพลเมืองฉบับใหม่ มอบสัญชาติอินเดียให้แก่ชาวฮินดู, ชาวปาร์ซี, ชาวซิกข์, ชาวพุทธ, ชาวเชน และชาวคริสต์ ที่เข้ามาในประเทศ จากปากีสถาน, อัฟกานิสถาน และบังกลาเทศ ก่อนเดือน ธ.ค. 2557 ยกเว้นชาวมุสลิม
“กฎหมายเหล่านี้ ซึ่งเรียกว่า กฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมความเป็นพลเมืองอินเดีย (ซีเอเอ) ปี 2567 จะช่วยให้ผู้ที่มีสิทธิ สามารถขอสัญชาติอินเดียได้” กระทรวงมหาดไทยของอินเดีย ระบุในแถลงการณ์
อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในอินเดีย ต่างกลัวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นรากฐานของการลงทะเบียนพลเมืองระดับชาติ ซึ่งอาจทำให้พวกเขากลายเป็น “บุคคลไร้สัญชาติ” ในประเทศ อีกทั้งชาวอินเดียยากไร้จำนวนมาก ไม่มีเอกสารพิสูจน์สัญชาติของตนเองเช่นกัน
ด้านนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย ปฏิเสธเรื่องข้างต้น โดยกล่าวว่า ชาวมุสลิมไม่รวมอยู่ในกฎหมายนี้ เพราะพวกเขาไม่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองจากอินเดีย
“กฎหมายเหล่านี้จะช่วยให้ชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงด้วยเหตุผลทางศาสนา ในปากีสถาน, บังกลาเทศ และอัฟกานิสถาน ได้รับสัญชาติในประเทศของพวกเรา” นายอามิต ชาห์ รมว.มหาดไทยของอินเดีย กล่าว “โมดีได้ทำตามคำมั่นอีกประการหนึ่ง และตระหนักถึงคำสัญญาของผู้สร้างรัฐธรรมนูญของเรา ที่มีต่อชาวฮินดู, ชาวซิกข์, ชาวพุทธ, ชาวเชน, ชาวปาร์ซี และชาวคริสต์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านั้น”
แต่นอกเหนือจากความกังวลในกลุ่มชาวมุสลิมแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังจุดชนวนการประท้วงของประชาชน ซึ่งไม่พอใจกับการหลั่งไหลเข้าประเทศของชาวฮินดูที่มาจากบังกลาเทศ
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 12 มี.ค.67
Link : https://www.dailynews.co.th/news/3249973/