‘เฮติ’ ประเทศเล็ก ๆ แถบทะเลแคริบเบียน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสหรัฐอเมริกาไม่ถึง 700 ไมล์ (ราว 1,120 กิโลเมตร) กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่สงบทางการเมือง หลังจากแก๊งอาชญากรเดินหน้าใช้กำลังความรุนแรง พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำ เฮติ ก้าวลงจากตำแหน่งและจัดการเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง
เกิดอะไรขึ้นที่เฮติ
เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่ อาเรียล อองรี นายกรัฐมนตรีเฮติ เดินทางเยือนต่างประเทศเพื่อเดินเรื่องขอกำลังสนับสนุนจากสหประชาชาติให้มาช่วยรับมือกับแก๊งอาชญากรภายในเฮติ
กลุ่ม G9 แก๊งอาชญากรชื่อดังใช้โอกาสนี้ผนึกกำลังกับแก๊งอื่น ๆ บุกโจมตีเรือนจำและปิดล้อมสนามบินในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ พร้อมทั้งเรียกร้องให้อองรีลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเขาไม่ทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ ว่าจะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและเปิดทางให้เฮติมีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากที่ โจเวเนล โมอิส ผู้นำเฮติคนก่อนหน้าถูกลอบสังหารเมื่อปี 2021
ไมเคิล แพทริก บอยเวิร์ต รัฐมนตรีคลังเฮติ ซึ่งรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเฮติ ขณะที่อองรีเดินทางเยือนต่างประเทศ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมประกาศเคอร์ฟิวในช่วงกลางดึก เพื่อควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศ
สองวันต่อมา จิมมี ‘บาร์บีคิว’ เชริซิเยร์ หัวหน้าแก๊ง G9 ได้ประกาศเตือนว่า หากอองรีไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก๊งอาชญากรจะเดินหน้านำพาเฮติเข้าสู่ภาวะ ‘สงครามกลางเมือง’ ซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุได้
เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเตือนว่า สถานการณ์ในเฮติอาจรุนแรงเกินกว่าที่จะป้องกันได้ หลังยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบทางการเมืองในเฮติสูงกว่า 1,190 คนแล้ว นับตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นมา
ก่อนที่อองรีจะประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่เขายังไม่สามารถเดินทางกลับเข้าเฮติได้ โดยการลาออกจะมีผลหลังจากจัดตั้งสภาประธานาธิบดีในช่วงเปลี่ยนผ่านแล้วเสร็จและจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้น ซึ่งสภาแห่งนี้จะทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่และเริ่มต้นกระบวนการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนต่อไปด้วย
เฮติมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
การทุจริตของรัฐบาลเป็นรากฐานของความไม่มั่นคงที่ฝังรากลึกและกัดกินสังคมเฮติมาอย่างยาวนาน ทำให้ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่รุนแรงมานานถึง 20 ปี ประกอบกับเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2010 และ 2021 ยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนชาวเฮติยากลำบากมากยิ่งขึ้น โครงสร้างและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานพังเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะเหตุภัยพิบัติในปี 2010 ที่คร่าชีวิตผู้คนในเฮติไปมากสุดกว่า 2.5 แสนคน
ความโกลาหลเริ่มเห็นเด่นชัดขึ้น หลังจากที่ โจเวเนล โมอิส ประธานาธิบดีเฮติถูกลอบสังหารเมื่อราว 3 ปีก่อน หลังจากที่เขาประสบความล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ก่อนที่อองรีจะเข้ามารับช่วงต่อในตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเฮติ
เหตุโจมตีครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากที่อองรีให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป และเขาจะก้าวลงจากตำแหน่งด้วยความสมัครใจภายในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่เขากลับปฏิเสธและไม่ยอมทำตามคำมั่นที่เคยให้ไว้ ทำให้ชาวเฮติจำนวนมากไม่พอใจในตัวอองรี และจุดประกายกลายเป็นการลุกฮือของแก๊งอาชญากรกลุ่มต่าง ๆ ในเฮติ
หรือเฮติใกล้จะล่มสลายแล้ว
เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเผยว่า เฮติมีแก๊งอาชญากรประมาณ 200 แก๊ง โดย 23 แก๊งหลักเคลื่อนไหวอยู่ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของประเทศ โดยแก๊งอาชญากรเหล่านี้แผ่อิทธิพลและควบคุมพื้นที่ในเมืองหลวงได้เพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 80% ภายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา
หนึ่งในนั้นคือ แก๊ง G9 และพันธมิตร โดยมีบาร์บีคิวเป็นหัวหน้าคนสำคัญ ซึ่งเดิมทีเขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นยอด ก่อนที่จะตัดสินใจจับอาวุธต่อสู้กับทางการเฮติ เนื่องจากเขามองว่ารัฐบาลไม่สามารถนำพาประเทศแห่งนี้ออกจากวังวนของวิกฤตต่างๆ ได้
การลักลอบค้าอาวุธและการจับตัวประกันแลกค่าไถ่ ทำให้แก๊งอาชญากรเหล่านี้มีอิสระทางการเงินมากยิ่งขึ้น เพิ่มอำนาจและอิทธิพลให้กับคนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐอ่อนแอลง และกรมตำรวจเฮติก็ไม่ได้มีเงินทุนและทรัพยากรมากเพียงพอที่จะสามารถควบคุมแก๊งอาชญากรเหล่านี้ได้
รายงานล่าสุดโดย Global Initiative Against Transnational Crime ระบุว่า “แก๊งอาชญากรในปัจจุบันมีความสามารถทางทหารในระดับที่สูงกว่ากลุ่มแก๊งเหล่านี้เมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างมาก สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของความรุนแรงในเฮติไปอย่างสิ้นเชิง”
และด้วยสภาวะที่ดูเหมือนเฮติจะติดหล่มทางการเมือง เกิดการแย่งชิงอำนาจ ไม่มีผู้นำประเทศที่เป็นตัวแทนประชาชน ประกอบกับอำนาจรัฐอ่อนแอลง ขณะที่แก๊งอาชญากรเรืองอำนาจและแผ่ขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หรือเฮติกำลังจะใกล้ล่มสลาย? หากไม่ได้รับแรงสนับสนุนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
ภาพ: Giles Clarke / Getty Images
อ้างอิง:
https://www.nbcnews.com/news/world/haiti-crisis-what-know-president-violence-government-rcna143000
https://www.cbsnews.com/news/what-is-happening-in-haiti-what-to-know/
https://www.bbc.com/news/world-latin-america-68534619
บทความโดย ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : The Standard / วันที่เผยแพร่ 14 มี.ค.67
Link : https://thestandard.co/haiti-crisis-by-criminal/