คลิปที่แชร์กันมากเมื่อสองสัปดาห์ก่อน เป็นการอภิปรายเกี่ยวกับ AI ในรัฐสภาสิงคโปร์ ซึ่งเป็นช่วงที่ผมเขียนเรื่อง AI ลงในคอลัมน์นี้พอดี วันนี้เลยขอต่อเรื่องนี้ครับ
หลังจากที่ ChatGPT เข้ามาสั่นสะเทือนโลกเมื่อปลายปี 2565 แล้ว ไม่กี่เดือนต่อมา
ก็มีเวอร์ชันใหม่ ๆ ตามมา ซึ่งเป็น AI ที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างมาก
คลิปที่แชร์กัน มีความยาวเพียง 4 นาที เนื้อหาคือ ส.ส. สิงคโปร์คนหนึ่งได้อภิปรายว่า AI
รุ่นใหม่ ๆ ที่จะออกมาในอนาคตอันใกล้ จะทำให้สั่นสะท้านสังคมมนุษย์มากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่นคาดกันว่าภายในปีนี้ OpenAI ซึ่งเป็นเจ้าของ ChatGPT จะนำเสนอ “SORA” ที่มีความสามารถในการ เปลี่ยนภาษาเขียน คือ ตัวหนังสือธรรมดาๆ นี่แหละ ให้เป็นวิดีโอได้ด้วย แถมยังคาดหวังกันว่า คุณภาพของวิดีโอที่ได้ออกมานั้น จะอยู่ในระดับภาพยนต์ฮอลลีวู้ดเลยทีเดียว
ที่น่ากลัวอีกเรื่องหนึ่งก็คือเทคโนโลยี AI ที่เรียกว่า “Deepfake” ซึ่งแค่คำว่า Fake คำเดียวเราก็ผวาแล้วใช่ไหมครับ แต่นี่มันไม่ใช่เฟคธรรมดาเสียแล้ว มันจะเป็น
เฟคแบบ “ลึก” แล้วมันจะลึกแค่ไหนกันเชียว เพราะ ทุกวันนี้แค่เฟคธรรมดาๆ เราก็จะ ป.ส.ด. อยู่แล้ว ใช่ไหมครับ?
ผมไปค้นหาวิวัฒนาการของ Deepfake ก็พบว่าเป็นเทคโนโลยีที่เริ่มเมื่อปี 2017 และเฟคได้ลึกขนาดที่ว่า สามารถสร้างวิดีโอจาก “สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีอยู่จริงเลย” ให้เป็นวิดีโอ
ที่ดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง….แบบจริ๊งจริง!
เช่นสร้างวิดีโอ ผู้นำของอเมริกา รัสเซีย หรือ จีน ออกมาประกาศกร้าวว่าจะใช้ความรุนแรงในเรื่องนั้นเรื่องนี้ และสร้างได้อย่างสมจริงสมจัง ทั้งใบหน้า ท่าทาง และเสียงพูด ทั้งๆที่ผู้นำเหล่านั้นไม่ได้พูดเรื่องดังกล่าวเลย เป็นต้น
ถ้าชาวโลกได้ดู แล้วบางกลุ่มเกิดหลงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ก็อาจจะนำไปสู่การปลุกระดมต่างๆ จนผู้คนเข้าห้ำหั่นกันก็เป็นได้ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ คนร้ายอาจนำภาพของสุภาพสตรี
คนใดคนหนึ่ง ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ลามก จนเหมือนจริงทุกอย่างก็ได้เช่นกัน และทำกันมาแล้วด้วย
ถ้าอย่างนั้น มนุษย์จะเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร ประเด็นนี้ ส.ส. สิงคโปร์ได้กล่าวว่า
เราไม่มีทางหลีกหนีเทคโลยีได้อยู่แล้ว เพราะมันจะพัฒนาต่อไปอย่างรวดเร็ว เราจึงทำได้เพียงการสร้างสังคมที่แข็งแกร่ง และสังคมที่มี “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” (Sense of Togetherness) เท่านั้น เพื่อเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างดีที่สุด
แน่นอนว่า “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” เป็นเรื่องที่ดี และทำให้สังคมเข้มแข็ง มีภูมิต้านทานภัยต่างๆ ได้ และก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า สังคมไทยเรานั้นมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน มากเพียงใด
ถ้าหากวัดกันแบบง่ายๆ ด้วยดูข่าวพาดหัวรายวัน ของสื่อที่คนส่วนใหญ่อ่านหรือฟังหรือดู
เรามักเห็นข่าวแตกแยก มากกว่าข่าวความเป็นหนึ่งเดียว ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว ความเป็นหนึ่งเดียวก็ยังมีอยู่มากในสังคมเรา เพียงแต่มันไม่ค่อยเป็นข่าว
ยกเว้นความเป็นหนึ่งเดียว ที่เป็นข่าวร้อนแรงที่สุด พาดหน้าหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เห็นทีจะเป็นข่าว “วันกระเทยผ่านศึก” กระมังครับ
กลับไปสู่คลิป 4 นาทีที่แชร์กัน ซึ่งมีคอนเท้นต์แค่เรื่อง AI เท่านั้นเอง แต่คลิปเต็มๆที่ผมได้มา มีความยาวถึง 20 นาทีและเขาพูดมากกว่าเรื่อง AI เป็นการอภิปราย ที่ทั้งน่าฟัง น่ากลัว และตรึงให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ
ผมชื่นชมการเจาะประเด็นและการจับประเด็นของเขามาก จึงไปค้นคว้าเพิ่มเติม จนทราบว่า ส.ส. คนนี้มีชื่อว่า ดร. ตัน วู เม็ง อายุ 49 ปี จบแพทย์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
พูดภาษาอังกฤษได้คมกริบ สำเนียงสิงคโปร์มีน้อยมาก สมัยเรียนแพทย์ เขาเป็นผู้แทนของ
เคมบริดจ์ โต้วาทีกับมหาวิทยาลัยทั่วโลก และจากจำนวนผู้แข่งขันทั้งหมด เขาได้รับคัดเลือกให้เป็น “นักโต้วาทีที่ดีที่สุด” ในการแข่งขันครั้งนั้น
ภูมิหลังแบบนี้ ถ้าไม่พูดว่าเก่งมากๆ ก็ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไรละครับ และทำให้เข้าใจว่าทำไมเขาจึงลึกซึ้ง และอภิปรายในสภาฯ ได้คมชัด ไม่มีสะดุดเลยทั้งเนื้อหา ภาษา และด้วยลีลาที่นิ่งและจริงจัง
ผมดูโปรไฟล์ ค.ร.ม. ของสิงคโปร์แล้ว เชื่อว่าน่าจะยังมีรัฐมนตรีและ ส.ส. อีกหลายคน
ที่สามารถนำเสนอวิสัยทัศน์และข้อมูลได้ชัดเจน และอภิปรายได้ระดับนี้
สำหรับประเทศไทย ผมว่าเราก็มีสมาชิกรัฐสภาที่คุณภาพสูง และอภิปรายได้คมกริบแบบนี้
อยู่มากเช่นกัน เพียงแต่การอภิปรายในสภาฯของเรานั้น บ่อยครั้งที่เราได้ยินจนน่าเบื่อที่สุด
ก็คือ “ท่านประธานครับ ผมขอประท้วง…..”
หลังจากนั้น ก็ประท้วงผู้ประท้วง แล้วก็ประท้วงท่านประธาน ฯลฯ จนสภาฯ เสียเวลา เสียทรง และเสียศูนย์ เกือบไม่ได้ประโยชน์อันใดเลย
ในฐานะประชาชน ขออนุญาตตรวจสอบสภาฯ ตรงเรื่องนี้นะครับ เพราะสมัยนี้เรื่องของ
การตรวจสอบ มีความสำคัญมาก ทุกประเทศย่อมถูกตรวจสอบจากนานาชาติ (External Audit) และ ตรวจสอบภายในกันเอง หรือ IA (Internal Audit) กันทั้งนั้น
จะมี IA ผู้ใด หาข้อมูลให้ได้ไหมครับว่า สภาฯของเรามีคนคุณภาพสูงมาก จำนวนเท่าใด คุณภาพดีระดับยอมรับได้ จำนวนเท่าใด และคนที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน จำนวนเท่าใด
จะได้ใช้เป็น เบสไลน์ เทียบกับผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป ว่าดีขึ้นหรือไม่ไงครับ
ผมเริ่มต้นด้วยเรื่อง AI แล้วทำไมจบด้วย IA ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ
บทความโดย ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม วรภัทร
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 15 มี.ค.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/tech/gadget/1117865