วิกเตอร์ มานูเอล โรชา (Victor Manuel Rocha) คืออดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ มองภายนอกดูไม่มีพิษมีภัย ทำงานไต่เต้าตามลำดับมาเรื่อย ๆ จนได้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำโบลิเวีย ช่วงปี 2000-2002 บ่อยครั้งก็ส่งอีเมลให้เพื่อนร่วมงาน แนบบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นที่เขาถนัด – นั่นคือภูมิภาคลาตินอเมริกา
ส่วนอาชีพเสริมของโรชาน่ะเหรอ? เป็นสายลับให้คิวบา มามากกว่า 40 ปี
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (29 กุมภาพันธ์) โรชาในวัย 73 ปี เพิ่งกลับคำ ว่าจะให้การยอมรับสารภาพต่อหน้าศาลที่รัฐไมอามี ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับให้กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของคิวบา
เมอร์ริก การ์แลนด์ (Merrick Garland) อัยการสูงสุดของสหรัฐฯ ระบุข้อกล่าวหาว่า “มากกว่า 40 ปีที่ผ่านมา วิกเตอร์ มานูเอล โรชา ทำงานเป็นสายลับให้กับรัฐบาลคิวบา และพยายามแสวงหาและได้มาซึ่งตำแหน่งภายในรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะทำให้เขาเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ และความสามารถในการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ”
โรชาเป็นชาวโคลอมเบียโดยกำเนิด ครอบครัวอพยพมาอยู่นิวยอร์กช่วงทษวรรษ 1960 เขาและแม่ทำงานเป็นพนักงานโรงงาน และต้องอาศัยแสตมป์แลกอาหารประทังชีวิต
ชีวิตโรชาเริ่มเปลี่ยนเมื่อได้ทุนการศึกษาให้ไปเรียนที่โรงเรียนทัฟต์ (Taft School) โรงเรียนประจำเอกชนราคาแพงในรัฐคอนเนตทิคัต พาโอกาสตามมามากมาย นั่นคือ การได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) จากนั้นก็ต่อ ป.โท ด้านรัฐประศาสนศาสตร์และการต่างประเทศ ที่ ม.ฮาร์วาร์ด (Harvard University) และ ม.จอร์จทาวน์ (Georgetown University)
เมื่อปี 1978 โรชาได้กลายเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ซึ่งก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ปูทางให้เขาได้เข้าไปเป็นข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เขาจะสอบได้ในปี 1981
เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ฝ่ายข่าวกรองของคิวบากำลังตามหาคนเพื่อแทรกซึมกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อสืบราชการลับ – ฝ่ายอัยการสหรัฐฯ ที่ฟ้องร้องโรชาในคดีนี้ กล่าวหาว่า หลังจากเรียนจบ โรชาได้เดินทางไปชิลี ซึ่งเป็นที่ที่หน่วยงานสายลับของคิวบาไปเชิญชวนให้เข้าร่วม เพื่อให้เขาเข้าทำงานและไต่เต้าในวงการราชการของสหรัฐฯ
นั่นจึงเป็นที่มาของการเป็นสายลับให้คิวบานับ 4 ทศวรรษ โรชาเลื่อนขั้นตามตำแหน่งขึ้นเรื่อยๆ จนได้เป็นเอกอัครราชทูตประจำโบลิเวีย อุปทูต (charge d’affaires) ประจำกรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงอาร์เจนตินา และที่น่าสนใจคือได้เป็นรองหัวหน้าหน่วยงานผู้แทนสหรัฐฯ ในคิวบา ที่เรียกว่า United States Interests Section in Havana ซึ่งก็คือสถานทูตสหรัฐฯ คิวบาในทางปฏิบัติด้วย
ขณะนี้กำลังมีการประเมินอยู่ว่าปฏิบัติการของโรชาสร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ มากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ คือ การอยู่ในตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้เขามีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่มากก็น้อย ยังไม่นับข้อมูลลับอีกมหาศาลที่อาจถูกส่งต่อให้กับคิวบา
ยังไม่แน่ชัดว่าอะไรคือแรงจูงใจ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นความเห็นใจที่มีต่อคิวบา – ในขณะเดียวกับที่ตัวเขาเองสร้างภาพลักษณ์ว่าสนับสนุนการเมืองแบบอนุรักษนิยม เพื่อปกปิดจุดยืนที่แท้จริงของตัวเอง เช่นล่าสุด คือการประกาศตัวสนับสนุนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)
ช่วงปี 2022-2023 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ FBI ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยข่าวกรอง (DGI) ของคิวบา เพื่อพูดคุยกับโรชาผ่านแอปฯ WhatsApp หลังจากได้ข้อมูลมาว่าโรชาเป็นสายลับให้กับคิวบา และนั่นจึงเป็นที่มาที่ไปของการกล่าวหาและฟ้องร้องต่อโรชาในคดีนี้
ในบทสนทนา โรชาเรียกสหรัฐฯ ว่าเป็น ‘ศัตรู’ ที่ต้องกำจัด เพื่อ ‘การปฏิวัติ’ ของคิวบา
“สำหรับผม สิ่งที่ได้ทำลงไปแล้ว ได้ส่งเสริมการปฏิวัติให้แข็งแกร็งยิ่งขึ้น มันแข็งแกร่งยิ่งขึ้นอย่างมาก” คือคำพูดของโรชาต่อเจ้าหน้าที่ FBI นอกเครื่องแบบ “พวกมันประเมินต่ำเกินไปว่าเราจะทำอะไรพวกมันได้บ้าง เราทำมากกว่าที่พวกมันคิด” ซึ่งเขามองอีกว่า การเป็นสายลับสืบราชการให้คิวบานั้น ยิ่งกว่าเป็น ‘แกรนด์สแลม’
ถือเป็นอีกหนึ่งคดีอันลือลั่นในวงการข่าวกรองสหรัฐฯ ซึ่งศาลจะนัดอ่านคำพิพากษาคดีของโรชา ในวันที่ 12 เมษายนที่จะถึงนี้
อ้างอิงจาก
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : The Matter / วันที่เผยแพร่ 3 มี.ค.67
Link : https://thematter.co/brief/223289/223289