เปิดสูตร 6 วิธีสังเกตลิงก์หลอกลวง พร้อมวิธีป้องกันตัว จากเหล่ามิจฉาชีพออนไลน์ นอกจากข้อความเชิญชวนเกินจริงแล้ว มีอะไรอีกบ้าง?
ปัจจุบัน โลกเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือสิ่งที่ต้องการต่าง ๆ อย่างง่ายดาย เพียงแค่กดลิงก์เท่านั้น ทว่านอกจากผู้คนจะใช้วิธีนี้ในการเข้าถึงข้อมูลแล้ว เหล่ามิจฉาชีพเองก็มักใช้กลวิธีนี้เพื่อหลอกลวงเหยื่อด้วย “ลิงก์หลอกลวง” หรือ “scam link” ผ่านกลวิธีการต่าง ๆ
พีพีทีวี จึงขอแนะนำ 6 สัญญาณเตือนภัย ให้ผู้อ่านรู้เท่าทัน พร้อมวิธีสังเกต เพื่อให้สามารถป้องกันตัวจากลิงก์หลอกลวงเหล่านี้ได้!
ข้อความเชิญชวนที่เกินจริง
ผู้ไม่หวังดีมักใช้คำพูดที่ดึงดูดความสนใจ เช่น รวยเร็ว, ฟรี, ของรางวัล, และข้อมูลลับ เป็นต้น หรือใช้ข้อความที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึก ตระหนกตกใจ หวาดกลัว ว่ากำลังเกิดเรื่องร้ายแรงกับทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลมีเดียของผู้อ่าน
ลิงก์ไม่ตรงกับชื่อ
เมื่อวางเมาส์เหนือลิงก์ (hover) จะเห็น URL ที่ไม่ตรงกับข้อความที่แสดง
URL ย่อ
มักใช้บริการย่อ URL เพื่อซ่อน URL จริง จากภาพที่ 1 เป็นกรณีการใช้ URL ย่อนั่นเอง คือชื่อ short.gy
ภาษาไทยไม่ถูกต้อง
พบคำผิด หลักภาษาผิด หรือใช้ภาษาไทยที่ไม่เป็นธรรมชาติ
ไม่มี HTTPS
เว็บไซต์ปลอดภัยควรขึ้นต้นด้วย HTTPS ซึ่งช่วงหลังนี้ไม่ค่อยเจอกรณีนี้เท่าไหร่แล้ว เพราะสมัยนี้การทำ HTTPS ทำได้ฟรี ๆ และง่ายมากในทางเทคนิค
ที่มาไม่น่าเชื่อถือ
ส่งมาจากบุคคลที่ไม่รู้จัก เพจปลอม หรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น จากภาพที่ 1 ส่งจาก Facebook for Creators ซึ่งถ้ามาจากเฟซบุ๊กควรจะเป็นอีเมล์จาก meta.com
นอกจากนี้ ยังมีวิธีสังเกตเพิ่มเติม 2 วิธี ได้แก่
ตรวจสอบชื่อโดเมน
มิจฉาชีพมักใช้ชื่อโดเมนที่คล้ายกับเว็บไซต์จริง หรือในกรณีภาพที่ 2 ใช้ชื่อผู้ส่งเมล์เหมือนจริง แต่ใช้ข้อจำกัดของระบบอีเมลของ Office365 เพื่อปิดบังอำพรางชื่อโดเมนท้ายอีเมล
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาชื่อเว็บไซต์หรือ URL บน Google เพื่อดูว่ามีผู้ร้องเรียนหรือไม่ และเฟซบุ๊ก ได้เปิดเผยโดเมนเนมที่ใช้สำหรับส่งอีเมลอย่างเป็นทางการของเฟซบุ๊ก ไว้ดังนี้
notification@facebookmail.com
noreply@facebookmail.com
@business.fb.com
@support.facebook.com
@fb.com
@meta.com
@internal.metamail.com
@go.metamail.com
advertise-noreply@facebookmail.com
update@em.facebookmail.com
@mediapartnerships.fb.com
สำหรับแนวทางป้องกันตัว สามารถป้องกันตัวได้ 5 วิธี ได้แก่
– อย่าคลิกลิงก์จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่คลิกลิงก์จากอีเมล ข้อความ โซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ
– ตรวจสอบ URL ก่อนคลิก วางเมาส์เหนือลิงก์เพื่อดู URL จริง
– ใช้โปรแกรมป้องกันไวรัส ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสและอัปเดตอยู่เสมอ
– ตั้งรหัสผ่านที่คาดเดายาก ใช้รหัสผ่านที่ยาวและซับซ้อนสำหรับบัญชีต่างๆ แนะนำให้ใช้ ระบบ gen password จากเบราเซอร์ google chrome หรือ gen จากเว็บไซต์ เช่นhttps://genpassword.net/ และ https://www.lastpass.com/features/password-generator
– ระวังการหลอกลวงรูปแบบใหม่ มิจฉาชีพมักพัฒนากลวิธีใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ที่มา : สุภโชค ภัทรามรุต
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 มี.ค.67
Link : https://www.matichon.co.th/foreign/news_4493040