รัฐบาลไต้หวันรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 7 คน และบาดเจ็บ 711 คน จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ที่เกิดขึ้นนอกชายฝั่งเมืองฮัวเหลียน ทางตะวันออก เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (3 เมษายน) ซึ่งถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของไต้หวันในรอบ 25 ปี
ผลกระทบจากแผ่นดินไหวส่งผลให้มีอาคารพังถล่ม โน้มเอียง หรือได้รับความเสียหายรวมแล้วมากกว่า 100 หลังในหลายเมือง และมีประชาชนอย่างน้อย 77 คนติดอยู่ภายในอาคาร ซึ่งหน่วยกู้ภัยกำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือ และมีรายงานกระแสไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง กระทบประชาชนกว่า 3 แสนครัวเรือนทั่วไต้หวัน ซึ่งทางการกำลังเร่งซ่อมแซม
สำหรับคนไทยในไต้หวัน ทางกระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับผลกระทบ บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น
ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ได้ยกเลิกประกาศเตือนภัยสึนามิแล้ว โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น รายงานว่ามีคลื่นสึนามิขนาดเล็กหลายลูกที่ซัดไปถึงชายฝั่งจังหวัดโอกินาวา
ขณะที่รถไฟโดยสารและเที่ยวบินต่างๆ ที่ระงับให้บริการชั่วคราวหลังแผ่นดินไหวทยอยกลับมาให้บริการแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่พบว่ามีความเสียหายใดๆ ต่อสนามบินหรือระบบรถไฟ
จนถึงขณะนี้มีรายงานการเกิดอาฟเตอร์ช็อกแล้วมากกว่า 100 ครั้ง โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะมีอาฟเตอร์ช็อกขนาดแรงสั่นสะเทือน 7 เกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
‘รอยเลื่อนย้อน’ ในวงแหวนแห่งไฟ ต้นเหตุแผ่นดินไหวแรง
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ตามข้อมูลจากหน่วยงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา (USGS) สาเหตุของแผ่นดินไหวเกิดจากรอยเลื่อนย้อน (Reverse Faulting) เกิดขึ้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียและแผ่นทะเลฟิลิปปินส์ ที่ระดับความลึก 34.8 กิโลเมตร อยู่ในบริเวณวงแหวนไฟ ซึ่งเป็นพื้นที่มีการเกิดแผ่นดินไหวชุกชุมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
การเกิดรอยเลื่อนย้อนดังกล่าวทำให้เกิดการเคลื่อนที่ในแนวดิ่งของแผ่นเปลือกโลกจึงทำให้เกิดสึนามิซัดเขาหาชายฝั่งตามมา โดยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 25 ปี แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ไกลถึงกรุงไทเปและในประเทศจีน ทั้งยังมีอาฟเตอร์ช็อกที่มีขนาดมากกว่าแมกนิจูด 5 เกิดขึ้น รวมถึงทำให้เกิดดินถล่มในบางพื้นที่ด้วย
สำหรับข้อสังเกตการณ์ถล่มของอาคารหลายหลังในเมืองฮัวเหลียน ศ.ดร.อมรอธิบายว่ามีโครงสร้างอาคารพังถล่มหลายหลัง โดยพบรูปแบบการพังถล่มที่เกิดขึ้นในชั้นล่างของอาคาร ซึ่งทางวิศวกรรมเรียกว่า การวิบัติแบบชั้นอ่อน (Soft Storey) โดยเสาชั้นล่างของอาคารจะถูกทำลาย ทำให้อาคารส่วนที่เหลือล้มเอียงทำมุม 45 องศากับพื้นดิน และอาคารที่พังทลายลักษณะนี้น่าจะเป็นอาคารเก่าที่ยังไม่ได้รับการเสริมกำลัง
“อาคารที่มีความเสี่ยง ‘ชั้นอ่อน’ จะมีลักษณะที่ชั้นล่างเปิดโล่ง มักเป็นอาคารพาณิชย์ที่เปิดโล่งชั้นล่างทางด้านหน้า 1 ด้านเพื่อใช้ทำการค้า ส่วนด้านที่เหลือมีการก่อผนัง จึงทำให้เสาชั้นล่างด้านที่เปิดโล่งเป็นเสาอ่อนแอ จึงพังทลายและทำให้อาคารล้มเอียงลงมา ดังที่เกิดขึ้น”
แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นที่ไต้หวันไม่ได้ส่งผลกระทบมาที่ประเทศไทย แต่ประเทศไทยก็ยังมีความเสี่ยงแผ่นดินไหวระดับปานกลางในหลายพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ตลอดจนถึงกรุงเทพมหานคร ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการเสริมความแข็งแรงให้แก่อาคารเก่า ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การพอกขยายเสาให้ใหญ่ขึ้น หรือการติดตั้งค้ำยันทแยง (Bracing) ซึ่งเป็นวิธีการที่ลดความเสี่ยงการวิบัติจากชั้นอ่อนได้
ภาพ: Taiwan National Fire Agency/Handout via REUTERS
อ้างอิง:
https://www.reuters.com/world/asia-pacific/strong-72-magnitude-earthquake-hits-taipei-2024-04-03/
https://edition.cnn.com/asia/live-news/taiwan-earthquake-hualien-tsunami-warning-hnk-intl/index.html
https://www.bbc.com/news/live/world-asia-68720022?src_origin=BBCS_BBC
——————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : The Standard / วันที่เผยแพร่ 3 เม.ย.67
Link : https://thestandard.co/taiwan-earthquake-kills-7-people/