แถลงการณ์ศูนย์สั่งการชายแดนไทย- เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก รายงานสถานการณ์ชายแดนพื้นที่ จ.ตาก
– วันจันทร์ (22 เม.ย.67) เวลา 06.00 -18.00 น. การปะทะในพื้นที่ตอนในฝั่งเมียนมา ห่างจากแนวชายแดนไทย ประมาณ 4-10 กิโลเมตร ระหว่าง ทหารเมียนมา กับ กองกำลังชนกลุ่มน้อย/กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา มีการใช้อาวุธหนักของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย บริเวณ บ้านผาลู อำเภอเมียวดี จังหวัดเมียวดี ด้านตรงข้าม บ้านแมโกนเกน ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด และ บริเวณ บ้านธิบาโบ อำเภอซูการี จังหวัดเมียวดี ด้านตรงข้าม บ้านหมื่นฤาชัย ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน บริเวณแนวชายแดน
– ข้อมูล เมื่อวานนี้ เวลา 18.00 น. มีผู้หนีภัยความไม่สงบขาวเมียนมาที่ยังคงมีความกังวลใจจากสถานการณ์ในพื้นที่ พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวฝั่งไทย จากเดิม จำนวน 3 พื้นที่ คงเหลือ จำนวน 2 พื้นที่
*ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา จากเดิม จำนวน 2,331 คน มีผู้สมัครใจเดินทางกลับ จำนวน 1,348 คน
คงเหลือ จำนวน 983 คน รายละเอียด ดังนี้
*พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ท่าทรายรุจิรา อ.แม่สอด มีผู้พักอาศัย 906 คน
*พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ท่าข้ามสินค้า 25 อ.แม่สอด ไม่มีผู้พักอาศัย
*พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บ้านหนองหลวง อ.อุ้มผาง มีผู้พักอาศัย 77 คน
พ.อ.ไมตรี ชูปรีชา รอง ผบ.กกล.นเรศวร รายงานสถานการณ์ภาพรวมจากการสู้รบในฝั่งเมียนมา แม้ปัจจุบันจะอยู่ในสถานการณ์หยุดยิง แต่ฝั่งเมียนมายังคงมีการวางกำลังตามจุดต่าง ๆ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับการปฏิบัติของฝ่ายไทยได้มีการประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีการจัดชุดลาดตระเวน เฝ้าตรวจตามแนวชายแดน การตั้งจุดตรวจในพื้นที่ชั้นใน และการจัดชุดสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ขณะที่ ด้านการค้าชายแดนบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 อาจติดขัดบ้าง แต่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนผู้หนีภัยความไม่สงบที่ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เนื่องจากเริ่มมีการเคลื่อนย้ายกลับด้วยการสมัครใจ
กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังป้องกันโรค และดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ บริเวณพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว อ.แม่สอด นายปุริฉัตร ยิ่งรังสรรค์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวว่า เมื่อวันศุกร์ (20 เม.ย.67) โรงพยาบาลแม่สอดได้ประกาศใช้แผนฉุกเฉิน เพื่อเป็นการระดมทรัพยากร และบุคลากรมาดูแลผู้ป่วยซึ่งมีจำนวนมาก โดยประกาศใช้เพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งย้ำว่าไม่ใช่การประกาศภาวะฉุกเฉิน ที่ผ่านมาเคยได้ประกาศใช้แผนนี้ เช่น กรณีอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากที่มาพร้อมกันในคราวเดียว ทั้งนี้โรงพยาบาลในพื้นที่มีศักยภาพสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากถึง 60–100 ราย โดยให้ความมั่นใจว่าประชาชนไทยจะได้รับการบริการจากบุคลากรทางสาธารณสุขเช่นเดิม แม้จะมีสถานการณ์เกิดขึ้น
CR: ขอบคุณข้อมูล-ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก
———————————————————
ที่มา : จ.ส.100 / วันที่เผยแพร่ 23 เม.ย. 2567
Link : https://www.js100.com/en/site/news/view/139455