– วันที่ 15 เมษายน 2557 เรือเฟอร์รี่ “เซวอล” ออกเดินทางจากท่าเรืออินชอน และมุ่งหน้าไปยังเกาะเชจู โดยมีผู้โดยสารทั้งหมด 476 คน เป็นลูกเรือ 33 คน และนักเรียน 325 คนจากโรงเรียนมัธยมดันวอน ร่วมทริปทัศนศึกษาในครั้งนั้น แต่ในเช้าวันที่ 16 เมษายน เรือเซวอลเกิดเหตุอับปางและค่อยๆ จมลงในน้ำทะเล ทั้งนักเรียน ครู รวมถึงลูกเรือหลายคนติดอยู่ในเรือไม่สามารถออกมาได้ และเสียชีวิตรวม 304 ศพ
– ผลการสอบสวนพบข้อผิดพลาดหลายประการ เช่น กัปตันเรือไม่ได้อยู่ในห้องควบคุมเรือขณะเกิดเหตุ แต่ฝากเรือไว้กับผู้ช่วยต้นเรือที่มีประสบการณ์เดินเรือเพียง 6 เดือน ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ล่าช้า เรือมีการดัดแปลงต่อเติม บรรทุกน้ำหนักเกินที่กฎหมายกำหนด รวมถึงข้อกล่าวหาที่ว่า ขณะเรืออับปางกัปตันบอกให้ทุกคนอยู่เฉย ๆ ขณะที่ตัวเองสละเรือหนีออกมา
– แม้จะมีโทษจำคุก การจ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งศาล และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล พ่อของเหยื่อรายหนึ่งกล่าวว่าเขารู้สึกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ทำอะไรมากพอที่จะรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้ แม้กระทั่งรัฐบาลชุดปัจจุบันของประธานาธิบดียุน ซุกยอล ก็ยังเชื่อว่าการจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติต่าง ๆ ยังคงย่ำแย่
เรือเฟอร์รี่ลำนี้ค่อย ๆ จมสู่ก้นทะเล ในขณะที่มีการรายงานข่าวและการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ขณะที่เด็ก ๆ บนเรือส่งข้อความที่แสดงถึงความสิ้นหวังถึงพ่อแม่ และ 10 ปีหลังจากภัยพิบัติทางทะเลครั้งเลวร้ายที่สุดของเกาหลีใต้ ครอบครัวของเหยื่อยังคงไม่ลืมถึงความน่ากลัวในครั้งนั้น
ลูกชายวัยรุ่นของนายจุง ซองอุค เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต 304 ศพ เมื่อเรือเฟอร์รี่เซวอลที่บรรทุกเกินน้ำหนัก ประสบอุบัติเหตุล่มนอกชายฝั่งทางใต้ของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2557
เหยื่อเกือบทั้งหมดเป็นเด็กนักเรียนที่ปฏิบัติตามคำสั่งให้อยู่ในที่พักของตัวเอง ขณะที่ลูกเรือและกัปตันสามารถหนีออกไปได้
หนึ่งในข้อความสุดท้ายที่จอง ดงซู ลูกชายของจุง ส่งคือถึงแม่ของเขา โดยบอกว่าเรือเฟอร์รี่เอียง 45 องศา ทำให้พ่อของเขาต้องรีบวิ่งไปยังที่เกิดเหตุเพื่อพยายามตามหาลูกของเขา
เมื่อนายจุง ผู้เป็นพ่อเดินทางมาถึงโรงยิมของโรงเรียนทางตอนใต้ของเมืองจินโด ซึ่งเป็นที่ที่ผู้รอดชีวิตถูกนำตัวไปพัก เขาก็ได้เห็นภาพของการปฏิบัติการกู้ภัยที่แสนวุ่นวาย
“มันเป็นนรกจริง ๆ ผมหมายถึงความวุ่นวาย ไม่มีใครจัดการได้อย่างเหมาะสม เด็ก ๆ ถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพัง และพ่อแม่ก็ลงมารับเด็ก ๆ กลับบ้าน มันวุ่นวายมาก พูดง่าย ๆ ก็คือมันคือนรก”
เขาบอกว่าเขา “เสียใจมาก” เกี่ยวกับความพยายามช่วยเหลือครั้งนี้ โดยคิดว่าหากสิ่งต่าง ๆ ถูกดำเนินการด้วยวิธีการแตกต่างออกไป ผู้คนจำนวนมากจะได้รับการช่วยชีวิตได้
หลังจากที่เห็นได้ชัดว่าลูกชายของเขาเสียชีวิตแล้ว จุงก็มีส่วนร่วมในการค้นหาศพที่ยังคงหายสาบสูญ และหลังจากนั้นเขาได้ร่วมในการรณรงค์เพื่อกู้เรือ โดยการช่วยล็อบบี้รัฐบาลให้นำเรือเซวอลขึ้นมาจากก้นทะเลและนำขึ้นฝั่ง เขากล่าวว่า แม้แต่ในกระบวนการดังกล่าวก็เต็มไปด้วย “ข้อผิดพลาดมากมาย”
สำหรับ อี มิ-คยอง ซึ่งลูกชายของเธอเป็นหนึ่งในเด็ก 250 คนที่เสียชีวิตจากเหตุเรือเล่ม การรับมือกับความเศร้าโศกและความโกรธนั้นเป็นเรื่องยากอย่างไม่น่าเชื่อ เธอต้องผ่านความเจ็บปวด ผ่านการแสดงละครเวที “ฉันจะไม่ซ่อนตัวในความมืดอีกต่อไป ไม่พ่ายแพ้ต่อความโศกเศร้า หรือร้องไห้ด้วยความสิ้นหวังอีกต่อไป” ลี วัย 58 ปี กล่าวในละครเวทีที่แม่ของเด็ก 7 คนที่เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เล่าถึงการเดินทางแห่งความโศกเศร้าของพวกเขา
ละครเรื่องนี้เป็นละครเวทีหนึ่งในห้าเรื่องที่นางอี และคุณแม่คนอื่น ๆ แสดงตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยแต่ละเรื่องเน้นให้เห็นแง่มุมที่แตกต่างกันของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ พวกเธอแสดงการจดจำลูก ๆ ไว้อาลัย และเรียกร้องความยุติธรรมผ่านการแสดงละคร และตอบคำถามว่ามีเด็กกี่คนที่ได้รับคำสั่งให้อยู่ในห้องพักบนเรือ เสียชีวิตในขณะที่กัปตันและลูกเรือหลบหนี
การช่วยเหลือที่ล้มเหลว?
ขณะที่เรือเซวอลน้ำหนัก 6,825 ตันเริ่มจมลงสู่ทะเล ลูกเรือได้แจ้งให้ผู้โดยสารอยู่กับที่ แต่กัปตันและลูกเรือกลับกลายเป็นฝ่ายที่ออกจากเรือก่อน ต่อมาพวกเขาถูกจำคุกจากการกระทำของพวกเขา
ภัยพิบัติครั้งนี้ถูกกล่าวหาว่ามีสาเหตุมาจากการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด การออกแบบที่ผิดกฎหมาย และการบังคับควบคุมเรือที่ไม่ดี โดยศาลเรียกสิ่งนี้ว่า ลูกเรือที่ “ไร้ความสามารถ”
กัปตันเรือถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และลูกเรือคนอื่น ๆ ก็ถูกตัดสินจำคุกเช่นกัน แต่กลับไม่พบว่ามีฝ่ายใดต้องแสดงความรับผิดชอบอีก มีการสอบสวนและสอบถามเกี่ยวกับภัยพิบัติครั้งนี้หลายครั้ง
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่าการช่วยเหลือครั้งนี้ก็ล้มเหลวเช่นกัน แต่นายคิม ซอกคยุน อดีตหัวหน้าหน่วยยามฝั่ง ที่ถูกตัดสินจำคุกในข้อหาจัดการภารกิจกู้ภัยในทางที่ผิด และพ้นผิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ไม่มีอะไรอื่นที่พวกเขาสามารถทำได้อีกแล้ว
นายคิม ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนด้านความมั่นคงทางทะเลที่วิทยาลัยท้องถิ่น กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ฮันกุก อิลโบ ว่า “คนทั่วไปอ้างว่าสามารถป้องกันการบาดเจ็บล้มตายได้ หรือลดขนาดความสูญเสียลงได้ หากหน่วยยามฝั่งออกคำสั่งอพยพ แต่พวกเขากล่าวอ้างโดยไม่เข้าใจสถานการณ์”
เขากล่าวว่า “เรือเซวอลเอียงอยู่แล้วที่ 50-60 องศา ตอนที่หน่วยกู้ภัยมาถึง จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้โดยสารที่จะหลบหนีอย่างปลอดภัยโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากกัปตันหรือลูกเรือ”
ความโกรธเกรี้ยวของสาธารณชนพุ่งเป้าไปที่ประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ในขณะนั้น หลังจากที่ปรากฏว่าเธอไม่สามารถติดต่อได้เป็นเวลาหลายชั่วโมงในขณะที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น ในเวลาต่อมาเธอถูกกล่าวโทษ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดการเรื่องเรือล่ม
‘สิ่งต่าง ๆ แย่ลง’
แม้จะมีโทษจำคุก การจ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งศาล และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล พ่อของจุงบอกว่าเขารู้สึกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ทำอะไรมากพอที่จะรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้ และต้องแน่ใจว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก
“ตอนนี้ ในอีก 10 ปีต่อมา ผมรู้สึกเสียใจมากยิ่งขึ้นกับความจริงที่ว่า แม้ว่าผมจะพยายามอย่างหนัก แต่ก็ไม่มีการลงโทษที่เหมาะสม และไม่มีการสอบสวนความจริง”
“เมื่อพิจารณาถึงการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เราเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ แย่ลง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ รัฐบาลของประธานาธิบดียุน ซุกยอล พยายามซ่อนสิ่งเหล่านั้นไว้และไม่มีแผนการใด ๆ”
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้จากประเทศที่ถูกสงครามทำลาย จนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชียและมหาอำนาจทางวัฒนธรรมระดับโลก คือที่มาแห่งความภาคภูมิใจของชาติ
แต่ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่สามารถป้องกันได้ ตั้งแต่เรือเฟอร์รี่เซวอล ไปจนถึงเหตุการณ์ฝูงชนเบียดกันตายในเทศกาลฮาโลวีนที่ย่านอิแทวอนในกรุงโซล เมื่อปี 2565 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 150 คน ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อทางการ
เจ้าหน้าที่ระดับเขตและเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนถูกดำเนินคดีจากเหตุโศกนาฏกรรมอิแทวอน แต่ไม่มีสมาชิกระดับสูงของรัฐบาลคนใดลาออก หรือถูกดำเนินคดี แม้ว่าครอบครัวของเหยื่อจะวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการขาดความรับผิดชอบก็ตาม
จุงกล่าวว่า “ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีสิทธิที่จะได้รับแจ้งอย่างถูกต้องจากรัฐว่าทำไมภัยพิบัติดังกล่าวจึงเกิดขึ้น และความคืบหน้าของสิ่งต่าง ๆ นี่คือสิ่งที่ประเทศของเรายังขาดอยู่”
ที่มา: AFP
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 16 เม.ย. 2567
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2778588