วันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ของคนไทยในทุกภูมิภาคปีนี้ เป็นวันหยุดต่อเนื่องจากเทศกาลฮารีรายอของพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้พอดี
ช่วงฮารีรายอ เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของพี่น้องมุสลิม ช่วงหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด ช่วงนี้โดยปกติจะเป็นช่วง “ปลอดเหตุรุนแรง”
ส่วนเดือนรอมฎอน เป็นช่วงที่เหตุรุนแรงเกิดชุกมาก โดยเฉพาะช่วง 10 วันสุดท้าย เพราะมีการไปบ่มเพาะความเชื่อผิดๆ ในการสร้าง “นักรบติดอาวุธ” เพื่อต่อสู้กับรัฐ ว่า หากก่อเหตุรุนแรงในห้วงเวลานี้แล้ว จะได้บุญใหญ่
สถิติเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน จึงถือว่าน่าสนใจ และเป็นดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่งว่า สถานการณ์ไฟใต้ดีขึ้นบ้างหรือไม่ เพราะยืดเยื้อมากว่า 20 ปีแล้ว
พันเอก เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงรอมฎอนที่ผ่านมา ต้องแยกว่าเป็นเหตุการณ์ความมั่นคง กับเหตุรุนแรงที่เกิดจากสาเหตุอื่นด้วย
โดยตลอดรอมฎอนที่ผ่านมา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา) รวมจำนวน 35 เหตุการณ์ (เฉลี่ยมากกว่าวันละ 1เหตุการณ์)
มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 19 ราย เสียชีวิต 4 ราย แยกเป็น
• จังหวัดปัตตานี เกิดเหตุรุนแรงจำนวน 13 เหตุการณ์ ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย
• จังหวัดยะลา จำนวน 6 เหตุการณ์ ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
• จังหวัดนราธิวาส จำนวน 13 เหตุการณ์ ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย เสียชีวิต 3 ราย
• จังหวัดสงขลา จำนวน 3 เหตุการณ์
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สรุปว่า สถานการณ์ที่เกิดช่วงรอมฎอนปีนี้ สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา!
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 12 เม.ย. 67
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/127816-violentramadan.html