แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเร่งแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนว่ายังไม่เป็นที่พอใจของผู้นำรัฐบาล ที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ต้องออกมาบัญชาการ ขีดเส้นในการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ให้มีผลงานชัดเจนใน 30 วัน!!
1 เดือนเสียหาย 4 พันล้าน
เมื่อย้อนดูสถิติการแจ้งความออนไลน์ของประชาชนในเดือน มี.ค. 67 ที่ผ่านมา ผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com มีทั้งสิ้น 26,507 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 4,647,605,683 บาท เฉลี่ย 149,922,764 บาทต่อวัน!! ขณะที่ผลการอายัดบัญชี จำนวน 28,233 บัญชี ยอดขออายัด จำนวน 1,084,534,377 บาท แต่อายัดได้ จำนวน 588,166,925 บาท เมื่อแบ่งประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก นั้น อันดับ 1. หลอกลวงซื้อขายสินค้า หรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) มูลค่าความเสียหาย 1,012,114,930 บาท 2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 466,096,930 บาท 3.หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 112,960,804 บาท 4.หลอกให้ลงทุนเกี่ยวกับ ทรัพย์สินดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 1,119,439,292 บาท และ 5. Call center มูลค่าความเสียหาย 289,775,739 บาท
เอโอซี 1441 แก้ปัญหา
กระทรวงดีอี โดย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” หลังเข้ามารับตำแหน่ง ได้ตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือศูนย์เอโอซี 1441 โดยหวังให้เป็นหนาวยงานที่สามารถแก้ปัญหาได้แบบเบ็ดเสร็จ หรือ วัน สต็อป เซอร์วิส ซึ่งตั้งแต่จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 66 จนถึง 5 เม.ย. 67 ปรากฏว่า มีสายโทรฯ เข้า 1441 จำนวน 523,297 สาย เฉลี่ยต่อวัน 3,333 สาย มีการระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 102,925 บัญชี หรือเฉลี่ยต่อวัน 895 บัญชี มีการระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท คือ หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 30,858 บัญชี คิดเป็น 29.98% หลอกลวงหารายได้พิเศษ 22,001 บัญชี คิดเป็น 21.38% หลอกลวงลงทุน 18,602 บัญชี คิดเป็น 18.07% หลอกลวงให้กู้เงิน 8,616 บัญชี คิดเป็น 8.37% และหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 6,777 บัญชี คิดเป็น 6.58% และคดีอื่น ๆ 16,071 บัญชี คิดเป็น 15.62% และยอดการอายัดบัญชี (1 พ.ย. 66-31 มี.ค. 67) ข้อมูลจากตำรวจไซเบอร์ นั้น ยอดขออายัด 8,185,327,516 บาท ยอดอายัดได้ 3,917,696,373 บาท คิดเป็น 47.86% จากตัวเลขสถิติดังกล่าว ถือว่ายอดเงินอายัดได้ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ฉวยโอกาสสงกรานต์
อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาล “สงกรานต์” ก็ยังมีภัยออนไลน์ที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง เมื่อ “มิจฉาชีพออนไลน์” จะอาศัยเหตุการณ์ช่วงเทศกาลในการหลอกเหยื่อ โดยศูนย์เอโอซี 1441 พบว่า มีประชาชนได้สั่งซื้อปืนฉีดน้ำ เพื่อใช้เล่นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผ่านช่องทางโซเซียลมีเดีย คือ เฟซบุ๊ก เมื่อโอนเงินไปแล้ว กลับไม่สามารถติดต่อร้านค้าได้ หรืออีกกรณี มีประชาชนได้สั่งซื้อ “เสื้อลายดอก” เพื่อที่จะนำมาขายเพื่อหารายได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก โดยทางร้านแจ้งราคาสินค้าพร้อมขนส่งฟรี และให้ผู้เสียหายโอนเงินจำนวนเต็ม เมื่อหลงเชื่อ ได้โอนเงินจำนวนเต็มไป แต่ภายหลังไม่สามารถติดต่อเพจร้านค้าได้อีก!?!
“วงศ์อะเคื้อ บุญศล” โฆษกกระทรวงดีอี บอกว่า ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เตรียมตัว จับจ่ายใช้สอยสินค้าในเทศกาลดังกล่าว ดีอียังคงพบว่ามีการหลอกลวงประชาชนจากมิจฉาชีพอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ จึงขอเตือนภัยให้ประชาชนระมัดระวังการหลอกลวงดังกล่าว ที่มีในหลากหลายรูปแบบ จึงขอให้สังเกตและงดรับสายจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย ไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่รู้จัก ที่เข้ามาทักทายและขอเป็นเพื่อนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งอย่าหลงเชื่อการชักชวนให้ลงทุนแล้วเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริง หรือเร่งรัดให้ตัดสินใจลงทุน เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ
ภัยจากคิวอาร์โค้ด
ขณะเดียวกันทาง แคสเปอร์สกี้ บริษัทผู้นำด้านความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก ก็ได้ออกมาเตือนภัยไซเบอร์จากคิวอาร์โค้ด ช่วงสงกรานต์ โดยระบุว่าคิวอาร์โค้ด ทำหน้าที่เหมือนกับบาร์โค้ด เป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว ในการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำแบบสอบถาม สมัครรับโปรโมชั่นส่วนลด ดาวน์โหลดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช็กอินที่โรงแรม เข้าถึงเว็บไซต์ และกดติดตามโซเชียลมีเดีย เพราะการยื่นสมาร์ตโฟน เพื่อสแกนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีดำนั้น ง่ายกว่าการป้อน URL ที่ยาวมาก แต่ความสะดวกสบายนี้ได้ซ่อนข้อเสียที่ร้ายแรงไว้!!
ทั้งนี้ จากลิงก์ปกติ ผู้ใช้สามารถตรวจพบ “กับดักอันตราย” ได้ด้วยตาเปล่าและไม่หลงกลกดลิงก์นั้น เช่น พบว่าการพิมพ์ผิด หรืออักขระเพิ่มเติมใน URL ของเว็บ การเปลี่ยนเส้นทางไปเว็บอื่นที่ซ่อนอยู่ โดเมนที่ผิดปกติ เป็นต้น แต่คิวอาร์โค้ดอาจพาผู้ใช้เข้าเว็บไซต์ปลอม ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่เป็นอันตราย และกรอกข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้ตั้งใจได้ โดยเฉพาะปัจจุบันสามารถพบเจอคิวอาร์โค้ดมากมายรอบตัว แต่อาจมีมิจฉษชีพมีการแปะโค้ดปลอมแทนที่ โค้ดในป้ายโฆษณาที่ติดอยู่ในที่สาธารณะต่าง ๆ หรือ สถานที่ท่องเที่ยวได้ จึงขอแนะนำให้เพิ่มความระมัดระวัง สังเกตรูปแบบการกระทำที่ผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดินทางท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย และตรวจสอบแอดเดรสของเว็บไซต์ภายในคิวอาร์โค้ดอย่างระมัดระวัง และไม่ควรดาวน์โหลดแอปผ่านคิวอาร์โค้ด และไม่ควรติดตั้งแอปจากแหล่งที่ไม่ใช่สโตร์ที่เป็นทางการ ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม เป็นต้น
30 วันต้องเห็นผล
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทางกระทรวงดีอี ได้เร่งเครื่องแก้ปัญหาทั้งการออก 8 มาตรการ ให้มีผลงานชัดเจนใน 30 วัน ทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การให้แบงก์ชาติและสมาคมแบงก์ นำบัญชีม้าออกจากระบบอย่างเร่งด่วน หากเกิดการบัญชีม้าไปใช้ก่อเหตุ สถาบันการเงินต้องร่วมรับผิดชอบ ขณะที่การแก้ไขปัญหาซิมม้า ก็ให้ กสทช. กวดขันการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนสำหรับผู้ถือครองซิมการ์ด มากกว่า 100 ซิม และเร่งระงับซิมที่ไม่ลงทะเบียน หลังดำเนินการไปแล้วกว่า 8 แสนเลขหมาย พร้อมประสานหน่วยงานด้านความมั่นคงพื้นที่ชายแดน เรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
ทั้งหมดถือเป็นการใส่เกียร์ 5 เร่งปราบอาชญากรรมออนไลน์ ตัดช่องทางของ “โจรไซเบอร์” ในทุกช่องทาง โดยมีเป้าหมายลดความสูญเสีย และการตกเป็นเหยื่อของประชาชน เป็น “เดิมพัน”
บทความโดย ทีมเศรษฐกิจ
———————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 15 เม.ย. 2567
Link : https://www.dailynews.co.th/news/3341029/