การประท้วงหนุนปาเลสไตน์ ต่อต้านสงครามอิสราเอล ปะทุขึ้นตามมหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนเกิดการปะทะกับตำรวจและผู้ประท้วงฝ่ายตรงข้าม มีผู้ถูกจับกุมตัวจำนวนมาก ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพยายามหาทางคลี่คลายสถานการณ์ แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ
ความตึงเครียดในมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 จนมีผู้เสียชีวิต 1,200 ศพ นับไปสู่การเดินหน้าล้างแค้นของอิสราเอล ซึ่งดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ มีชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารมากกว่า 34,000 ศพ อีกนับล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น
กลุ่มนักศึกษามีข้อเรียกร้องแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบัน แต่ข้อเรียกร้องหลักที่มีร่วมกันคือ ต้องการให้มหาวิทยาลัยถอนการลงทุนออกจากบริษัท ที่เชื่อมโยงกับอิสราเอลหรือธุรกิจที่ได้รับกำไรจากการทำสงครามกับกลุ่มฮามาส ซึ่งจนถึงตอนนี้มหาวิทยาลัยยังคงปฏิเสธข้อเรียกร้อง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การทำเช่นนั้นอาจไม่ส่งผลกระทบสำคัญใด ๆ
ชนวนเหตุประท้วง
การประท้วงสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ของเหล่านักศึกษาในสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว แต่สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ทำให้กลุ่มนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง
แต่สถานการณ์เริ่มบานปลายในวันที่ 17 เม.ย. นักศึกษามหาวิทยาลัยโคลัมเบียจำนวนหนึ่ง ตั้งเต็นท์ ยึดพื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยเอาไว้ ในขณะที่นาง เนมัต ชาฟิก ประธานของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ขึ้นให้การต่อคณะกรรมการสภาคองเกรส เรื่องการรับมือการต่อต้านอิสราเอล ที่เกิดขึ้นหลังสงครามอุบัติ
วันต่อมา นางชาฟิกก็เรียกร้องให้สำนักงานตำรวจนิวยอร์ก เข้าสลายแคมป์ของผู้ชุมนุม นำไปสู่การจับกุมนักศึกษามากกว่า 100 คน แต่เหตุการณ์นี้ ทำให้แคมเปญ ‘ตั้งแคมป์แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับกาซา’ เกิดขึ้นตามมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในแคลิฟอร์เนีย, นิวยอร์ก, แมสซาชูเซตส์ และมิชิแกน ภายในเวลาไม่กี่วัน
จนถึงตอนนี้ มีนักศึกษาและผู้ประท้วงถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวมากกว่า 800 รายแล้ว โดยล่าสุดเมื่อวันเสาร์มีผู้ประท้วงถูกจับมากกว่า 200 ราย ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น, มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา, มหาวิทยาลัยอินเดียนา และมหาวิทยาลัยวอชิงตัน โดยส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว
ความต้องการของเหล่านักศึกษา
ตามที่ระบุไปข้างต้น ความต้องการของเหล่านักศึกษาแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบัน แต่ข้อเรียกร้องหลักที่มีร่วมกันคือ ต้องการให้มหาวิทยาลัยถอนการลงทุน (divestment) ออกจากบริษัท ที่เชื่อมโยงกับอิสราเอลหรือธุรกิจที่ได้รับกำไรจากการทำสงครามกับกลุ่มฮามาส
ข้อเรียกร้องร่วมอีกอย่างคือ ต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยเปิดเผยตัวเลขเงินลงทุน, ตัดความสัมพันธ์ด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยของอิสราเอล และสนับสนุนการหยุดยิงในกาซา
ที่บางมหาวิทยาลัย ผู้ประท้วงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนปกป้องเสรีภาพในการพูด และยกเว้นบทลงโทษแก่นักศึกษาที่ร่วมการประท้วง ส่วนที่มหาวิทยาลัย เซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ผู้ประท้วงต้องการให้เจ้าหน้าที่อภัยโทษทั้งหมด ให้แก่ ผู้ประท้วงที่ถูกควบคุมตัว
ที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ผู้ประท้วงต้องการให้ มหาวิทยาลัยชื่อดัง 8 แห่งของสหรัฐฯ หรือที่เรียกรวม ๆ ว่า ‘Ivy League’ ยุติการวิจัยอาวุธสงครามที่อาจถูกนำไปใช้ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย
ถอนการลงทุน ทำได้จริงหรือ?
อย่างไรก็ตาม การถอนการลงทุน ยังคงเป็นข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มผู้ประท้วง และเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุด
การถอนการลงทุน หรือ divestment คือการที่นักลงทุนหรือสถาบัน ขายหุ้นของตัวเองออกจากบริษัทใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกิจกรรมที่ถูกมองว่า ผิดศีลธรรมหรือสร้างความเสียหาย ซึ่งนอกจากจะนำทุนที่ถอนออกมาไปลงทุนในธุรกิจที่มีศีลธรรมมากกว่าแล้ว ยังสามารถสร้างแรกกดดันแก่บริษัทหรือรัฐบาล ให้เปลี่ยนแปลงนโยบายได้ด้วย
นักศึกษาในสหรัฐฯ ใช้วิธีนี้มาก่อนแล้ว โดยในช่วงทศวรรษที่ 1980 พวกเขาประสบความสำเร็จในการบีบมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ให้ถอนการลงทุนจากแอฟริกาใต้ ที่ตอนนั้นใช้มีนโยบายแบ่งแยกสีผิว และไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น ม.โคลัมเบียกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็ถอนการลงทุนจากธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลและเรือนจำเอกชนแล้ว
แต่การถอนการลงทุนเพื่อต่อต้านสงครามอิสราเอล-ฮามาส อาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินไปจนไม่สามารถทำได้ โดยนายมาร์ก ยูดอฟ ประธานเครือข่ายการต่อสู้เชิงวิชาการ (Academic Engagement Network) ซึ่งไม่สนับสนุนแนวคิดต่อต้านอิสราเอลในรั้วมหาวิทยาลัยมาตลอด เชื่อว่าการถอนการลงทุนจะไม่เกิดขึ้น
“ความจริงก็คือ บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะแยกได้ว่า ใครกำลังทำธุรกิจในอิสราเอล และพวกเขามีความสัมพันธ์กับสงครามอย่างไร” นายยูดอฟกล่าว และเสริมว่า เขาไม่เคยเห็นมหาวิทยาลัยได้ถอนการลงทุนจากอิสราเอลเลย แม้จะถูกกดดันมานานหลายปี
ขณะที่ ศ.โจนาธาน เมซีย์ จากโรงเรียนกฎหมาย ‘เยล’ เตือนว่า อุปสรรคสำคัญของการถอนการลงทุนก็คือ มหาวิทยาลัยใดที่สนับสนุนเรื่องนี้ จะถูกมองว่ากำลัง เห็นพ้อง หรือ สนับสนุนการทำลายรัฐอิสราเอลและพลเรือน ส่วนความเคลื่อนไหวที่สนับสนุนการประท้วง ก็อาจถูกมองว่าเป็นปรปักษ์และคุกคามนักเรียนมากมายกับเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน
เป้าหมายเชิงสัญลักษณ์
นอกจากนั้นยังมีการถกเถียงกันด้วยว่า การถอนการลงทุนจะมีประสิทธิผลมากแค่ไหน ปัญหาหนึ่งเลยคือ การขายหุ้นออกจากบริษัท หมายความว่ามหาวิทยาลัยจะสูญเสียอิทธิพลที่มีในบริษัทนั้น ๆ
ปัญหาอีกอย่างคือ ถึงแม้ว่ากองทุนมหาวิทยาลัยต่างๆ ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจรวมกันไม่ถึง 0.1% หลายบริษัทอาจไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำ ว่ามีมหาวิทยาลัยถอนการลงทุนออกไป “0.1% ไม่อาจขยับเขยื้อนอะไรได้มาก คนอื่นจะมาซื้อหุ้นนั้น แล้วชีวิตก็จะดำเนินต่อไป” แครี โครซินสกี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเยลกล่าว
แน่นอนว่า ผู้ประท้วงไม่ได้ผลักดันการถอนการลงทุนเพื่อโค่นล้มบริษัทอาวุธยักษ์ใหญ่อย่าง ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) หรือ เรย์เธียน (Raytheon) แต่พวกเขามองว่า หากทำให้เกิดการถอนลงทุนได้สำเร็จ คือชัยชนะเชิงสัญลักษณ์ของความยุติธรรมและความเท่าเทียม
แต่ก็มีผู้ประท้วงหลายคนที่เชื่อว่า ผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเงินของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้นคลุมเครือ และอาจมีความเกี่ยวข้องกับอิสราเอลมากกว่าที่ทางการรู้ พวกเขาจึงเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยเปิดเผยตัวเลขการลงทุนออกมา เพื่อความโปร่งใส
บทความโดย: ทิตชนม์ สว่างศรี
———————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 29 เม.ย. 2567
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2781710