เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว สื่อต่าง ๆ มักจะให้ความสนใจในเรื่องของความเสียหาย และซากอาคารที่เอนล้มจนแทบจะพังถล่มลงมา แต่จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง 7.2 ที่นอกชายฝั่งเมืองฮวาเหลียนของไต้หวัน อาคารที่พังถล่มที่ดูน่ากลัวที่เห็นผ่านสื่อ เป็นเพียงแค่ส่วนน้อยของอาคารที่ตั้งตระหง่านอยู่ทั่วไต้หวันเท่านั้น โดยพื้นที่ส่วนใหญ่กลับเข้าสู่ภาวะปกติเกือบทั้งหมดแล้ว อีกทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็มีเพียง 10 ราย ซึ่งนับเป็นความสูญเสียต่อชีวิตที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น แตกต่างจากประเทศตุรกี หรือซีเรียที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวความแรงในระดับเดียวกัน แต่กลับมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50,000 คน หลายฝ่ายจึงต้องมาถอดบทเรียนว่า ความสูญเสียที่ลดน้อยลงนั้นเกิดจากอะไร ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือ การเตรียมความพร้อมอย่างดีเยี่ยมของไต้หวัน หลังจากต้องเผชิญกับความสูญเสียจากภัยพิบัติเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง
ที่ผ่านมาไต้หวันต้องเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวเป็นประจำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบททางชายฝั่งตะวันออก ทำให้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมที่จะเข้าจัดการกับปัญหาในเวลาไม่นาน และรู้หน้าที่ของตัวเองที่ต้องประสานงานกับทางการทันที โดยจากเหตุการณ์ในเมืองฮวาเหลียนครั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว และใช้เวลาเพียงไม่ถึง 2 ชั่วโมงในการตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวในโรงเรียน เพื่อรองรับประชาชนอย่างน้อย 130 คนที่ต้องมาพักอาศัยชั่วคราว
นับตั้งแต่ปี 2018 ที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดความแรง 6.4 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ศพ ทางการท้องถิ่นก็ได้ประสานความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง กับรัฐบาลกลาง รวมทั้ง NGO เพื่อร่วมมือกันรับมือกับภัยพิบัติฉุกเฉินและบรรเทาสาธารณภัยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างในเหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและตำรวจพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ต่างร่วมมือกันทำงานเพื่อเร่งช่วยอพยพคนออกจากอาคารที่เสียหายอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงที่อาคารจะพังถล่มลงมาจากอาฟเตอร์ช็อก โดยทุกฝ่ายต่างประสานความร่วมมือกัน เพื่อจะลดความเสียหายลงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ทำไมไต้หวันถึงให้ความสำคัญกับเหตุแผ่นดินไหว
ไต้หวันมักจะเผชิญเหตุแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้งเนื่องจากตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น โดยส่วนใหญ่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะไปอยู่ในเขตชนบทที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีทั้งเทือกเขา รีสอร์ต บ่อน้ำร้อน และฟาร์มอันเงียบสงบ
เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดความรุนแรงและความสูญเสียครั้งใหญ่ในไต้หวัน คือ เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทางตอนใต้ของไต้หวันในปี 2016 ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ศพ และแผ่นดินไหวขนาด 7.3 เมื่อวันที่ 2 กันยายน ปี 1999 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงมากกว่า 2,000 คน ซึ่งเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นให้รัฐบาลไต้หวันต้องมีการทบทวนแก้ไขกฎหมายก่อสร้างอาคาร และเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายจัดการภัยพิบัติ และทุก ๆ วันที่ 21 กันยายนของทุกปี ไต้หวันจะมีการซ้อมรับมือเหตุแผ่นดินไหวทั้งระบบ งระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติ อย่างแผ่นดินไหว และสึนามิ ไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชน ขณะที่โรงเรียนที่อยู่โดยรอบเกาะจะร่วมกันซ้อมอพยพ
ไท่ หยุน ฟา วิศวกรโครงสร้าง ผู้บริหารของ ไต้หวัน อัลฟา เซฟ ผู้พัฒนาอุปกรณ์ก่อสร้างที่ทนต่อแรงสะเทือนได้ ระบุว่า แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการก่อสร้างอาคารโดยภาครัฐ ทั้งกำหนดให้ต้องใช้เหล็กเส้นที่หนาขึ้น หรือให้เพิ่มจำนวนเสาเข็ม เพื่อให้อาคารต่าง ๆ มีโครงสร้างที่สามารถรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวได้ แต่นักพัฒนาจำนวนไม่น้อยยังคงไม่ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ แต่ปรับแก้แค่พอให้ผ่านมาตรฐาน เพราะพวกเขายังคงให้ความสำคัญไปที่งบประมาณในการก่อสร้างที่ต้องต่ำที่สุด ทำให้มักจะไม่ได้คุณภาพที่ดีที่สุด
เรียนรู้จากบทเรียน
ดอนนา หวู่ รองผู้อำนวยการกลุ่มคริสเตียน เดอะ มัสตาร์ด ซี้ด มิชชั่น ในเมืองฮวาเหลียน ระบุว่า การรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวในปี 2018 ค่อนข้างล้มเหลว ขาดการประสานงานกัน ทำให้ปฏิบัติงานซ้ำซ้อน และทางการก็ได้บทเรียนจากครั้งนั้น ทำให้ครั้งนี้ทุกคนต่างรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง และแบ่งงานกันทำ
อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้ไต้หวันรับมือกับเหตุฉุกเฉินก็คือภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่มักจะมีความเคลื่อนไหวทั้งทางทหารและทางการเมืองเพื่อกดดันไต้หวันอยู่เนืองๆ โดยระบบการเตือนภัยแผ่นดินไหวที่ส่งการแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือภายในเวลา 2-8 วินาที เป็นระบบเดียวกับที่ใช้เตือนภัยเมื่อพบความเป็นไปได้ว่าจีนมีความเคลื่อนไหวที่จะโจมตีทางอากาศ โดยกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน ได้เริ่มเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจังในปี 2022 มีการติดตั้งเซนเซอร์รอบเกาะ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาความขัดข้องของระบบเตือนภัย หากเกิดภัยพิบัติขึ้นจริง โดยเฉพาะระบบอินเทอร์เน็ต
ส่วนเรื่องการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัย เมืองและเขตต่าง ๆ ของไต้หวัน จะมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยสแตนด์บายตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน เพื่อเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด รัฐบาลท้องถิ่นเมืองเกาสงทางตอนใต้ ได้ส่งหน่วยกู้ภัยไปยังเมืองฮวาเหลียน โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปยังฐานทัพอากาศในผิงถัง ก่อนจะขึ้นเครื่องของกองทัพอากาศไปยังพื้นที่ประสบภัย ซึ่งหน่วยกู้ภัยเหล่านี้ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในไต้หวันเท่านั้นแต่ยังเคยลงพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวในพื้นที่อื่น ๆ รอบโลก อย่าง เหตุแผ่นดินไหวใหญ่ในตุรกีเมื่อปีที่แล้ว
แซนดร้า อู๊ดเคิร์ก ผู้แทนสูงสุดของสหรัฐฯ ประจำไต้หวัน ได้โพสต์ข้อความยกย่องการรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวของไต้หวันในครั้งนี้ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยมองว่าเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จในการป้องกันภัยพิบัติทั่วโลก สามารถจัดการภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่สังคมโลกได้อย่างน่ายกย่อง
บทความโดย : อาจุมมาโอปอล
——————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 8 เม.ย.67
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2776520