สำนักข่าวหลายแห่ง วิเคราะห์ตรงกันว่า การโจมตีระลอกถัดไประหว่างอิสราเอลและอิหร่าน อาจเป็นโจมตีทางไซเบอร์ เช่น การขัดขวางโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในเมือง
การโจมตีตอบโต้ระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด หรือจะมีการปะทะกันอีกครั้งวันไหน ซึ่งหลังจากที่อิหร่านยิงขีปนาวุธใส่อิสราเอลเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา ล่าสุดมีสื่อหลายสำนักออกมาวิเคราะห์ อิสราเอลอาจจะโต้ตอบกลับอิหร่านในหลากหลายวิธี เช่น การโจมตีทางอากาศ วิธีทางการทูต การลอบสังหาร ฯลฯ รวมไปถึงอีกหนึ่งวิธีที่หลายสื่อเห็นตรงกันว่าอาจเกิดขึ้นได้ นั่นก็คือ การโจมตีทางไซเบอร์
ทั้งนี้กลุ่มแฮ็กเกอร์ของอิหร่าน อ้างว่าได้โจมตีระบบเรดาร์ของอิสราเอลประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนการยิงมิสไซล์เมื่อวันที่ 13 เมษายน แต่หน่วยงานไซเบอร์ของอิสราเอลบอกว่าระหว่างการโจมตีดังกล่าวนั้นไม่พบกิจกรรมทางออนไลน์ใด ๆ ที่ผิดปกติ อย่างไรก็ตาม แก๊บบี้ พอร์ตนอย (Gaby Portnoy) หัวหน้าคณะกรรมการไซเบอร์แห่งชาติอิสราเอล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อิหร่านพยายามในการโจมตีทางไซเบอร์อิสราเอลมากขึ้นถึง 3 เท่านับตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์โจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023
การโจมตีทางไซเบอร์ดังกล่าวไม่ใช่จุดเริ่มต้น โดยสำนักข่าวสัญชาติสหรัฐฯ อย่างฟอเรนจ์ โพลิซี (Foreign Policy) ชี้ว่าการโจมตีทางไซเบอร์ของอิสราเอลและอิหร่านมีร่องรอยมานานนับทศวรรษแล้ว อย่างเช่นในปี 2006 มีรายงานว่าอิสราเอลและสหรัฐฯ พัฒนาอาวุธไซเบอร์ที่ชื่อว่า สตักซ์เน็ต (Stuxnet) เพื่อทำลายระบบคอมพิวเตอร์ของโรงงานนิวเคลียร์นาทันซ์ (Natanz) ของอิหร่าน แม้สหรัฐฯ และอิสราเอลจะปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้สร้าง Stuxnet แต่สำนักข่าวหลายสำนักก็เชื่อว่าทั้ง 2 ประเทศนี้อยู่เบื้องหลัง ที่แม้แต่เดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) สำนักข่าวจากสหรัฐฯเอง ก็อ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ คนหนึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลว่าสหรัฐฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาอาวุธไซเบอร์นี้ด้วย
ซึ่งภายหลังจากที่ Stuxnet ถูกพบในปี 2010 มันก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้อิหร่านพัฒนาอาวุธไซเบอร์ของตัวเองบ้าง โดยได้ปรับโครงสร้างของ Stuxnet เพื่อสร้างมัลแวร์ของตัวเอง
ด้านชาร์ลส์ ไฟรลิช (Charles Freilich) อดีตรองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติอิสราเอล ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันการศึกษาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า “ทั้งอิสราเอลและอิหร่านเชื่อว่าการโจมตีทางไซเบอร์ดูเหมือนจะมีความรุนแรงน้อยกว่าการโจมตีทางกายภาพ แต่เชื่อว่าการโจมตีลักษณะนี้จะทำให้ฝั่งตรงข้ามลดการตอบโต้ลง” และไฟรลิชอธิบายเพิ่มเติมว่า หากมีการโจมตีทางไซเบอร์จริง อิสราเอลก็อาจจะมีมาตรการโจมตีทางไซเบอร์เช่นเดียวกับปฏิการณ์ทางการทหารอื่น ๆ
Foreign Policy ชี้ว่าสำหรับการโจมตีทางไซเบอร์นี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีขอบเขตการโจมตีที่กว้างขวาง ตั้งแต่การโจมตีที่มุ่งเป้าไปที่การรบกวนโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ไปจนถึงการทำลายโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2021 – 2023 ซึ่งกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า พรีดาทอรี่ สแปร์โรว (Predatory Sparrow) ของอิสราเอล ได้โจมตีเครือข่ายรถไฟของอิหร่านไปจนถึงโรงงานเหล็กและปั๊มน้ำมัน ทั้งนี้ อิสราเอลไม่เคยแสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการสำหรับการกระทำของกลุ่ม Predatory Sparrow แต่วิธีการโจมตีของกลุ่มดังกล่าว ถือว่ามีความสอดคล้องกับสิ่งที่อิสราเอลอาจต้องการทำในอนาคต ในแง่ของความสามารถในการก่อให้เกิดการหยุดชะงักครั้งใหญ่ในที่สาธารณะ โดยไม่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการวิเคราะห์และการคาดการณ์จากสำนักข่าวเท่านั้น คงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป ว่าการโจมตีระลอกใหม่ของทั้ง 2 ฝ่ายจะเกิดเมื่อไหร่ ด้วยวิธีการใด หรือจะมีฝ่ายไหนเข้ามาร่วมอีกหลังจากนี้
ที่มาข้อมูล Foreignpolicy, Reuters, Axios, NDTV
ที่มารูปภาพ Reuters
———————————————————
ที่มา : TNN Online / วันที่เผยแพร่ 19 เม.ย. 2567
Link : https://www.tnnthailand.com/news/tech/164711/