เป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก เมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศย้าย นางอองซาน ซูจี อดีตผู้นำพลเรือน รวมทั้ง อดีตประธานาธิบดี อู วินมิ้น ออกจากเรือนจำไปกักบริเวณในสถานที่ปลอดภัยอื่นแทน โดยให้เหตุผลเรื่องความเป็นห่วงสุขภาพของทั้งสองคน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเวลานี้ แต่หลายฝ่ายก็มองว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจจะเป็นเพียงการเดินเกมบางอย่างของรัฐบาลทหารของเมียนมาหรือไม่
นางอองซาน ซูจี และอู วินมิ้น เป็นผู้นำรัฐบาลชุดที่แล้วที่มีพรรค NLD เป็นแกนนำ แต่ถูก พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย นำกำลังออกมาทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยจนถึงวันนี้ นับเป็นเวลาถึงกว่า 3 ปีแล้ว ที่พวกเขาต้องสูญเสียอิสรภาพและถูกคุมขัง
โดยพลตรีซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารกล่าวว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและทั้งคู่อายุมากแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลและปกป้องบุคคลเหล่านี้มิ
ให้เกิดโรคลมแดดหรือภาวะฉุกเฉินจากความร้อน ซึ่งไม่เพียงเฉพาะนางซูจี และนายอู วินมิ้น เท่านั้น แต่นักโทษสูงอายุคนอื่น ๆ ก็ได้รับการดูแลด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีข่าวออกมา ก็มีแหล่งข่าวในเมียนมาอย่างน้อย 2 แหล่งที่ออกมาเปิดเผยว่านางซูจียังคงถูกคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำ แม้ว่าอาจจะไม่ได้อยู่ในห้องขังก็ตาม
ทำไมต้องย้ายเวลานี้?
การประกาศท่าทีดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่เมียนมากำลังฉลองเทศกาลปีใหม่ หรือเทศกาลติงจัน ซึ่งตามปกติแล้วมักจะมีการอภัยโทษให้แก่นักโทษอยู่แล้ว โดยมีรายงานว่าปีนี้ มีการอภัยโทษให้แก่นักโทษมากกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงที่กองทัพเมียนมากำลังต้องเผชิญหน้ากับการสู้รบอย่างหนักหน่วงจากกองกำลังชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ที่จับมือกับกองกำลังประชาชน หรือพีดีเอฟ กองกำลังของรัฐบาลเงา “เอกภาพแห่งชาติ” และมีหลายพื้นที่ที่กองทัพเมียนมาพ่ายแพ้ เสียพื้นที่ในความควบคุมไปแล้ว ทำให้นายคิม อริส ลูกชายของนางอองซาน ซูจี ระบุว่า แม่ของเขาอาจจะถูกนำไปใช้เพื่อเป็นโล่มนุษย์
เบื้องหลังของความเคลื่อนไหวครั้งนี้
โมเอ ตูซา จากสถาบันวิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจ และการเมืองระดับภูมิภาคเอเชียในสิงคโปร์ ระบุว่าจนถึงเวลานี้ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อนางซูจีที่อายุมากแล้ว เนื่องจากอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้น แต่เนื่องจากไม่มีการเปิดเผยสถานที่ที่แน่ชัด ว่ามีการย้ายนางซูจีไปที่ใด ก็ยิ่งทำให้เกิดการตั้งคำถาม
ขณะที่นักสังเกตการณ์ระบุว่าการย้ายนางซูจีอาจจะเกิดจากความเคลื่อนไหวด้านการทูตที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้มีนักการทูตระดับสูงหลายคนที่เข้าพบกับรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งรวมถึง นายดอน ปรมัตถวินัย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยก็เพิ่งได้เข้าพบกับนางซูจีเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
ขณะที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ก็มีการหารือทางการทูตระหว่างจีนและเมียนมา ซึ่งรวมถึงการพบปะหารือระหว่างนายเติ้ง ซีจุน ทูตพิเศษฝ่ายกิจการเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน กับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย อย่างไรก็ตาม จีนจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการย้ายนางซูจีออกจากคุกหรือไม่นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไบรอัน หว่อง แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เรื่องนี้จะเกี่ยวกับจีน เพราะจีนจะได้ประโยชน์อย่างมากในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา เพราะเหตุการณ์สู้รบและความไม่มั่นคงชายแดนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยตอนนี้รัฐบาลกรุงปักกิ่งแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าหมดความอดทนแล้ว และคาดหวังที่จะให้มิน อ่อง หล่าย เร่งแก้ไขปัญหาความมั่นคงนี้
ทำไมเรื่องนี้ถึงมีนัยสำคัญ?
ในช่วงระหว่างที่นางซูจีถูกคุมขัง มีรายงานว่านางซูจีมีอาการปวดเหงือกและฟัน และมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก การย้ายนางซูจีออกจากเรือนจำครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงท่าทีที่จริงใจจริงหรือไม่ แต่หลายฝ่ายก็ยังคงตั้งคำถาม และประชาคมระหว่างประเทศหรือภูมิภาคในวงกว้างก็ยังคงจับตาดูอย่างใกล้ชิด แต่แน่นอนว่าการที่นางซูจีได้ออกจากคุกมาควบคุมตัวในสถานที่อื่นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่ามาก
โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับเป็นการสะท้อนถึงท่าทีที่อ่อนลงของรัฐบาลทหารเมียนมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลทหารพม่าทำเป็นไม่ได้ยินเสียงเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ ให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และนายอู วินมิ้น แต่ท่าทีครั้งนี้ อาจเป็นการบอกใบ้ว่าอาจจะนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ในวันกองทัพเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็ใช้คำที่ดีขึ้นในการเอ่ยถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG แทนที่จะเรียกว่าเป็นผู้ก่อการร้ายดังที่เคยเอ่ยถึง และเมื่อช่วงต้นปี 2024 รัฐบาลทหารเมียนมา ก็ยังส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน หลังจากที่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมมาตลอด
จะเกิดอะไรขึ้นกับนางซูจี และเมียนมาต่อจากนี้
หนึ่งในผู้สังเกตการณ์นิรนาม บอกกับสำนักข่าว CNA ว่า เขาคาดหวังว่านางอองซาน ซูจีจะได้รับอนุญาตให้เข้าพบกับเจ้าหน้าที่จากจีน และจากไทยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และในการประชุมในระดับอาเซียนครั้งต่อๆ ไป โดยเฉพาะการประชุมอาเซียนในลาวเดือนกรกฎาคมนี้ ประเด็นเรื่องของสวัสดิภาพของนางซูจีจะกลายมาเป็นประเด็นที่ถูกนำมาพูดถึงกันมากขึ้นอย่างแน่นอน และนั่นจะเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลทหารเมียนมาจะแสดงออกให้โลกรู้ว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของนางซูจีจริง ๆ โดยนอกจากการเปิดทางให้นางซูจีได้พบกับฝ่ายต่าง ๆ แล้ว ยังพยายามดึงให้นางซูจีเข้ามาร่วมในแผนสร้างความปรองดองแห่งชาติด้วย รวมไปถึงการฟังเสียงเรียกร้องจากนานาชาติที่ขอให้ปล่อยตัวนางซูจีให้เป็นอิสระโดยเร็ว
บทความโดย: อาจุมมาโอปอล
ที่มา : DW, Channelnewsasia
———————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 24 เม.ย. 2567
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2780335