จีนกลับมาร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการส่งตัวผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่ยังติดค้างอยู่ในอเมริกากลับสู่มาตุภูมิ ท่ามกลางวิกฤตผู้อพยพผิดกฎหมายล้นทะลักเข้าสหรัฐฯ ผ่านชายแดนอันเป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นหนึ่งประเด็นสำคัญในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปีนี้
สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีว่า จีนจับมือกับสหรัฐฯ อย่างเงียบ ๆ ในการส่งกลับผู้อพยพผิดกฏหมายชาวจีน ที่ลักลอบเข้าเมืองผ่านบริเวณชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ หลังจากรัฐบาลปักกิ่งระงับแผนความร่วมมือดังกล่าวกับรัฐบาลวอชิงตัน เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2022 เพื่อตอบโต้การเยือนไต้หวันของ ส.ส.แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในตอนนั้น
นับตั้งแต่ความร่วมมือด้านการปราบปราบผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายระงับพับโครงการไปชั่วคราว สหรัฐฯ พบผู้อพยพจีนที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ (CBP) เมื่อปี 2023 ระบุว่าได้จับกุมพลเมืองจีนมากกว่า 37,000 คน ที่ชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าเมื่อปี 2022 เกือบ 10 เท่าตัว
ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีน เผยกับเอพีในสัปดาห์นี้ว่า รัฐบาลปักกิ่ง “ยินดีที่จะรักษาการเจรจาและความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายด้านคนเข้าเมืองกับสหรัฐฯ” และจะยอมรับพลเมืองจีนที่สหรัฐฯ ถูกส่งตัวกลับมายังจีน
การฟื้นฟูความร่วมมือด้านการปราบปรามผู้อพยพผิดกฎหมายของจีน-สหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากอเลฮานโดร มายอร์คาส (Alejandro Mayorkas) รัฐมนตรีว่ากระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐฯ (Homeland Security) กล่าวกับสื่อเอ็นบีซีเมื่อเดือนเมษายนว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีนกำลังหารือกันในประเด็นนี้
แอเรียล จี. รุซ โซโต นักวิเคราะห์อาวุโสด้านนโยบาย จาก Migration Policy Institute สถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า ในระยะสั้นการหารือดังกล่าวอาจเพิ่มจำนวนการส่งตัวผู้อพยพจีนกลับประเทศมากขึ้น แต่ผลกระทบที่แท้จริงต่อกระบวนการตัดสินใจด้านผู้อพยพนั้นขึ้นอยู่กับฝั่งสหรัฐฯ ในการพิจารณาเรื่องการส่งตัวผู้อพยพกลับ
โซโต กล่าวว่า “อย่างกรณีการหารือก่อนหน้านี้กับเวเนซุเอลา ไม่ได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการพิจารณาถอดถอนสิทธิ์การเข้าสหรัฐฯ มากเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นสิ่งที่ใช้เวลามากในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนำมาตรการเหล่านี้มาใช้”
สื่อเดอะนิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า พลเมืองสัญชาติจีน 100,000 คนยังคงอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ แม้ว่าพวกเขาจะได้รับหมายส่งตัวกลับประเทศแล้วก็ตาม
ขณะที่ในปีนี้ ทิศทางผู้อพยพจีนเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายผ่านชายแดนตอนใต้ของสหรัฐฯ เริ่มเบนลงมาในขาลง หลังจากพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน โดย CBP เผยว่า มีการจับกุมผู้อพยพสัญชาติจีนเกือบ 6,000 คนในเดือนธันวาคมปีก่อน และ 3,700 คนในเดือนมกราคม อีก 3,500 คนในเดือนกุมภาพันธ์ และกว่า 2,000 คนในเดือนมีนาคมปีนี้
นักวิเคราะห์อาวุโสด้านนโยบาย จาก Migration Policy Institute เพิ่มเติมว่า การบังคับใช้กฎหมายด้านวีซ่าและการควบคุมบริเวณชายแดนที่เข้มงวดขึ้น รวมทั้งการปิดกั้นข้อมูลด้านเส้นทางการอพยพโดยผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์ ล้วนมีผลต่อปริมาณผู้อพยพผิดกฎหมายจากจีนที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา
โซโต อธิบายว่า “เนื่องจากเทคโนโลยีได้ช่วยระบุวิถีทางที่ผู้อพยพจะเลือกเส้นทางเข้าเมืองในปัจจุบัน ไม่เหมือนกับในอดีตที่พวกเขาจะยึดถือตามความรู้และประสบการณ์ของเครือข่ายที่รู้จัก” และว่า “มีแนวโน้มว่าการปิดกั้นเนื้อหาเกี่ยวกับช่องทางการอพยพอย่างผิดกฎหมายได้ทำให้ยากที่จะเดินทางไปตามรอยในเส้นทางดังกล่าว”
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จีนมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “โจ่วเซี่ยน” (Zouxian) ซึ่งในภาษาจีนกลางหมายถึงการ “ตามรอย” ที่แปลความถึงเส้นทางผู้อพยพชาวจีนที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายมายังสหรัฐฯ จากเม็กซิโกและอเมริกาใต้ และแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์โต่วอิน (Douyin) ซึ่งคล้ายกับติ๊กตอกในจีน ได้พยายามสกัดเนื้อหาเกี่ยวกับ “โจ่วเซี่ยน” (Zouxian) อันเป็นหนึ่งในเนื้อหายอดนิยมบนโลกอินเตอร์เน็ตจีน และเป็นคำค้นหาสำหรับข้อมูลและเคล็ดลับในการตามรอยเส้นทางผู้อพยพย้ายถิ่น เพื่อหวังแก้ปัญหาดังกล่าว
เมื่อปีที่แล้ว รอยเตอร์รายงานว่าผู้อพยพชาวจีนที่ถูกพบที่บริเวณชายแดนตอนใต้สหรัฐฯ บอกว่าพวกเขาพบวิธีการอพยพนี้ผ่านทางโต่วอิน
หยาง อินหัว วัย 31 ปี บอกกับวีโอเอว่าตนไม่รู้ว่าคำว่า “โจ่วเซี่ยน” หมายถึงอะไรจนกระทั่งเมื่อช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว ที่เขารู้จักกับคำนี้ตอนที่อ่านข่าวเกี่ยวกับอันตรายของเส้นทางอพยพเหล่านี้ และพยายามค้นหาผ่านทางเสิร์ชเอ็นจินของจีน ไป่ตู้ (Baidu) แต่ไม่พบเนื้อหาที่มีประโยชน์เท่าใดนัก ก่อนที่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีคนที่เขาพบในอินเตอร์เน็ตชวนเข้าห้องแชทในโต่วอิน
ห้องแชทดังกล่าวมีสมาชิกที่แลกเปลี่ยนข้อมูลและเคล็ดลับในการ “ตามรอย” เข้าเมืองประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐฯ ที่หยางบอกว่าห้องแชทนี้มีผู้เข้าร่วมมากถึง 500 คนทีเดียว และเป็นหนึ่งในห้องแชท 6 ห้องที่สร้างขึ้นโดยบัญชีผู้ใช้ในชื่อ หยุนเฟย ซึ่งเป็นห้องแชทที่คนเข้าร่วมกันเต็มทุกห้องภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
หยางเล่าให้วีโอเอฟังว่า เมื่อครั้งที่แม่ของหยางเสียชีวิตโดยลำพังในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เขากล่าวหานโยบายโควิด-19 ของรัฐบาลจีน “ไม่มีใครที่มีชีวิตที่ดีเลยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้” และว่า “พรรครัฐบาลไม่ได้ทำให้คนรู้สึกมีความสุขเหมือนที่เคยเป็นมาเลย” และตัดสินใจว่าถึงเวลาที่ต้องไปจากบ้านเกิดแล้ว
หลังจากนั้น ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เขาวางแผนที่จะเดินทางมายังสหรัฐฯ ผ่านทางตุรกี เอกวาดอร์ และพรมแดนเม็กซิโก-สหรัฐฯ
แต่หยางเริ่มสังเกตเห็นว่าแพลตฟอร์มโต่วอิน เริ่มปิดกั้นเกี่ยวกับการตามรอยผู้อพยพมากขึ้น หยางและสมาชิกรายอื่น ๆ ในห้องแชทจึงเริ่มสร้างคำศัพท์ใหม่เพื่อให้บทสนทนาเรื่องนี้ยังไปต่อได้อยู่ เพราะแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์จีนเริ่มปิดกั้นเนื้อหาในคำค้นหาเหล่านี้แล้ว
ในช่วงปลายเดือนตุลาคม หยางเล่าว่า บัญชีหยุนเฟยลบวิดีโอทั้งหมดที่โพสต์เกี่ยวกับการเข้าสหรัฐฯ และโต่วอินระงับบัญชีของหยุนเฟยพร้อมกับปิดช้องแชททั้ง 6 ไปด้วย
หลังจากที่หยางอพยพจากจีนมาแล้ว เขายุติการใช้สื่อสังคมออนไลน์โต่วอิน และย้ายมาใช้สื่อสังคมออนไลน์เทเลแกรม ซึ่งเขาเข้าร่วมห้องแชทที่สร้างขึ้นโดยหยุนเฟยเช่นเคย แต่เมื่อเขาเข้าไปในห้องแชทนั้น หยุนเฟยกลับออกจากห้องแชทดังกล่าวไปแล้ว และผู้ควบคุมการสนทนา กลับกลายเป็นคนที่เขาเรียกว่า “ผู้รักชาติสีชมพูตัวน้อย” ที่สื่อถึงผู้ที่แสดงความเห็นสนับสนุนจีน
ส่วนในติ๊กตอก หรือโต่วอินเวอร์ชันต่างประเทศ ที่ไบต์แดนซ์เป็นเจ้าของ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์นี้เริ่มสังเกตเมื่อเดือนมกราคมว่าเนื้อหาการตามรอยผู้อพยพและเนื้อหาเกี่ยวกับชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ถูกปิดกั้นหมด และว่าเนื้อหาเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหรือเนื้อหาที่ละเมิดกฎชุมชนของติ๊กตอก
วีโอเอตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์โต่วอิน ในเดือนพฤษภาคม และพบว่า นอกเหนือจากการมีคลิปวิดีโอข่าวเกี่ยวกับผู้อพยพจีนที่เดินทางข้ามชายแดนสหรัฐฯ เข้ามาในจำนวนที่เหลืออยู่ไม่มากแล้ว คำว่า “โจ่วเซี่ยน” ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางอพยพใด ๆ เลย รวมทั้งการค้นหาคำว่า “เอกวาดอร์”, “กัวเตมาลา” และ “ปานามา” ก็ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเส้นทางผู้อพยพเหลืออยู่เช่นกัน
สำหรับผู้อพยพจีนหลายคน โต่วอินเคยเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่เหลืออยู่สำหรับเส้นทางอพยพ เนื่องจากจีนปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊ก ยูทูบ และเอ็กซ์ ในประเทศ
ทางวีโอเอติดต่อไปยังบริษัทไบต์แดนซ์ เพื่อขอความเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบกลับในช่วงเวลาที่รายงานข่าวชิ้นนี้
หวัง ยาโช ผู้อำนวยการจีน ฮ่องกง และไต้หวัน แห่ง Freedom House ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่าปรากฏการณ์โจ่วเซี่ยนนี้ ได้สะท้อนถึงความไม่พอใจรัฐบาลปักกิ่งของชาวจีน และอธิบายว่าทำไมถึงมีการกวาดล้างเนื้อหาดังกล่าวบนโต่วอินของรัฐบาลจีน
ยาโช ให้ทัศนะกับวีโอเอผ่านอีเมลว่า “ฉันคิดว่าซีซีพี [พรรคคอมมิวนิสต์จีน] รู้สึกอับอายว่าชาวจีนจำนวนมากต้องการหนีจากประเทศแม้ว่าจะต้องใช้วิธีเสี่ยงภัยก็ตาม มันเปิดโปงโฆษณาชวนเชื่อของซีซีพีเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนและชีวิตที่ดีของผู้คนในจีนว่าเป็นการหลอกลวงทั้งเพ”
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีรายงานการพบศพผู้อพยพสัญชาติจีน 8 คน เกยหาดทางตอนใต้ของเม็กซิโก หลังจากเหตุเรืออับปาง
และแม้ว่าจีนจะพยายามปิดกั้นเนื้อหาเกี่ยวกับเส้นทางการอพยพ หยางก็สามารถหลบหนีการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ชายแดนเข้ามายังสหรัฐฯ ได้ในช่วงต้นเดือนธันวาคม พร้อมกับน้องสาวของเขา เขาใช้ชีวิตอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ทำงานอยู่ในโรงงาน และไม่มีความปรารถนาที่จะกลับไปยังบ้านเกิดอย่างจีนอีกต่อไป
ที่มา: วีโอเอ
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : VOAThai / วันที่เผยแพร่ 13 พ.ค.67
Link : https://www.voathai.com/a/china-resumes-cooperating-with-us-on-illegal-migration/7608174.html