นักเรียนไม่มีทะเบียนราษฎร ไม่มีสัญชาติไทย ทำอย่างไรจะได้เรียนหนังสือ? สพฐ. แจงแนวปฎิบัติรับนักเรียน รับเด็กต่างด้าวเข้าเรียน ให้มีการศึกษา ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ไม่เก็บค่าใช้จ่าย ย้ำเด็กทุกคนที่อาศัยในประเทศไทยมีสิทธิ “โอกาสศึกษา” เข้าเรียนเสมอภาค
สพฐ. แจงแนวปฎิบัติรับนักเรียน รับเด็กต่างด้าวเข้าเรียน ให้มีการศึกษา ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ย้ำเด็กทุกคนที่อาศัยในประเทศไทยมีสิทธิ “โอกาสศึกษา” เข้าเรียนอย่างเสมอภาค
นักเรียนไม่มีทะเบียนราษฎร ไม่มีสัญชาติไทย ทำอย่างไรจะได้เรียนหนังสือ?
นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ในฐานะรองโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองโฆษก สพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ชี้แจงทำความเข้าใจกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกหนังสือเรื่องกำชับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย แจ้งถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขตนั้น
เนื่องด้วยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ สพฐ. ต้องการออกหนังสือเพื่อซักซ้อมความเข้าใจและแสวงหาวิธีการในการรับนักเรียนเพื่อให้เด็กทุกคนที่อาศัยในผืนแผ่นดินไทยได้มีสิทธิและโอกาสเข้าเรียนอย่างเสมอภาค และไม่ได้มีเจตนาริดรอนสิทธิหรือปิดกั้นโอกาสนักเรียนในการเข้าถึงการศึกษาแต่อย่างใด
แต่ในทางกลับกันการออกหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการซักซ้อมความเข้าใจถึงวิธีการที่ถูกต้องในการส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้เด็กไทยทุกคนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือมีสัญชาติไทยได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
แนวปฎิบัติรับนักเรียน รับเด็กต่างด้าวเข้าเรียน ทำอย่างไรจะได้เรียนหนังสือ?
– นางภัทริยาวรรณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย หรือเด็กต่างด้าวเข้าเรียน ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย สามารถสรุปได้ว่า
– เด็กที่อายุไม่เกิน 18 ปี ที่อยู่ในเขตอำนาจของรัฐไทย ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน โดยห้ามเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุเชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น ต้นกำเนิดทางชาติ ชาติพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิดหรือสถานะอื่น ๆ ของเด็ก
– เด็กต้องได้รับการรับรองสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
– การได้รับสิทธิตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพตามแนวนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษาที่จัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
หลักเกณฑ์รับนักเรียนไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เข้าเรียนต้องทำอย่างไร?
การรับนักเรียนกรณีที่นักเรียนไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการรับนักเรียน นักศึกษา เข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 6 การรับนักเรียน นักศึกษา ในกรณีที่ไม่เคยเข้าเรียนในสถานศึกษามาก่อน ให้สถานศึกษาเรียกหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งตามลำดับ เพื่อนำมาลงหลักฐานทางการศึกษา ดังต่อไปนี้
1.) สูติบัตร
2.) กรณีไม่มีหลักฐาน ให้เรียกหนังสือรับรองการเกิด บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบัตรทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน หรือหลักฐานที่ทางราชการจัดทำขึ้นในลักษณะเดียวกัน
3.) ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานตาม ข้อ 1 และ 2 ให้เรียกหลักฐานที่ทางราชการออกให้ หรือเอกสารตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้ได้ เช่น ทะเบียนประวัติของผู้ติดตาม ท.ร. 1/1 หนังสือรับรองการเกิด เพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะ ทางทะเบียนราษฎร เป็นต้น
4.) ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานตาม ข้อ 1, 2 และ 3 ให้บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือองค์กรเอกชน ทำบันทึกแจ้งประวัติบุคคล เป็นหลักฐานที่จะนำมาลงหลักฐานทางการศึกษา
5.) ในกรณีที่ไม่มีบุคคลหรือองค์กรเอกชนตามข้อ 4 ให้ซักถามประวัติบุคคลผู้มาสมัครเรียน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำลงรายงานบันทึกแจ้งประวัติบุคคล เป็นหลักฐานที่จะนำมาลงหลักฐานทางการศึกษาได้
“สพฐ. มีความห่วงใยเด็กและเยาวชนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วน จึงได้กำชับหน่วยงานในสังกัดให้ดำเนินการรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ให้เป็นไปตามระเบียบ/ประกาศ/แนวปฏิบัติของส่วนราชการ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด
เพื่อให้เด็กทุกคนที่อาศัยในผืนแผ่นดินไทยได้มีสิทธิและโอกาสเข้าเรียนอย่างเสมอภาค ทั่วถึงและเท่าเทียม” รองโฆษก สพฐ. กล่าว
———————————————————
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 24 เม.ย. 2567
Link :https://www.bangkokbiznews.com/health/education/1123549