สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นางซอนยา ลาการ์ด นายกเทศมนตรีกรุงนูเมอา นิวแคลิโดเนีย ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิก เปิดเผยว่า สถานการณ์ในกรุงนูเมอา ยังคงตึงเครียด หลังเหตุจลาจลมาหลายวันนับแต่วันที่ 13 พ.ค.มีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย อายุ 17-36 ปี ในจำนวนนี้ รวมถึงตำรวจ 2 นาย และมีผู้บาดเจ็บอีก 2 คน โดยผู้ประท้วงบุกเผาอาคารสาธารณะหลายแห่ง
แม้จะมีการส่งกำลังตำรวจหลายร้อยนายเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยในกรุงนูเมอา แต่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้เข้าสู่ความสงบเรียบร้อยได้ ยังคงมีการยิงปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วง ซึ่งปิดถนนประท้วงในแถบตอนเหนือของเมืองหลวงเมื่อวานนี้
นายเจอรัลด์ ดาร์มาแนง รัฐมนตรีความมั่นคงภายในของฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ตำรวจฝรั่งเศสได้ปฏิบัติการครั้งใหญ่เพื่อขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ประท้วงที่บริเวณทางหลวงหมายเลข 1 ซึ่งเป็นถนนสายหลัก เชื่อมระหว่างกรุงนูเมอากับท่าอากาศยานนานาชาติ
จุดเริ่มต้นของเหตุจลาจลในนิวแคลิโดเนียในครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสในกรุงปารีสลงมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการลงคะแนนเสียงของชาวนิวแคลิโดเนีย อนุญาตให้พลเมืองฝรั่งเศสที่มีที่พักอาศัยประจำอยู่ในนิวแคลิโดเนีย มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น สร้างความไม่พอใจให้กับชนเผ่าคานัค ที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราช มองว่า เป็นการลดทอนสิทธิการออกเสียงตามระบอบประชาธิปไตยของชนพื้นเมือง
สำหรับนิวแคลิโดเนีย ตั้งอยู่ระหว่างฟิจิกับออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในดินแดนโพ้นทะเลไม่กี่แห่งในโลกที่ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของฝรั่งเศส แม้ผ่านพ้นยุคอาณานิคมมาหลายปี โดยชาวนิวแคลิโดเนียส่วนใหญ่ลงประชามติครั้งล่าสุด เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ยืนยันว่า ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสต่อไป
สารวัตรทหารฝรั่งเศสลงพื้นที่นิวแคลิโดเนีย ฟื้นคืนความสงบจากเหตุจลาจล
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนูเมอา ดินแดนนิวแคลิโดเนีย เมื่อวันที่ 19 พ.ค.สำนักงานข้าหลวงแห่งดินแดนนิวแคลิโดเนียออกแถลงการณ์ ว่าสารวัตรทหารฝรั่งเศส 600 นาย พร้อมอาวุธครบมือ กระจายกำลังลงพื้นที่ “ฟื้นฟูความสงบ” บนทางหลวงหมายเลข 1 ซึ่งเป็นถนนสายหลัก เชื่อมระหว่างกรุงนูเมอากับท่าอากาศยานนานาชาติ
ทั้งนี้ นิวแคลิโดเนียเผชิญกับเหตุจลาจลครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน
ชนวนเหตุของความวุ่นวายครั้งนี้ มาจากการที่สภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส ปรับเปลี่ยนกฎการลงคะแนนเสียง ของชาวนิวแคลิโดเนีย ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์คานัค ที่เคลื่อนไหวต้องการเอกราช มองว่าเป็นการลดทอนสิทธิการออกเสียง ตามระบอบประชาธิปไตย
ขณะที่เพียงไม่กี่วัน หลังการจลาจลเริ่มขึ้น ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงการออกคำสั่งเคอร์ฟิว นอกจากนี้ มาครงเรียกร้องการเจรจาระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายกาเบรียล อัตตาล นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินรวมถึง “การแบนติ๊กต็อก” เนื่องจากเป็นโซเชียลมีเดียที่ใช้งานโดย “กลุ่มผู้ก่อการจลาจล”
นิวแคลิโดเนีย ตั้งอยู่ระหว่างฟิจิกับออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในดินแดนไม่กี่แห่งบนโลก ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศส แม้ผ่านพ้นยุคอาณานิคม โดยชาวนิวแคลิโดเนียลงประชามติครั้งล่าสุด เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ยืนยันว่า ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสต่อไป
อนึ่ง รัฐบาลกลางในกรุงปารีสซึ่งปกครองดินแดนนิวแคลิโดเนีย ตั้งแต่ปี 2396 จัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กับรัฐบาลนูเมอาปีละ 1,500 ล้านยูโรในปัจจุบัน ( ราว 59,331.44 ล้านบาท ) คิดเป็นมากกว่า 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของนิวแคลิโดเนีย และกองทัพฝรั่งเศสยังตั้งฐานทัพที่นี่ด้วย
เครดิตภาพ : AFP
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 16 พ.ค.67 ปรับปรุง: 17 พ.ค.67
Link : https://mgronline.com/indochina/detail/9670000042418