แรงงาน นักเคลื่อนไหว และผู้คนในเอเชียและยุโรป ออกมาเดินขบวนในวันพุธ เนื่องในวันแรงงานสากล เพื่อออกมาเรียกร้องเรื่องปัญหาต้นทุนค่าครองชีพสูง นโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลแต่ละประเทศ และเรียกร้องสิทธิแรงงานที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
หลายประเทศทั่วโลกออกมาเคลื่อนไหววันแรงงานสากล ที่ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้แสดงทัศนะด้านเศรษฐกิจ การเมือง และเรียกร้องสิทธิของแรงงานในวันนี้ทุกปี
ที่นครอิสตันบูล ตำรวจนำแผงกั้นและปิดล้อมทุกเส้นทางเข้าออกพื้นที่ใจกลางนคร เช่นเดียวกับระบบขนส่งมวลชนที่เข้าถึงพื้นที่จัตุรัสทักซิมที่ถูกจำกัดในวันแรงงาน แต่มีรายงานว่าตำรวจควบคุมตัวผู้ประท้วง 30 คน ที่พยายามทำลายแผงกั้นเข้าไปชุมนุมที่จัตุรัสทักซิม อันเป็นสัญลักษณ์ของสหภาพแรงงานในตุรกี
โดยรัฐบาลตุรกีห้ามการประท้วงในพื้นที่ดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะเมื่อย้อนไปในปี 1977 มือปืนเปิดฉากยิงกราดในวันแรงงานที่พื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกิดเหตุเหยียบกันตายคร่า 34 ชีวิต ทำให้ในวันแรงงานปีนี้ มีผู้คนที่เป็นตัวแทนสหภาพการค้าเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ที่สามารถเข้าไปวางพวงหรีดที่อนุสรณ์สถานรำลึกถึงเหยื่อในเหตุการณ์ดังกล่าวที่จัตุรัสแห่งนี้
ส่วนที่อินโดนีเซีย แรงงานราว 50,000 คน จากโบกอร์ เดป็อก ตังเกรัง และเบกาซี ออกมาเดินขบวนในกรุงจาการ์ตา เพื่อแสดงความไม่พอใจในกฎหมายใหม่ Job Creation Law ที่ละเมิดสิทธิและกระทบสวัสดิภาพแรงงาน พร้อมเรียกร้องให้มีการปกป้องแรงงานข้ามชาติและปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามการเปิดเผยของประธานสมาพันธ์สหภาพอินโดนีเซีย ซาอิด อิคบัล โดยการประท้วงมีการควบคุมโดยตำรวจอย่างเข้มงวด
ขยับไปที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ประชาชนหลายพันชีวิตออกมาร้องเพลง โบกธง และตะโกนคำขวัญสนับสนุนแรงงานในการเดินขบวนทั่วเมืองหลวงเกาหลีใต้ และอีก 10 พื้นที่ทั่วประเทศ เมื่อวันพุธ โดยทางสมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลีใต้ KCTU ผู้จัดการชุมนุมได้ออกมาคัดค้านนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลสายอนุรักษ์นิยมใต้การนำของประธานาธิบดียูน ซุก ยอล
ก่อนหน้านี้ ทาง KCTU ออกมาประณามการยับยั้งร่างกฎหมายมุ่งเป้าการจำกัดสิทธิ์ของบริษัทขอค่าชดเชยความเสียหายจากการประท้วงของสหภาพแรงงาน และการจัดการกับผู้ประท้วงอย่างรุนแรงเมื่อปี 2022 ของรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดปัจจุบัน
ทางปธน.ยูน ที่ผลักดันการปฏิรูปแรงงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างตำแหน่งงานใหม่ เดินหน้าจัดการกับการประท้วงที่ผิดกฎหมาย และเรียกร้องให้มีความโปร่งใสในหมู่สหภาพแรงงาน มีข้อความเนื่องในวันแรงงานโพสต์ทางเฟซบุ๊กด้วยว่า “การเติบโตของเกาหลีใต้มาจากหยาดเหงื่อและความมุ่งมั่นของแรงงานของเรา ผมขอขอบคุณแรงงาน 28.4 ล้านคนนี้ … รัฐบาลและผมจะปกป้องคุณค่าของเหล่าแรงงานไว้”
ที่ญี่ปุ่น ผู้คนมากกว่า 10,000 คนรวมตัวกันที่สวนโยโยกิ ในกรุงโตเกียว เพื่อชุมนุมในวันแรงงาน เรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงและชดเชยต้นทุนค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนที่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ แรงงานหลายร้อยชีวิต คนขับรถสองแถว และนักเคลื่อนไหวแนวคิดเสรีนิยมในประเทศ ฝ่าอากาศร้อนจัดมาชุมนุมเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงและเพิ่มความมั่นคงในหน้าที่การงานให้มากกว่าขึ้นที่เป็นอยู่ ท่ามกลางวิกฤตราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงในประเทศ โดยมีตำรวจปราบจลาจลเข้าควบคุมฝูงชนที่มุ่งหน้าเข้าใกล้ทำเนียบประธานาธิบดีในวันพุธ
ตุรกีประท้วงเดือดวันแรงงาน ตร.ใช้แก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุม รวบผู้ก่อเหตุรุนแรง 210 คน
ตำรวจตุรกีจับกุมผู้ประท้วง 210 คน ที่ออกมาประท้วงวันแรงงานในนครอิสตันบูล พร้อมระดมกำลังตำรวจกว่า 40,000 คนวางกำลังคุมเข้ม และใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม หลังจากสั่งห้ามการประท้วงในจัตุรัสทักซิม
สำนักข่าวอัลจาซีราห์ รายงานว่า มีผู้ประท้วงหลายหมื่นคนฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมออกมารวมตัวกันที่จัตุรัสทักซิมในนครอิสตันบูล ของตุรกี หรือตุรเคีย ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ซึ่งตรงกับวันแรงงาน ส่งผลให้ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วงที่พยายามบุกรุกฝ่าสิ่งกีดขวางเพื่อเข้าไปยังจัตุรัสทักซิม
นายอาลี เยร์ลิคายา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 210 คน ในข้อหาขัดคำสั่งห้ามของรัฐบาลในการออกมาประท้วงวันแรงงาน โดยในวันแรงงานมีตำรวจมากกว่า 40,000 คนลาดตระเวนกระจายอยู่ทั่วเมืองอิสตันบูล ตำรวจใช้แผงโลหะปิดกั้นถนนและซอกซอยต่างๆ บริเวณรอบจัตุรัสแห่งนี้ ซึ่งเคยเป็นจุดรวมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีเรเจป เทย์ยิป ไตยิป แอร์โดอัน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลของประธานาธิบดีแอร์โดอัน ได้ประกาศห้ามไม่ให้มีการชุมนุมประท้วงและเดินขบวนในพื้นที่จัตุรัสทักซิม ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่พรรคการเมืองและสหภาพแรงงานบางพรรคได้ให้คำมั่นว่ารวบรวมผู้สนับสนุนเดินขบวนไปยังจัตุรัสทักซิม ซึ่งถือเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์ของสหภาพแรงงาน
———————————————————
ที่มา : VoAThai , ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 1,2 พ.ค. 2567
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2782556