เสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหว ดังไปทั่วบริเวณถนนเพชรเกษม เมื่อช่วงสายวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่เพียงสร้างความตกใจให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในย่านซอยเพชรเกษม 77/8 แยก 3 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กทม. อย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิดความโกลาหล เมื่อมองเห็นเปลวไฟลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็ว
จุดเกิดเหตุเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ 2 ชั้นหลัง แต่สิ่งที่ทำให้หลายคนต้องประหวั่นพรั่นพรึง คือ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพบว่า ภายในบ้านหลังดังกล่าว ถูกใช้เป็นที่เก็บถังก๊าซรวมทั้งสิ้น 71 ถัง
เป็นถังออกซิเจน จำนวน 37 ถัง, ถังคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 16 ถัง และถังบรรจุแก๊สอะเซทิลีนอีก 18 ถัง
แม้เบื้องต้นเจ้าของบ้าน จะอ้างว่า ได้ใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่พักถังก๊าซ หรือ “ถังเปล่า” ที่รับมาจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยนำมาเก็บเอาไว้เพื่อเตรียมนำไปบรรจุ “สารเคมี” ก่อนส่งกลับไปยังโรงงานอุตสาหกรรม และยอมรับว่า ครอบครัวได้ทำกิจการดังกล่าวมานานกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม
แต่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น จากถังที่บรรจุแก๊สอะเซทิลีน ซึ่งเป็นสารเคมี ที่ใช้สำหรับเชื่อมโลหะในภาคอุตสาหกรรมระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และหากไม่มีการป้องกันหรือมีมาตรการดูแลความปลอดภัยอย่างรัดกุม อีกไม่นานวงรอบโศกสลดนี้อาจเกิดซ้ำรอยอีก
11 ปี ระเบิด 4 ครั้ง “ถังก๊าชเก่า-ใช้ซ้ำ”
นางมณีวรรณ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตหนองแขม บอกว่า บ้านต้นเหตุ ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดเก็บทางเคมีตามกฎหมาย นอกจากนี้ ถังก๊าซถูกนำมาเก็บไว้ มีสภาพเก่าและอาจมีการใช้ซ้ำ
“และเหตุการณ์ถังก๊าซระเบิดในครัวเรือน ซึ่งอยู่ในย่านชุมชน เคยเกิดเหตุการณ์ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 – 2567 มาแล้วถึง 4 ครั้ง”
ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกกังวลกับการที่มีสถานประกอบกิจการลักษณะนี้มาเปิดในชุมชน แต่ผู้ประกอบการอ้างว่า ถังที่นำมาพักไว้ในบ้านเป็นถังเปล่า ทำให้รู้สึกวางใจกระทั่งเกิดอุบัติเหตุขึ้น
“อยากให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบโดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทหน้าที่หลักในการกำกับดูแลด้วย”
ช่องว่าง กม.เก็บ “ถังก๊าซอื่น” ไม่ต้องขออนุญาต
นายอนุรักษ์ ชัยวิเชียร นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการพิเศษ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม อธิบายขั้นตอนการตรวจสอบมาตรฐานถังก๊าซ ชนิดต่าง ๆ ของประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีการแบ่งเป็น 2 ประเภท
กล่าวคือ มาตรฐานบังคับ จะใช้กับการควบคุมดูแลมาตรฐานถังก๊าซปิโตรเลียมและก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ ซึ่งผู้ประกอบการหรือบริษัทผู้ผลิต และนำเข้า ต้องขออนุญาต หรือทำตามข้อกำหนด ด้านความปลอดภัย หากละเลยต้องถูกดำเนินคดี และข้อกำหนดที่นำมาใช้ควบคุมนั้นจะเริ่มตั้งกระบวนการผลิตถังและการบรรจุก๊าซลงในถัง
โดย สมอ.จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดและมีการตรวจอายุการใช้งานทุกปี ทำให้มีฐานข้อมูลและเป็นไปได้ยากที่ผู้ประกอบการจะนำถังเก่าหรือไม่ได้มาตรฐานกลับมาวนใช้จนก่อให้เกิดความเสี่ยงอันตราย
ส่วนประเภทที่สอง เป็นมาตรฐานทั่วไป เช่นผู้ประกอบการ บรรจุ ถังก๊าซออกซิเจน เพื่ออุตสาหกรรม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอะเซทีลีน
“สำหรับบ้านที่เกิดเหตุ ถังก๊าชระเบิดอยู่ในข่ายนี้ ซึ่งผู้ประกอบการผลิต หรือมีไว้ในครอบครอง จะแจ้งขออนุญาตหรือไม่แจ้งก็ได้”
นักวิชาการจาก สมอ.ยังบอกอีกว่า ในกรณีผู้ประกอบการมีการแจ้งประกอบกิจการมาที่ สมอ. ทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบ โดยยึดแนวทางตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานที่เกี่ยวกับการผลิต การเก็บ การบรรจุ การใช้และการขนส่งก๊าซ พ.ศ.2548 ซึ่งจะมีการเข้าไปตรวจสอบคุณภาพของถังก๊าซทุก ๆ 5 ปี
และจะมีการตรวจสอบรูปแบบการประกอบกิจการว่า มีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานหรือพื้นที่โดยรอบสถานประกอบการหรือไม่
แต่หากผู้ประกอบการจะไม่แจ้ง ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากการขออนุญาตสำหรับมาตรฐานทั่วไปนั้น เป็นเรื่องของความสมัครใจ
จุดนี้อาจกลายเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ประกอบกิจการแบบไม่คำนึงถึงความปลอดภัย และมีการนำถังที่ไม่ได้มาตรฐาน มีสภาพชำรุดทรุดโทรมกลับมาใช้ซ้ำ
“ยอมรับว่า ปัจจุบัน สมอ.ยังไม่มีอำนาจหรืออาวุธที่จะนำมาบังคับใช้เพื่อเอาผิดกับผู้ประกอบการลักษณะนี้ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีสถานประกอบกิจการที่เข้าข่ายทำให้เกิดความเสี่ยงกับชุมชนและพื้นที่โดยรอบมากน้อยเพียงใด”
ถอดบทเรียนแก้ กม.ใช้ “มาตรฐานบังคับ”
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุ ทาง สมอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุและสำรวจเศษซากความเสียหายของถังก๊าซที่เกิดระเบิด พบว่า มีสภาพเก่าคาดว่าจะถูกนำมาใช้งานเป็นเวลานาน
โดยทีมงานของ สมอ.ระบุว่า จะนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นกรณีศึกษาสำหรับพิจารณาผลกระทบด้านความปลอดภัยและเศรษฐกิจ เพื่อทบทวนแนวทางการตรวจสอบถังก๊าซทุกประเภทที่เข้าข่ายเป็นอันตรายและอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ให้เปลี่ยนจากมาตรฐานทั่วไปเป็นมาตรฐานบังคับต่อไป
บทความโดย: พลอยพรรณ คล่องแคล่ว ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : Thai PBS / วันที่เผยแพร่ 25 พ.ค. 2567
Link : https://www.thaipbs.or.th/news/content/340368