SHORT CUT
• ระบบปฎิบัติการ HarmonyOS จาก Huawei ที่เดิมถูกเปิดตัวเพื่อใช้กับโทรศัพท์มือถือหลังถูกสหรัฐฯแบน
• เวลาผ่านไปไม่กี่ปี จากระบบปฎิบัติการในมือถือ ก้าวมาสู่ระบบปฎิบัติการในรถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าของรถ
• จากการแบนเพราะสงครามการค้า จากข้อกังวลเรื่อง ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของสหรัฐฯ ได้สร้างคู่แข่งที่น่ากลัวอีกรายหนึ่งขึ้นมาแทน
รู้จัก HarmonyOS ระบบปฎิบัติการโทรศัพท์มือถือที่ใช้กับรถได้ จาก Huawei ที่สหรัฐแบน อาจกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจีนเหนือกว่า ?
HarmonyOS คือ ระบบปฎิบัติการที่พัฒนาโดย Huawei ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสัญชาติจีน เดิมทีมันถูกออกแบบให้เริ่มต้นใช้งานในโทรศัพท์มือถือ เปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2019 หรือ 3 เดือน หลังจากถูกสหรัฐฯ แบน เนื่องจากสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐฯและจีน โดยอ้างว่าต้องแบนเพราะเหตุผลด้านความมั่นคงไซเบอร์ และหลังจากนั้นระบบนี้ถูกต่อยอดไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ ของ หัวเว่ย เช่น คอมพิวเตอร์และยานยนต์บนท้องถนน
พออ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าคุณตกใจว่า ระบบปฎิบัติการแบบ Android หรือ iOS แต่เป็นของหัวเว่ย ชื่อ HarmonyOS ถูกนำมาใช้กับรถเนี่ยนะ ? คุณเข้าใจถูกแล้ว เพราะระบบนี้ ถูกนำมาปรับใช้กับรถยนต์สัญชาติจีน โดยย้อนกลับไปในปี 2021 นายหวัง จุน ผู้บริหารอาวุโสของธุรกิจรถยนต์อัจฉริยะของหัวเว่ย ระบุว่าได้มีดีลกับค่ายรถหลายเจ้าเพื่อนำระบบปฎิบัติการของหัวเว่ยไปปรับใช้
ต่อมาไม่นาน หัวเว่ยก็เปิดตัว HUAWEI AITO M7 ซึ่งเป้นการร่วมมือกับค่ายรถยี่ห้อ AITO ที่ใช้ระบบปฎิบัติการ HarmonyOS และแอปฯ ต่าง ๆ ที่โหลดผ่าน Huawei AppGallery ลงหน้าจอ Infotainment ได้เหมือนใช้โทรศัพท์มือถือ
HUAWEI AITO M7 ในร้านของ Huawei ที่นครหางโจว ประเทศจีน
นี่แสดงให้เห็นว่า Huawei มองตัวเองไปไกลมากกว่าแค่ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม โดยเฉพาะในศึกสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐฯ และจีน เพราะหาก Huawei ไม่สามารถส่งเทคโนโลยีไปขายในสหรัฐฯ ที่มีประชากรกว่า 300 คนได้ และไม่สามารถขายแค่ฮาร์ดแวร์อย่างเดียวแล้วหวังพึ่งพา Google บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ที่เป็นผู้พัฒนาระบบปฎิบัติการ Android ได้เพราะการแบนของรัฐบาลสหรัฐฯ จึงเป็นแรงผลักให้หัวเว่ยเป็นคู่แข่งสัญชาติจีนที่น่ากลัวมากยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาระบบปฎิบัติการขึ้นมาเอง พร้อมแท็กทีมผู้ประกอบการจีน ตีกลับในสงครามการค้านี้
HarmonyOS แตกต่างจาก Android Auto และ Apple CarPlay ตรงที่มันติดตั้งมาพร้อมกับรถ ดังนั้นจึงมีแต้มต่อมากกว่าแค่แอปฯ ที่โชว์หน้าตาของตัวเองทับจอภายในรถอีกที นั่นหมายความว่าวันหนึ่ง ระบบปฎิบัติการนี้จะสามารถใช้ในรถยนต์ไร้คนขับได้และจะฉลาดกว่าเทคโนโลยีของตะวันตก
HUAWEI AITO M7 ในร้านของ Huawei ที่นครหางโจว ประเทศจีน
ย้อนกลับไปในโลกของยานยนต์ ระบบปฎิบัติการและระบบ Infotainment นับเป็นแดนสนธยา ที่ไม่ว่าผู้ซื้อรถจะเรียกร้องแค่ไหนให้ทำจอในรถให้ฉลาด ค่ายรถเดิมก็ไม่ยอมทำ ด้วยสัญญาที่ทำไว้นานมากแล้ว เพราะค่ายรถในอดีตมักจะลดต้นทุนด้วยการสั่ง ฮาร์ดแวร์ครั้งละมาก ๆ และให้ Outsource (เอ้าท์ซอร์ส) ไปพัฒนาระบบปฎิบัติการของจอกันตามมีตามเกิด จนเมื่อวันหนึ่งที่น้องใหม่เข้ามาอย่าง Tesla และค่ายจีน มีอุปกรณ์ที่ใหม่กว่า เร็วกว่า ลื่นกว่า จนค่ายรถเดิม ๆ ต้องเร่งใช้จอสเปคเดิมที่สั่งมาให้หมดและหันมาตั้งทีมนักพัฒนาระบบจอในรถให้ฉลาดเหมือนแบรนด์ใหม่ ๆ
อย่างไรก็ตามผู้พัฒนามีการวางระบบ Infotainment ต่าง ๆ แยกกันกับระบบความปลอดภัยของรถ เผื่อในกรณีที่ซอร์ฟแวร์มีอาการแฮงค์หรือค้างไป รถจะยังสามารถขับขี่ต่อไปได้อย่างปลอดภัย แม้ว่ารถในอนาคตส่วนใหญ๋จะพยายามลดปุ่มและให้ควบคุมผ่านจอก็ตาม
อย่างไรก็ตามต้องติดตามกันต่อไปว่า รถยนต์ในประเทศไทยจะมีคันไหนที่มาพร้อมกับระบบปฎิบัติการจากหัวเว่ยให้คนไทยได้ทดลองใช้กันหรือไม่ หรือ หัวเว่ยอาจจะแอบพัฒนาหลังบ้านให้ค่ายรถดัง ๆ ในยุโรปและญี่ปุ่นด้วยแต่ยังไม่เปิดตัว ?
บทความโดย NOPPARIT KAMOLSUWAN
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : สปริงนิวส์ / วันที่เผยแพร่ 29 เม.ย.67
Link : https://www.springnews.co.th/digital-tech/auto/849907