SHORT CUT
• เลขา สกมช. ตั้งข้อสงสัย ทำไมแพลตฟอร์มโซเชียล ยอมให้โฆษณาหลอกลวงผ่านการตรวจสอบทั้งที่ในต่างประเทศแพลตฟอร์มเดียวกันกลับมีกฎเกณฑ์ที่ดีกว่า
• ออสเตรเลียเคยฟ้องร้องเป็นตัวอย่างแล้ว ทั้งจากภาครัฐและคนดังที่ถูกแอบอ้าง
• ต่างประเทศมองว่าการที่แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อนุญาตให้โฆษณาหลอกลวงผ่านการตรวจสอบ เท่ากับว่า แพลตฟอร์มมีส่วนรู้เห็นมาหลอกประชาชน
เลขา สกมช. ตั้งข้อสังเกตุ การหลอกลวงผ่านโซเชียล ทั้งเพจปลอมและการหลอกลงทุน ทำไมแพลตฟอร์มไม่ช่วยป้องกันก่อนเกิดเหตุ ?
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ตั้งข้อสังเกตุกับผู้สื่อข่าวหลังการแถลงข่าวการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ยกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ และให้ความรู้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์ ระหว่าง สกมช. และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ถึงกรณีการป้องกันและปราบปรามภัยไซเบอร์จากการหลอกลวงกันทางโซเชียลมีเดีย
พลอากาศตรี อมร ตั้งข้อสังเกตุว่า การป้องกันและปรายปรามการหลอกลวงปัจจุบันทำได้ช้า ใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์ในการดำเนินการจากฝั่งแพลตฟอร์ม ซึ่งการหลอกลวงเหล่านี้ ทั้งการโฆษณาหลอกลงทุนผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยการใช้รูปคนดัง , การตั้งเพจปลอมที่มีชื่อเหมือนหน่วยงานราชการ เช่น แจ้งความออนไลน์ เป็นสิ่งที่แพลตฟอร์มสามารถสร้างระบบมาป้องกันได้ และทำได้แล้วในต่างประเทศ
เลขาฯ สกมช. อ้างถึงกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2565 ที่มีการฟ้องร้องในออสเตรเลีย หลังจากปรากฎภาพคนดังถูกแอบอ้างไปทำโฆษณาลงในฟีดของเฟซบุ๊ก เพื่อหลอกลวงประชาชน ซึ่งผู้ฟ้องคือ คณะกรรมการการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) อ้างว่า การที่เฟซบุ๊กยินยอมให้โฆษณาหลอกลวงอยู่ในแพลตฟอร์มของตนเองนับว่ามีส่วนร่วมในการหลอกลวงประชาชน และยังมีการฟ้องร้องจากคนดังอีกหลายกรณี
ขณะที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเดียวกันนี้ ในต่างประเทศ กลับมีระบบป้องกันเช่น มี AI ตรวจจับใบหน้า หากมีใบหน้าจะคนดังที่มาจากเพจใหม่ ๆ หรือเพจที่ไม่ได้รับการยืนยันตัวตน จะไม่ยินยอมให้โฆษณา หรือเพจที่เพิ่งตั้งใหม่ นำโลโก้ของแบรนด์ดัง ๆ มาใส่แล้วยิงโฆษณาก็จะมีการตรวจสอบ แต่สำหรับประเทศไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น
พลอากาศตรี อมร ตั้งข้อสังเกตุต่ออีก ว่า ประชาชนธรรมดาเมื่อเห็นโฆษณาแล้วกดปุ่ม Report หรือรายงานให้แพลตฟอร์มทราบ โอกาสที่โฆษณาหลอกลวงเหล่านั้นจะหายไปก็น้อย เมื่อเทียบกับการแจ้งความแล้วให้ตำรวจดำเนินการทำหนังสือแจ้งปิดเพจ แม้จะรวดเร็ว แต่ก็ยังไม่รวดเร็วพอเมื่อเทียบกับการที่แพลตฟอร์มทำระบบป้องกันตั้งแต่แรก
อย่างไรก็ตามในวันเดียวกัน พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ร่วมหารือ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค และคณะเพื่อหาแนวทางการดำเนินการพิจารณามาตรการการจัดการโฆษณาหลอกลวงประชาชนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ตามกฎหมาย เพื่อลดความเสียหายของประชาชนที่หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อ รวมถึงเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ โดยความเห็นระหว่างสภาผู้บริโภค และ สกมช. เห็นร่วมกันว่า “พื้นที่ออนไลน์ต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เพื่อให้การค้าข้ายและทำธุรกรรมอื่น ๆ ปลอดภัย เป็นผลดีต่อทั้งผู้ค้าขายและผู้บริโภคด้วย”
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : สปริงนิวส์ / วันที่เผยแพร่ 23 เม.ย.67
Link : https://www.springnews.co.th/digital-tech/849722