GETTY IMAGES
องค์การบริหารปาเลสไตน์หรือพีเอ (Palestinian Authority) ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ที่สหประชาชาติตั้งแต่ปี 2012
ในประกาศร่วมกันเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา มีหลายชาติ เช่น สเปน นอร์เวย์ และไอร์แลนด์ ได้เปิดเผยว่ามีแผนที่จะรับรองปาเลสไตน์ในฐานะ “รัฐ” ในวันที่ 28 พ.ค. นี้
ขณะที่ผู้นำปาเลสไตน์ได้แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจนี้ โดยองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization: PLO) ได้เรียกสิ่งนี้ว่า “ช่วงเวลาประวัติศาสตร์”
ส่วนประเทศที่สนับสนุนการสร้างรัฐปาเลสไตน์เชื่อว่า นี่จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าในการเจรจาสันติภาพระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์
อย่างไรก็ตาม อิสราเอลแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง โดยกล่าวว่าจะเรียกทูตของสามประเทศนี้มาเพื่อชมวิดีโอการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2023
“ประวัติศาสตร์จะจดจำว่า สเปน นอร์เวย์ และไอร์แลนด์ตัดสินใจมอบเหรียญทองให้กับนักฆ่าและผู้ข่มขืนอย่างฮามาส” นายอิสราเอล แคทซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอล กล่าว
อิสราเอลไม่ยอมรับการมีอยู่ของรัฐปาเลสไตน์และรัฐบาลอิสราเอลในปัจจุบันต่อต้านการสร้างรัฐปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์และกาซา โดยอ้างว่ารัฐดังกล่าวจะเป็นภัยคุกคามต่อการมีอยู่ของอิสราเอล
ใครรองรับปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ
GETTY IMAGES
นายกรัฐมนตรีโยนัส กาหร์ สโตระ ของนอร์เวย์ ประกาศว่า รัฐบาลจะร้บรองปาเลสไตน์เป็นรัฐอิสระตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.
มีอย่างน้อย 140 ประเทศที่ได้รับรองการมีอยู่ของรัฐปาเลสไตน์ รวมถึงสมาชิกของกลุ่มอาหรับที่สหประชาชาติ องค์การความร่วมมืออิสลาม และสมาชิกของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
อย่างไรก็ตาม มีหลายประเทศอื่น ๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรเลียที่ยังไม่ให้การยอมรับ
ออสเตรเลียได้แสดงเจตนาที่จะยอมรับรัฐปาเลสไตน์เพื่อ “สร้างแรงผลักดันการก้าวไปสู่การเป็นระบบ 2 รัฐ (two-state solution) ร่วมกับอิสราเอล
ในเดือน มี.ค. ผู้นำของสเปน ไอร์แลนด์ มอลตา และสโลวีเนียได้ออกแถลงการณ์ต่างหาก ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป โดยกล่าวว่า พวกเขาจะทำงานเพื่อยอมรับรัฐปาเลสไตน์เมื่อ “สถานการณ์เหมาะสม”
ก่อนการประกาศนี้ มีเพียง 9 ประเทศในยุโรปที่สนับสนุนการมีอยู่ของรัฐปาเลสไตน์ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจในปี 1988 ขณะที่พวกเขายังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
การเคลื่อนไหวร่วมกันของสเปน นอร์เวย์ และไอร์แลนด์เกิดขึ้นประมาณหนึ่งเดือนหลังจากที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้ลงคะแนนเสียงในความพยายามของปาเลสไตน์ที่จะเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบขององค์กร
สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างยาวนานของอิสราเอล ได้ใช้อำนาจยับยั้งมติดังกล่าว แต่สมาชิกของสภารวม 12 ประเทศได้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบ รวมถึงสามพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่าง ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ด้านสหราชอาณาจักรและสวิตเซอร์แลนด์งดออกเสียง
หากคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติได้ผ่านมติดังกล่าวซึ่งถูกเสนอโดยแอลจีเรีย สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะได้ลงคะแนนเสียงในเรื่องนี้ โดยต้องการเสียงข้างมากสองในสามสำหรับการรับปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิก
มติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติสามารถผ่านได้เฉพาะเมื่อไม่มีสมาชิกถาวรห้าประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย หรือจีน ใช้อำนาจยับยั้ง
มาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีแห่งปาเลสไตน์กล่าวว่า การใช้อำนาจยับยั้งของสหรัฐฯ “ไร้จริยธรรม” แต่อิสราเอลชื่นชมการเคลื่อนไหวนี้ โดยอธิบายว่า การลงมตินั้นเป็นเรื่องน่าละอาย
หลังจากการลงคะแนนเสียง โรเบิร์ต วูด รองเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ กล่าวกับรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า “สหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนก้าวไปสู่การเป็นระบบ 2 รัฐอย่างเต็มที่ การลงคะแนนเสียงนี้ไม่ได้สะท้อนการคัดค้านการมีอยู่ของรัฐปาเลสไตน์ แต่เป็นการตระหนักรู้ว่า การมีอยู่[ของรัฐปาเลสไตน์]จะเกิดขึ้นได้จากการเจรจาโดยตรงระหว่างทั้งสองฝ่ายเท่านั้น”
GETTY IMAGES
ในปลายเดือน เม.ย. สหรัฐฯ ได้ใช้อำนาจยับยั้งมติที่จะให้สถานะสมาชิกเต็มรูปแบบของสหประชาชาติแก่รัฐปาเลสไตน์ในการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ทำไมบางประเทศไม่ยอมรับปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ ?
ประเทศที่ไม่รับรองรัฐปาเลสไตน์โดยทั่วไปแล้วไม่ได้ทำเช่นนั้น เพราะไม่มีการตกลงเจรจากับอิสราเอล
“แม้ว่าสหรัฐฯ ดีแต่พูดว่า มีความจำเป็นในการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ แต่สหรัฐฯ ยืนยันที่จะให้มีการเจรจาโดยตรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งหมายความว่า ให้สิทธิยับยั้งแก่อิสราเอลต่อความปรารถนาของปาเลสไตน์ในการกำหนดชะตากรรมด้วยตนเองโดยปริยาย” ฟาวาซ เกอร์เจส ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองตะวันออกกลางที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน
การเจรจาสันติภาพเริ่มขึ้นในปี 1990 และต่อมาได้ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างการเป็นระบบ 2 รัฐ ซึ่งชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์สามารถอยู่เคียงข้างกัน ในสองประเทศที่แยกจากกัน
อย่างไรก็ตาม กระบวนการสันติภาพเริ่มเสื่อมถอยลงอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2000 แม้กระทั่งก่อนปี 2014 เมื่อการเจรจาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในกรุงวอชิงตันล้มเหลว
ปัญหาที่ยุ่งยากที่สุดยังคงไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงเรื่องประเด็นด้านพรมแดนและลักษณะของรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต สถานะของนครเยรูซาเลม รวมถึงชะตากรรมของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามระหว่างปี 1948-1949 หลังจากการประกาศการก่อตั้งรัฐอิสราเอล
ที่ผ่านมา อิสราเอลคัดค้านอย่างแข็งขันต่อความพยายามของปาเลสไตน์ที่จะเป็นสมาชิกสหประชาชาติ
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานโดยอ้างคำกล่าวของ กิลาด เออร์แดน ทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ที่พูดคุยเรื่องนี้เมื่อต้นเดือน เม.ย. ว่า เป็น “ชัยชนะสำหรับการก่อการร้ายที่ตั้งเป้าหมายในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และเสริมว่าหากความพยายามนี้สำเร็จจะถือเป็นการให้รางวัลแก่การก่อการร้ายหลังจากการโจมตีของฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เมื่อปีที่แล้ว
ประเทศที่ต้องการรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรต่ออิสราเอลจะทราบว่า การยอมรับรัฐปาเลสไตน์จะทำให้อิสราเอลไม่พอใจ
บางประเทศ รวมถึงผู้สนับสนุนอิสราเอล แย้งว่า ปาเลสไตน์ไม่ตรงตามเกณฑ์สำคัญสำหรับการเป็นรัฐที่กำหนดไว้ในอนุสัญญากรุงมอนเตวิเดโอ ปี 1933 ซึ่งประกอบไปด้วย ประชากรซึ่งมีถิ่นที่อยู่อย่างถาวร ดินแดน รัฐบาล และความสามารถในการเข้าสู่ความสัมพันธ์กับรัฐอื่น
แต่ฝ่ายอื่น ๆ ยอมรับคำจำกัดความที่ยืดหยุ่นกว่านั้น โดยเน้นการยอมรับจากรัฐอื่น ๆ มากกว่า
ปาเลสไตน์มีสถานะอย่างไรในองค์การสหประชาชาติ ?
GETTY IMAGES
มีอย่างน้อย 140 ประเทศที่รับรองสถานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์
ปาเลสไตน์มีสถานะเป็นรัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก เช่นเดียวกับนครรัฐวาติกัน
ในปี 2011 ปาเลสไตน์ได้ยื่นใบสมัครเพื่อเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของสหประชาชาติ แต่ความพยายามนั้นล้มเหลว เนื่องจากขาดการสนับสนุนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและไม่เคยมีการลงคะแนนเสียง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2012 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงคะแนนเสียงเพื่อยกระดับสถานะของปาเลสไตน์ให้เป็น “รัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก” ซึ่งอนุญาตให้พวกเขามีส่วนร่วมในการอภิปรายในสมัชชา แม้ว่าจะไม่สามารถลงคะแนนเสียงในมติได้
การตัดสินใจในปี 2012 ซึ่งถือเป็นการต้อนรับการบริหารในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาเป็นผู้สังเกตการณ์ดังกล่าว ถือเป็นประโยชน์กับฝั่งปาเลสไตน์ แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยสหรัฐฯ และอิสราเอล การตักสินใจนี้ยังอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์เข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ได้ รวมถึงศาลสูงสุดของสหประชาชาติ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งพวกเขาเข้าร่วมในปี 2015
“การเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบขององค์การสหประชาชาติจะทำให้ปาเลสไตน์มีอำนาจทางการทูตมากขึ้น รวมถึงความสามารถในการเสนอญัตติโดยตรง การลงคะแนนเสียงในสมัชชาใหญ่ (ซึ่งปัจจุบันในฐานะ ‘รัฐที่ไม่ใช่สมาชิก’ พวกเขาไม่ได้รับสิทธิน้้น) และในที่สุดก็อาจได้ที่นั่ง/การลงคะแนนเสียงในคณะมนตรีความมั่นคง” กล่าวโดย คาเล็ด เอลกินดี ผู้อำนวยการโครงการเกี่ยวกับปาเลสไตน์และความสัมพันธ์ระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอล จากสถาบันคลังสมองสถาบันตะวันออกกลาง (Middle East Institute) ในกรุงวอชิงตัน
“แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่นำไปสู่การนำไปสู่การเป็นระบบ 2 รัฐได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อถึงจุดสิ้นสุดการยึดครองของอิสราเอล” เขาเสริม
อย่างไรก็ตาม จิลแบรต์ อาชคาร์ ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน เชื่อว่า “องค์การบริหารแห่งปาเลสไตน์จะไม่ประสบความสำเร็จมากขึ้น” ด้วยการเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของสหประชาชาติ
“มันจะยังคงเป็นเพียงชัยชนะเชิงสัญลักษณ์: การรับรอง ‘รัฐปาเลสไตน์’ ที่เป็นนามธรรมเมื่อเทียบกับความเป็นจริงของ ‘องค์การบริหารแห่งปาเลสไตน์’ ที่ไร้อำนาจ ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนเล็ก ๆ ของดินแดนที่ถูกยึดครองในปี 1967 และต้องพึ่งพาอิสราเอลอย่างเต็มรูปแบบ” เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “นี่ยังคงห่างไกลหลายปีแสงจากการที่ ‘ปาเลสไตน์จะกลายเป็นรัฐอิสระและมีอธิปไตย’ อย่างมาก”
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 23 พ.ค. 67
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c722454lp3lo