เปิดไทม์ไลน์ เหตุจลาจลใน “นิวแคลิโดเนีย” ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ที่รุนแรงต่อเนื่อง หลังรัฐสภาฝรั่งเศสมีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญการปกครอง จนฝรั่งเศสประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
13 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐสภาฝรั่งเศสลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญของ “นิวแคลิโดเนีย” ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ในมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยคะแนน 351 ต่อ 153 เสียง โดยมีเนื้อหาหลักคือ อนุญาตให้พลเมืองผู้มีสัญชาติฝรั่งเศส ที่อาศัยอยู่ในนิวแคลิโดเนียอย่างน้อย 10 ปี สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ พร้อมระบุว่า เป็นการสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศหมู่เกาะ
ทว่าผู้นำชุมชน ชาวพื้นเมือง รวมถึงชนเผ่าคานัก (Kanak) แสดงความไม่พอใจอย่างหนัก เนื่องจากจะทำให้มีตัวเลขผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มจากเดิมอีกหลายพันคน
Google Maps
ที่ตั้งของประเทศ นิวแคลิโดเนีย ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส
โดยตัวแทนชนเผ่าคานัก ออกมาแสดงความเห็นไม่พอใจอย่างหนัก พร้อมกล่าวว่า ชาวพื้นเมืองไม่พอใจที่ถูกฝรั่งเศสเข้ามาปกครองมานานมากแล้ว และการกระทำเช่นนี้ จะเป็นการขัดขวางการได้รับเอกราชของชาติในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ ชาวพื้นเมืองนิวแคลิโดเนีย จึงรวมตัวกันประท้วงและก่อจลาจลอย่างรุนแรง ในกรุงนูเมอา เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น ตัวอย่างการประท้วงจะมีตั้งแต่การเดินขบวน ไปจนถึงเผาฟาง เผารถยนต์ และเผาสินค้าของบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ในนิวแคลิโดเนีย
การจลาจลในครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม รวมทั้งสิ้น 5 ราย โดย 2 ใน 5 เป็นตำรวจ และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่าร้อยคน แม้ว่าในวันที่ 16 พฤษภาคมจะมีรายงานว่าการจลาจลเริ่มสงบลงบ้างแล้ว
ต่อมา พริสกา เธเรนอท โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศส ออกมาประกาศว่า เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประกาศภาวะฉุกเฉินในนิวแคลิโดเนียแล้ว บังคับใช้เวลา 05.00 น. ของวันที่ 16 พฤษภาคม และสั่งให้ตำรวจ-ทหารกว่า 2,300 นาย เข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อยในสถานที่สำคัญ พร้อมประกาศมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากบ้านยามค่ำคืน
AFP/DELPHINE MAYEUR
เหตุจลาจลในนิวแคลิโดเนีย
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีมาครง เสนอจะเปิดเวทีพูดคุยกับสมาชิกนิติบัญญัติของนิวแคลิโดเนียในวันดังกล่าว เพื่อหารือแนวทางในการคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น หลังเกิดความไม่สงบครั้งร้ายแรงที่สุดในนิวแคลิโดเนียในรอบ 40 ปี ทว่าถูกทางการของนิวแคลิโดเนียยกเลิกการเจรจา พร้อมระบุว่า ไม่ต้องการพูดคุยกับคนที่มีแนวคิดแตกต่างกัน
ด้าน หลุยส์ เลอ ฟรังก์ ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสในนิวแคลิโดเนีย ออกแถลงการณ์ระบุว่า พบผู้ถูกกักบริเวณในบ้านพัก 5 คน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อความไม่สงบรุนแรงครั้งนี้ และมีผู้ก่อจลาจลถูกจับกุมแล้วกว่า 200 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเดินหน้าตรวจค้นต่อไป
ขณะที่กำลังเสริมทางทหารของฝรั่งเศส กำลังเดินทางจากเมืองมาร์กเซย์ เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยที่สนามบินนานาชาติของนิวแคลิโดเนีย ซึ่งปิดทำการมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ รวมถึงท่าเรือต่าง ๆ
ทั้งนี้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะบังคับใช้เป็นเวลา 12 วัน โดย เฌรัลด์ ดาร์มาแม็ง รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ฟรองซ์ เดอ (France 2) เมื่อ 16 พฤษภาคมว่า น่าจะกลับมาควบคุมสถานการณ์ได้ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า
AFP/DELPHINE MAYEUR
เหตุจลาจลในนิวแคลิโดเนีย
สำหรับ นิวแคลิโดเนีย เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยเหตุความไม่สงบรุนแรงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 นำมาซึ่งข้อตกลงปี 1998 ที่เรียกว่าข้อตกลงนูเมอา (Noumea Accord) ที่ให้อำนาจปกครองตนเองแก่นิวแคลิโดเนียมากขึ้น รวมถึงให้จัดประชามติเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราช 3 ครั้ง
ซึ่งในการทำประชามติทั้งสามครั้ง (ล่าสุดคือเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2021) ชาวนิวแคลิโดเนียเลือกที่จะยังเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส พรรคการเมืองที่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช บอยคอตการทำประชามติครั้งสุดท้าย เนื่องจากจัดขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนชาวคานัก
ชาวคานักและประชาชนที่สืบเชื้อสายจากชาวยุโรป ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมากในเรื่องความมั่งคั่ง ขณะที่นับตั้งแต่มีการลงนามข้อตกลงปี 1998 มีผู้ย้ายถิ่นฐานจากฝรั่งเศสมายังนิวแคลิโดเนียแล้วกว่า 4 หมื่นคน
ที่มา : The Guardian / Al Jazeera
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 17 พ.ค.67
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/224071