รัฐอิสราเอลสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 หลังการประกาศอิสรภาพจากเครือจักรภพอังกฤษ โดยมี เดวิด เบน-กูเรียน (David Ben-Gurion) ผู้นำองค์กรไซออนิสต์โลก (World Zionist Organization) เป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนแรก
การก่อตั้งรัฐอิสราเอลมีขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคที่รู้จักกันในอดีตว่า ‘คานาอัน (Canaan)’ โดยเคยเป็นถิ่นอาศัยของชาวอิสราเอล (Israelites) หรือฮีบรู (Hebrews) ในยุคหลายพันปีก่อนคริสตกาล และมีการเปลี่ยนผู้ปกครองมากมาย ทำให้ชาวอิสราเอลจำนวนมากอพยพและกระจัดกระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป
ช่วงคริสต์ศักราชที่ 1500-1900 ชาวอิสราเอลพลัดถิ่นจำนวนมากไม่มีที่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และถูกกีดกันจากชาวยุโรป ทำให้ต้องกลับไปยังดินแดนปาเลสไตน์ และเกิดขบวนการไซออนิสต์ ที่มีเป้าหมายกลับไปตั้งรัฐอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าที่นี่คือ ดินแดนแห่งพันธสัญญา (Promised Land) หรือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land) ที่คัมภีร์ฮีบรูระบุไว้ว่าพระเจ้าให้สัญญาว่าจะมอบให้
ขณะที่ชาวอาหรับหรือชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่ยุคจักรวรรดิออตโตมันในปี 1566 ต่อมาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้ ส่งผลให้ปาเลสไตน์ไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในปี 1918 แต่นับตั้งแต่ปี 1920 ชาวยิวบางส่วนเริ่มอพยพกลับไปยังปาเลสไตน์ และเริ่มเกิดความขัดแย้งกับชุมชนชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ก่อน ก่อนที่อังกฤษจะออกนโยบายจำกัดชาวยิวที่อพยพเข้าไปในปาเลสไตน์
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวซึ่งรอดชีวิตการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีในยุโรป ได้อพยพเข้าไปยังปาเลสไตน์มากขึ้น ส่งผลให้ความขัดแย้งกับชาวอาหรับยิ่งรุนแรงมากขึ้น
ความขัดแย้งที่บานปลายทำให้อังกฤษขอความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ก่อนที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) จะมีการลงมติในปี 1947 สนับสนุนแผนแบ่งประเทศ แยกดินแดนปาเลสไตน์เป็น 2 รัฐ โดยแบ่งพื้นที่ 55% ให้กับชาวยิว และ 43% ให้กับชาวอาหรับ และให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองนานาชาติ
ฝ่ายชุมชนชาวยิวยอมรับการแบ่งประเทศ พร้อมประกาศสถาปนารัฐอิสราเอล หรือรัฐยิวขึ้นในทันที แต่ฝ่ายอาหรับและผู้นำปาเลสไตน์ปฏิเสธ และหลังจากนั้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 1948 ชาติอาหรับที่อยู่รายล้อม ทั้งอียิปต์, จอร์แดน, ซีเรีย, เลบานอน และอิรัก ตัดสินใจเปิดฉากสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรก แต่กลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้อิสราเอลขยายพื้นที่ในดินแดนปาเลสไตน์เพิ่มเป็น 78% โดยเขตเวสต์แบงก์พร้อมกับเยรูซาเล็มตะวันออกและฉนวนกาซา ถูกผนวกโดยจอร์แดนและอียิปต์ และมีการตกลงสงบศึกพร้อมกำหนดแนวสงบศึกในปี 1949
อย่างไรก็ตาม ชาติอาหรับและอิสราเอลยังมีความขัดแย้งในช่วงหลายปีหลังจากนั้น โดยในปี 1967 เกิดสงคราม 6 วันระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ จอร์แดนและซีเรีย และในปี 1973 เกิดสงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์และซีเรีย
ขณะที่อิสราเอลได้มีการขยายการตั้งถิ่นฐานในดินแดนปาเลสไตน์ที่ยึดครองมาได้อย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการกระทำที่ถือว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
ส่วนความพยายามระหว่างประเทศในการแก้ไขข้อขัดแย้งและสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยเฉพาะแนวทางแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐ (Two-State Solution) เคยมีความพยายามผลักดันมาหลายครั้ง เช่นในปี 1993 ที่มีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพออสโลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่ผลที่ได้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
https://www.gov.il/en/pages/declaration-of-establishment-state-of-israel
https://www.history.com/this-day-in-history/state-of-israel-proclaimed
https://history.state.gov/milestones/1945-1952/creation-israel
https://www.pbs.org/wgbh/americanexperience/features/truman-israel/
https://theweek.com/politics/the-creation-of-modern-israel
บทความโดย วิโรจน์ เลิศจิตต์ธรรม
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : The Standard / วันที่เผยแพร่ 14 พ.ค.67
Link : https://thestandard.co/on-this-day-14051948/