เว็บไซต์พยากรณ์การเกิดหลุมอากาศเปิดเผยเส้นทางการบิน 10 เส้นทางทั่วโลกที่เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา เผชิญหลุมอากาศมากที่สุด
ข่าวการตกหลุมอากาศของเครื่องบินสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ SQ321 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บหลายสิบคน ได้ทำให้เกิดกระแสความกังวลไม่น้อยเกี่ยวกับอันตรายของการนั่งเครื่องบินโดยสาร
หลุมอากาศ เป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นกับเกือบทุกเที่ยวบินบนโลก เกิดจากการเคลื่อนตัวของอากาศอย่างกะทันหันและผิดปกติ ทำให้เกิดกระแสลมขึ้นและลงอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ส่งผลกระทบต่อเครื่องบินโดยไม่คาดคิด
แต่หลุมอากาศนั้นทำให้เกิดอันตรายต่อเครื่องบินโดยสารในยุคปัจจุบันได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก ส่วนผู้ที่บาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจาก “ผู้โดยสารไม่รัดเข็มขัด”
หลุมอากาศรุนแรงนั้นเป็นเหตุการณ์ที่พบได้ยากมาก ตัวเลขบางส่วนระบุโอกาสที่เที่ยวบินจะได้รับผลกระทบจากหลุมอากาศรุนแรง มีเพียง 1 ใน 50,000 เที่ยวบินเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สภาวะที่เกิดจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้เราอาจเห็นหลุมอากาศเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในอนาคต จากข้อมูลของสำนักงานบริการการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา จำนวนการบาดเจ็บโดยเฉลี่ยที่เกี่ยวข้องกับหลุมอากาศรุนแรงในสหรัฐฯ อยู่ที่ 33 รายต่อปี
คำถามสำคัญที่หลายคนอยากทราบคือ เส้นทางการบินใดบ้าง ที่มีโอกาสหรือความเสี่ยงเจอหลุมอากาศ
คนที่จะตอบคำถามนี้ได้คือ “Turbli” (https://turbli.com/) เว็บไซต์พยากรณ์การเกิดหลุมอากาศที่สร้างฐานข้อมูลจากข้อมูลพยากรณ์หลุมอากาศขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) และข้อมูลพยากรณ์เมฆพายุฝนฟ้าคะนองของกรมอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร (UK Met Office)
Turbli วิเคราะห์เส้นทางการบินทั้งหมด 150,000 เส้นทาง เฉพาะเส้นทางการบินที่ดำเนินการอยู่ ณ เดือน ธ.ค. 2023 เท่านั้นที่ได้รับการจัดอันดับ โดยพิจารณาจากอัตรา eddy dissipation rate (edr) หรือ “การวัดความรุนแรงของหลุมอากาศ ณ จุดที่กำหนด” ซึ่งแบ่งเป็นระดับเบา (0-20), ปานกลาง (20-40), รุนแรง (40-80) และรุนแรงมาก (80-100)
10 เส้นทางการบินที่ตกหลุมอากาศมากที่สุดในปี 2023 มีดังนี้
1. ซานติอาโก (SCL) – ซานตาครูซ (VVI) ระยะทาง 1905 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 17.568 edr
2. อัลตามี (ALA) – บิชเคก (FRU) ระยะทาง 210 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 17.457 edr
3. หลานโจว (LHW) – เฉิงตู (CTU) ระยะทาง 661 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 16.75 edr
4. โทโคนาเมะ (NGO) – เซ็นได (SDJ) ระยะทาง 517 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 16.579 edr
5. มิลาน (MXP) – เจนีวา (GVA) ระยะทาง 214 กม. ความรุนแรงลี่ย 16.398 edr
6. หลานโจว (LHW) – เซียนหยาง (XIY) ระยะทาง 519 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 16.337 edr
7. โฮซากา (KIX) – เซ็นได (SDJ) ระยะทาง 655 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 16.307 edr
8. เซียนหยาง (XIY) – เฉิงตู (CTU) ระยะทาง 624 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 16.25 edr
9. เซียนหยาง (XIY) – ฉงชิ่ง (CKG) ระยะทาง 561 ความรุนแรงเฉลี่ย 16.041 edr
10. มิลาน (MXP) – ซูริค (ZRH) ระยะทาง 203 กม. ความรุนแรงเฉลี่ย 16.016 edr
จากอันดับข้างต้นจะพบว่า การเดินทางระหว่างซานติเอโก ประเทศชิลี และสนามบินนานาชาติวิรูวิรูในโบลิเวีย มีหลุมอากาศมากที่สุด ตามด้วยเส้นทางระหว่างอัลมาตีในคาซัคสถาน และเมืองหลวงของคีร์กีซสถาน บิชเคก
ที่น่าสนใจคือ จาก 10 อันดับแรก มีถึง 6 เส้นทางที่เกิดขึ้นในเอเชีย หรือถ้าเฉพาะเจาะจง คือเป็นเส้นทางภายในประเทศญี่ปุ่นและจีน ขณะที่เส้นทางยุโรป 2 เส้นทางก็มีจุดสำคัญที่เมืองมิลานของอิตาลี
อิกนาชิโอ กัลเลโก มาร์กอส ผู้ก่อตั้ง Turbli อธิบายว่า มิลานมีหลุมอากาศมากเนื่องจากเส้นทางบินมักผ่านเหนือเทือกเขาแอนดีสหรือเทือกเขาแอลป์ ส่วนเส้นทางในญี่ปุ่นและจีนมีความผันผวนเนื่องจากมีกระแสเจ็ตสตรีม (ลมแรงที่พัดมาจากตะวันตกไปตะวันออก) ที่สูง
นอกจากนี้ Turbli ยังจัดอันดับ 10 สนามบินที่เกิดหลุมอากาศมากที่สุดในปี 2023 ด้วย ได้แก่
1. ซานติอาโก (SCL) ประเทศชิลี ความรุนแรงเฉลี่ย 17.137 edr
2. นาโตริ (SDJ) ประเทศญี่ปุ่น ความรุนแรงเฉลี่ย 16.657 edr
3. เวลลิงตัน (WLG) ประเทศนิวซีแลนด์ ความรุนแรงเฉลี่ย 16.318 edr
4. ซัปโปโร (CTS) ประเทศญี่ปุ่น ความรุนแรงเฉลี่ย 16.305 edr
5. โอซากา (KIX) ประเทศญี่ปุ่น ความรุนแรงเฉลี่ย 16.120 edr
6. บิชเคก (FRU) ประเทศคีร์กีซสถาน ความรุนแรงเฉลี่ย 15.993 edr
7. โทโคนาเมะ (NGO) ประเทศญี่ปุ่น ความรุนแรงเฉลี่ย 15.885 edr
8. หลานโจว (LHW) ประเทศจีน ความรุนแรงเฉลี่ย 15.800 edr
9. โตเกียวฮาเนดะ (HND) ประเทศญี่ปุ่น ความรุนแรงเฉลี่ย 15.545 edr
10. ไครสต์เชิร์ช (CHC) ประเทศนิวซีแลนด์ ความรุนแรงเฉลี่ย 15.482 edr
ทั้งนี้ อย่างที่ระบุไปข้างต้นว่า หลุมอากาศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่มักเกิดขึ้นกะทันหันและยากต่อการคาดการณ์ แต่ใม่เป็นอันตรายต่อเครื่องบิน ดังนั้น ผู้โดยสารสามารถโดยสารด้วยเครื่องบินได้อย่างสบายใจ เพียงแต่ควรปฏิบัติตามหลักความปลอดภัย ด้วยการรัดเข็มขัดแม้ในช่วงเวลาที่ไฟสัญญาณรัดเข็มขัดดับลงก็ตาม
เรียบเรียงจาก Independent / Turbli
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : PPTV / วันที่เผยแพร่ 27 พ.ค. 2567
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/224779