นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์และการต่างประเทศประเมิน จีนแผ่นดินใหญ่มีหนทางในการยึดไต้หวันได้โดยไม่ต้องรบอยู่
ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันที่ยังคงคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังเกาะไต้หวันได้ผู้นำใหม่สายเสรีนิยมจ๋าอย่าง ไล่ ชิงเต๋อ (วิลเลียม ไล่) ก็ยิ่งทำให้เป็นที่จับตามองว่า ปัญหานี้จะบานปลายไปสู่สงครามยึดไต้หวันหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้จีนเคยพูดออกสื่อแล้วว่า หากจำเป็น จะใช้กำลังเข้าควบคุมไต้หวัน
และการที่จีนปฏิเสธที่จะประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียได้เพิ่มความกลัวเหล่านั้น เพราะนั่นหมายความว่า วันหนึ่งจีนอาจทำแบบรัสเซีย
ในสถานการณ์เช่นนี้ นักวิเคราะห์และนักยุทธศาสตร์ทางการทหารส่วนใหญ่มองว่า จีนมีทางเลือกหลัก 2 ทางในการยึดไต้หวัน ได้แก่ การรุกรานเต็มรูปแบบหรือการปิดล้อมทางทหาร
ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ (CSIS) หน่วยงานคลังสมองชื่อดังของสหรัฐฯ เห็นต่าง และมองว่า จีนยังมี “ทางเลือกที่ 3” เหลืออยู่ ซึ่งจีนจะสามารถแยกไต้หวัน ทำลายเศรษฐกิจ และทำให้เกาะประชาธิปไตยแห่งนี้ต้องจำนนต่อเจตจำนงของพรรคคอมมิวนิสต์ได้โดยไม่ต้องยิงปืนแม้แต่นัดเดียว และสหรัฐฯ รวมถึงประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ไม่สามารถตอบโต้ได้ด้วย
“จีนเพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวันอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกลัวว่าความตึงเครียดอาจปะทุเป็นความขัดแย้ง มีการให้ความสนใจอย่างมากต่อภัยคุกคามจากการรุกราน แต่จีนมีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการรุกรานเพื่อบังคับ ลงโทษ หรือผนวกไต้หวัน” รายงานระบุ
วิธีดังกล่าวคือ “การกักกัน” (Quarantine)
การกักกันคือการใช้กลยุทธ์ “โซนสีเทา” (Gray Zone) หรือการกระทำที่เกือบถือว่าเป็นการทำสงคราม แต่ยังไม่ถึง เช่น หน่วยยามฝั่งจีน กองกำลังติดอาวุธทางทะเล ตำรวจ และหน่วยงานความปลอดภัยทางทะเลต่าง ๆ สามารถเริ่มการกักกันไต้หวันทั้งหมดหรือบางส่วน ตัดการเข้าถึงท่าเรือและหยุดยั้งเสบียงสำคัญ เช่น พลังงาน ไม่ให้เข้าถึงผู้คน 23 ล้านคนของเกาะ
นักวิเคราะห์ระบุว่า ทัพเรือ อากาศ และภาคพื้นดินของกองทัพปลดแอกประชาชน (PLA) ของจีน ซึ่งเป็นกำลังทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาจมีบทบาทเป็นผู้ช่วยและสนับสนุนเท่านั้น
ตัวอย่างยุทธวิธีโซนสีเทาที่ทวีความรุนแรงขึ้นของจีนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ เมื่อเรือของหน่วยยามฝั่งจีนปะทะกับเรือของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ โดยวิดีโอแสดงให้เห็นกองทัพจีนข่มขู่ลูกเรือฟิลิปปินส์ด้วยขวานและอาวุธมีดอื่น ๆ และฟิลิปปินส์กล่าวว่า ทหารคนหนึ่งสูญเสียนิ้วหัวแม่มือในการปะทะกัน
ในทำนองเดียวกัน การข่มขู่ทางทหารและเศรษฐกิจของจีนต่อไต้หวัน ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่มีการพัฒนาอย่างสูง ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน
รายงานตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยยามฝั่งจีน เช่นเดียวกับหน่วยยามฝั่งส่วนใหญ่ทั่วโลก ถือเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหมายความว่า มันสามารถหยุดและควบคุมการขนส่งทั่วเกาะในสิ่งที่เรียกว่าการกักกัน ซึ่งแตกต่างจากการปิดล้อม
“การกักกัน คือ การดำเนินการที่นำโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการจราจรทางทะเลหรือทางอากาศภายในพื้นที่เฉพาะ ในขณะที่การปิดล้อมมีคุณลักษณะทางการทหาร ถือเป็นการกระทำเชิงสงคราม ตามกฎหมายระหว่างประเทศ” รายงานกล่าว
นักวิเคราะห์ CSIS บอกว่า “การกักกันที่นำโดยหน่วยยามฝั่งของจีนจะไม่ใช่การประกาศสงครามกับไต้หวัน” และจะทำให้สหรัฐฯ ตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบาก เพราะหากเรือหรือเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงสิ่งที่จีนกล่าวว่าเป็น “ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมาย” สหรัฐฯ ก็อาจถูกมองว่าเป็นผู้ริเริ่มสงคราม ไม่ใช่จีน
รายงานระบุว่า หน่วยยามฝั่งของจีนมีเรือเดินทะเล 150 ลำและเรือเล็ก 400 ลำ ขณะที่หน่วยยามฝั่งของไต้หวันซึ่งมีเรือเดินทะเลเพียง 10 ลำและเรือเล็กประมาณ 160 ลำ ซึ่งน้อยเกินกว่าจะใช้ต่อต้านการกักกันได้
แผนกวิเคราะห์ CSIS สังเกตว่า การดำเนินการกักกันที่ดำเนินการโดยจีนอาจมีขอบเขตจำกัดอย่างมาก และยังคงมีผลกระทบต่อไต้หวันในเชิงเศรษฐกิจ โดยผู้ประกอบการบางส่วนที่เผชิญกับความเป็นไปได้ที่ทรัพย์สินของตนจะถูกยึดโดยทางการจีน อาจตัดสินใจหยุดประกอบธุรกิจบนเกาะไต้หวันโดยสมัครใจ
“ถ้าจีนแสดงความเต็มที่ในการค้นหาและยึดเรือพาณิชย์ แม้เพียงไม่กี่ลำ ก็อาจส่งผลกระทบได้” รายงานระบุ
นอกจากนี้ ปฏิบัติการกีดกันยังสามารถขยายออกไปทางอากาศได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่ส่งเครื่องบินไปให้เกิดการแจ้งเตือนต่อเที่ยวบินเพียงไม่กี่เที่ยวเท่านั้น ก็จะส่งผลกระทบต่อการจราจรทางอากาศทั้งหมด
ที่ผ่านมา จีนส่งเครื่องบินทหารเข้าใกล้หรือรอบ ๆ เกาะไต้หวันเป็นประจำ บางครั้งก็หลายสิบครั้งต่อวัน
ในขณะเดียวกัน ในการกักกัน จีนจะไม่ต้องปิดหรือจำกัดการเข้าถึงช่องแคบไต้หวัน นั่นหมายความว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรอาจสูญเสียข้ออ้างที่ใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งที่จะใช้ในการแทรกแซง นั่นคือเรื่องของเสรีภาพในการเดินเรือในเส้นทางน้ำระหว่างประเทศ
เพื่อให้สิ่งต่าง ๆ มีความสำคัญน้อยลง จีนอาจไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “กักกัน” เพื่อเริ่มปฏิบัติการด้วยซ้ำ ภายใต้การกล่าวอ้างว่า ไต้หวันเป็นดินแดนของจีน จีนอาจกำหนดให้เรือต่าง ๆ ต้องยื่นใบศุลกากรก่อนจึงจะสามารถเข้าไต้หวันได้ สำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม กลไกการบังคับใช้อาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งทั้งหมด
“เรือบังคับใช้กฎหมายของจีนจะได้รับอนุญาตให้ขึ้นเรือ ดำเนินการตรวจสอบ สอบสวนลูกเรือ และดำเนินมาตรการอื่น ๆ กับเรือที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด” รายงานระบุ
แนวคิดนี้ทำให้จีนมีขอบเขตการดำเนินงานที่จำกัด ตัวอย่างเช่น จีนสามารถกำหนดเป้าหมายไปที่ท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดของเกาะอย่างเกาสง ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าทางทะเลของไต้หวันถึง 57% และการนำเข้าพลังงานส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์นอก CSIS มองว่า ทางเลือกที่ 3 นี้มีความเป็นไปได้ก็จริง แต่สถานการณ์ทางเศรษฐศาสตร์บางอย่างอาจไม่เป็นใจให้กับฝั่งจีน
คาร์ล ชูสเตอร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์ข่าวกรองร่วมของกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ กล่าวว่า “การดูแลรักษาการกักกันจะมีต้นทุนสูงและใช้เวลานาน”
เขาเสริมว่า “ไต้หวันจะไม่ยอมแพ้ภายใน 60 วัน จีนจะสามารถรักษาความพยายามและปฏิกิริยาจากนานาชาติได้นานขนาดนั้นได้หรือไม่”
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ความพยายามที่จะทำลายสถานะที่เป็นอยู่ทั่วช่องแคบไต้หวันอาจกัดกร่อนการค้าต่างประเทศของจีนด้วย
อเลสซิโอ ปาตาลาโน ศาสตราจารย์ด้านสงครามและยุทธศาสตร์ที่คิงส์คอลเลจในลอนดอน กล่าวถึงความท้าทายที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังเผชิญอยู่ โดยเศรษฐกิจจีนยังคงดิ้นรนเพื่อฟื้นตัวจากช่วงโควิด-19 ส่งผลให้อัตราการเติบโตลดลงและยังเจอข้อจำกัดทางการค้าใหม่ ๆ เช่น ภาษีศุลกากร การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า
ขณะที่ไต้หวันเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่โดดเด่น เป็นฐานหลักในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ล้ำสมัยที่สุดส่วนใหญ่ของโลก ดังนั้น การกักกันเกาะจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น แต่ทั่วโลก
ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ยอมรับว่าจีนแผ่นดินใหญ่มีชั้นเชิงเหนือไต้หวัน แต่เกาะแห่งนี้ได้สร้างความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการที่เข้มแข็งมากขึ้นกับประเทศประชาธิปไตยตะวันตกที่สำคัญ ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ไต้หวันและจีนยีงมีความเกี่ยวพันกันทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งเช่นกัน เมื่อปี 2023 นั้น 35% ของการส่งออกของเกาะไต้หวันอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกวงจรรวม เซลล์แสงอาทิตย์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการนำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่คิดเป็น 20% ของการนำเข้าทั้งหมดของเกาะไต้หวันในปีเดียวกัน
นอกจากนี้ สิดฮาร์ธ เกาชาล นักวิจัยอาวุโสของ Royal United Services Institute ในลอนดอน กล่าวว่า การกักกันอาจส่งผลเสียด้วยการผลักดันให้รัฐบาลไต้หวันประกาศเอกราชเร็วขึ้นและเด็ดขาด
“สิ่งนี้จะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เหลือทางเลือกแค่ว่า จะยกระดับสถานการณ์ให้บานปลายหรือยอมพ่ายแพ้ครั้งใหญ่” เขากล่าว
ปาตาลาโนกล่าวว่า สำหรับจีน “ความอดทน” เป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของการรวมชาติ และโอกาสที่จีนจะต้องการให้มีสงครามนั้นน้อยมาก เพราะสงครามไม่เพียงแต่ต้องสูญเสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความมั่งคั่งของชาติอีกด้วย
เรียบเรียงจาก CNN
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : PPTV / วันที่เผยแพร่ 23 มิ.ย. 2567
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/226847