ชายชาวฮ่องกงถูกฟ้องด้วยกฎหมายความมั่นคง “มาตรา 23” โทษฐานสวมเสื้อยืดที่มีคำขวัญต้องห้าม “ปลดปล่อยฮ่องกง การปฏิวัติในช่วงเวลาของพวกเรา” และสวมหน้ากากข้อความ “FDNOL” แสดงการสนับสนุน 5 ข้อเรียกร้องของการประท้วงฮ่องกง โดยศาลไม่ยอมให้ประกันตัวและจะมีการพิจารณาคดีนัดแรก 7 สิงหาคมนี้
ทางการฮ่องกงปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว ชูไคปอง อายุ 27 ปี ชายชาวฮ่องกงรายล่าสุดที่ถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ หรือที่เรียกว่า มาตรา 23 ที่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โทษฐานที่เขาสวมเสื้อยืดและสวมหน้ากากสีเหลือง ที่มีข้อความต้องห้ามจากการประท้วงฮ่องกงรอบก่อน
ทั้งนี้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ที่เรียกว่า ‘มาตรา 23’ กำหนดบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดที่ส่งผลต่อความมั่นคง โดยเป็นกฎหมายที่ขยายความมาจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเดิม (Hong Kong National Security Law) ที่บังคับใช้โดยรัฐบาลจีนตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งมีการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการแบ่งแยกดินแดน การบ่อนทำลาย ก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติในฮ่องกง
โดยศาลแขวงเกาลูนตะวันตกได้ตัดสินเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่าจำเลยอายุ 27 ปีรายดังกล่าว จะถูกดำเนินคดีในข้อหา “กระทำการด้วยเจตนายุยงปลุกปั่น หรือมีการกระทำในเชิงจงใจยุยงปลุกปั่น” นอกจากนี้เขายังเผชิญกับข้อหาเรื่องที่ไม่แสดงเอกสารรับรองตัวตนให้กับตำรวจ รวมถึงข้อหาเต็ดเตร่แฝงเจตนาที่จะกระทำความผิด
ปลุกระดมความเกลียดชังและการหมิ่นประมาท
เจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงได้ทำการสกัดจับเขาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดิน Shek Mun ทางการอ้างว่า ชูไคปอง สวมเสื้อยืดและสวมหน้ากากที่พิมพ์ข้อความที่ทางการกล่าวหาว่าจงใจปลุกระดมความเกลียดชัง หมิ่นประมาท หรือแสดงความไม่พอใจต่อ “ระบบพื้นฐานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีน”
ทางการฮ่องกงระบุอีกว่า จำเลยมีเจตนาที่จะปลุกระดมความไม่พอใจต่ออำนาจรัฐธรรมนูญ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการในฮ่องกง อีกทั้งยังเป็นข้อความที่จงใจปลุกระดมผู้อื่นให้พยายามเปลี่ยนแปลงระบอบอย่างผิดกฎหมาย ไม่ให้เป็นไปตามแนวทางกฎหมายของรัฐบาลกลางของประเทศจีน
วิคเตอร์ โซ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาฝ่ายความมั่นคงและหัวหน้าตุลาการ ปฏิเสธไม่ยอมให้ ชูไคปองได้รับการประกันตัวและสั่งให้เขายังต้องอยู่ในเรือนจำต่อไป มีประกาศว่าจะมีการพิจารณาครั้งถัดไปในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้
หน้ากากสีเหลืองที่ชูไคปอง สวมนั้นมีข้อความระบุว่า “FDNOL.” ที่เป็นตัวย่อของวลีที่ว่า “Five Demands, Not One Less” (5 ข้อเรียกร้อง ไม่น้อยไปกว่านั้น) ซึ่งเป็นคำขวัญในช่วงที่มีการประท้วงในปี 2562 ที่ระบุถึงข้อเรียกร้องของขบวนการ
การประท้วงปะทุขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 โดยตอนแรกเป็นการต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนที่กลัวว่าจะเป็นการนำมาใช้เล่นงานนักโทษการเมือง ต่อมามีการยกเลิกกฎหมายนี้แล้วการประท้วงก็ยกระดับเป็นการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและการต่อต้านอำนาจอิทธิพลจากจีน ซึ่งบางครั้งก็มีการแสดงออกที่รุนแรงในเชิงต่อต้านพฤติกรรมของตำรวจ กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการสืบสวนอย่างอิสระต่อการกระทำของตำรวจ, เรียกร้องให้นิรโทษกรรมผู้ที่ถูกจับกุม และเรียกร้องให้เลิกระบุถึงการประท้วงว่าเป็น “การจลาจล”
หลากวิธีประท้วงของชาวฮ่องกงในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อประท้วงต่อต้านอำนาจนิยมจากรัฐบาลฮ่องกงและอิทธิพลจากจีนแผ่นดินใหญ่ ตั้งแต่การต่อคิวหน้าศาลที่ถูกห้ามเข้า การเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจของฝ่ายประชาธิปไตย บอยคอตต์เผด็จการ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม วิธีการอย่าง การสวมหน้ากากสีเหลือง หรือพูดถึง “5 ข้อเรียกร้อง ไม่น้อยกว่านั้น” หรือ “ปลดปล่อยฮ่องกง” ฯลฯ อาจถูกตีความว่ากำลังละเมิดกฎหมายความมั่นคง
กฎหมายความมั่นคง “มาตรา 23”
ต่อมาทางการจีนก็ทำการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพื่อบังคับใช้กับฮ่องกงในปี 2563 และหลังจากนั้นสภานิติบัญญัติของฮ่องกงก็เพิ่งจะมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งคือเทศบัญญัติรักษาความมั่นคงแห่งชาติ หรือมาตรา 23 ที่มุ่งเป้าปราบปรามการกระทำทรยศชาติ, การก่อกบฏ, การก่อวินาศกรรม, การแทรกแซงจากต่างชาติ, การยุยงปลุกปั่น, การจารกรรมความลับของรัฐ
กฎหมายเทศบัญญัติฉบับใหม่ที่เรียกว่ามาตรา 23 นี้อนุญาตให้มีการคุมขังก่อนการพิจารณาคดีได้มากที่สุด 16 วัน และอาจจะจำกัดไม่ให้จำเลยเข้าถึงทนายความได้ บทลงโทษสูงสุดคือการจำคุกตลอดชีวิต
จริงๆ แล้วกฎหมายมาตรา 23 นี้เคยมีการเสนอมาก่อนตั้งแต่ปี 2546 แต่ก็ถูกระงับไว้หลังจากมีการประท้วงใหญ่ และยังเป็นกฎหมายต้องห้ามหลังจากนั้นเป็นเวลาอีกหลายปี แต่เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ก็มีการเร่งผ่านร่างกฎหมายนี้อย่างรวดเร็วและอย่างเป็นเอกฉันท์ในสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่ไร้ฝ่ายค้าน
กฎหมายมาตรา 23 ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยกลุ่มเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน, กลุ่มประเทศตะวันตก และองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นกฎหมายที่กำกวม, ตีความได้กว้าง และ “ล้าหลัง” แต่ฝ่ายทางการฮ่องกงอ้างว่าพวกเขาเห็นการแทรกแซงจากต่างชาติและถือเป็นหน้าที่ในเชิงรัฐธรรมนูญในการที่จะ “อุดช่องโหว่ทางกฎหมาย” หลังจากที่มีการประท้วงปี 2562
เรียบเรียงจาก
New security law: Man denied bail under Article 23 over ‘seditious’ slogans on t-shirt and mask, Hong Kong Free Press, 14-06-2024
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ประชาไท / วันที่เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2567
Link : https://prachatai.com/journal/2024/06/109692