ถ้าระเบิดทำไง? เฮียล้านหวั่นใจ ถามกทม.ช้าไปไหม? รถ EV ใช้มา 2 ปี ยังไม่มีแผนเผชิญเหตุ
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต เข้าร่วมประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567
บรรยากาศในช่วงเช้า ตั้งแต่ 10.30 .น นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ พรรคเพื่อไทย รายงานผลการดำเนินการตามญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครจัดทำแนวทางปฏิบัติกรณีเกิดเหตุไฟไหม้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) โดยมี นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร หรือ เฮียล้าน ส.ก.เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมถึงญัตติดังกล่าว โดยแสดงความเป็นห่วง กทม.ที่ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนเพื่อเผชิญเหตุเพลิงไหม้จากรถ EV
นายสุทธิชัย กล่าวว่า ทางผู้บริหาร กทม.ได้ส่งแนวทางการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ไฟฟ้า ได้อ่านเอกสารแล้วกังวลมาก คือเรายังไม่มีอุปกรณ์ที่จะดับเพลิงรถ EV ถ้าเราอ่านเอกสารตามที่ทางผู้บริหาร กทม.เสนอมา มันน่าเป็นห่วงมาก คำชี้แจงในเอกสารบอกว่า อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดสรรของบประมาณเพื่อจัดหาอุปกรณ์การเผชิญเหตุ อาทิ ผ้าคลุมดับเพลิง เครื่องดับเพลิงสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า EV และอุปกรณ์ที่กักเก็บแบตเตอรี่ก่อนนำไปทำลาย
“หลายสิ่งหลายอย่าง ผมมองแล้ว กทม.สิ่งที่ผมได้อ่านแสดงว่าต้องเตรียมการ มันช้าไปไหม รถ EV ใช้มา 2 ปีแล้ว นี่เพิ่งเตรียมและที่สำคัญที่สุดใน (4) เขียนมาอีกว่า กทม.ให้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณและเพื่อจ้างผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาวิเคราะห์ รถ EV ไหม้ไปหลายคันแล้ว ที่ปรึกษาวิเคราะห์ไม่รู้ว่ามีความเชี่ยวชาญจริงไหม ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมี ตรงนี้น่าห่วง
ผมเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาจจะมีประสบการณ์แต่เราไม่มีอุปกรณ์สำหรับใช้ดับเพลิงรถ EV นี่คือข้อสำคัญ นอกจากเรื่องเพลิงไหม้จะเห็นว่าบางคันน้ำท่วมนิดหน่อยก็เกิดปัญหา รถใหม่ป้ายแดงจอดไว้แล้วน้ำเกิดท่วม แบตเตอรี่ พัง และไปเคลมกับบริษัทมีค่าใช้จ่าย 1.1 ล้านบาท นี่คือปัญหาที่เรา กทม.จะต้องหามาตรการอย่างไรในความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของพี่น้องกรุงเทพฯ หรือคนต่างจังหวัดที่เข้ามาในพื้นที่
ฝากผู้บริหารกทม.ด้วยว่ากรรมการที่ท่านจะตั้งมา มีความรู้ความสามารถจริงไหม ไม่ใช่ตั้งมาเพื่อให้ครบองค์ แต่ไม่รู้อะไรเลย ท้ายที่สุดจะแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด” นายสุทธิชัยกล่าว
นายสุทธิชัยกล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนได้แสดงความคิดเห็นในเรื่อง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบเรื่องเกิดเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฟังดูแล้วยังคิดว่าไม่มีความพร้อม ถ้าเราของบปีนี้กว่าจะได้ของอุปกรณ์ คงได้กลางปีหน้า และช่วงนี้ถ้าเกิดเหตุเพลิงไหม้จะทำอย่างไร คือความล่าช้าของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเตรียมการ ยุคของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.คนปัจจุบัน ต้องเร็ว แต่เรื่องนี้ช้ามาก ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วกว่านี้
“เพราะถ้าเกิดเหตุเพลิงไหม้ สมมติว่าของเราในเพื่อน ส.ก.บางท่านใช้รถ EV จู่ ๆ เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นมาทำอย่างไร โทรแจ้งไปสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ แจ้งเจ้าหน้าที่ไป มาถึงไฟไหม้ทั้งคันแล้ว มันต้องมีมาตรการอย่างไร ของต้องติดรถยังไง สำหรับคนใช้รถ EV ถังดับเพลิงเครื่องดับเพลิงใช้เฉพาะตรงนั้นอย่างไร ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับอยู่ในรถก่อน เพราะกว่ารถของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยใช้เวลา 7-15 นาที มาไม่ทันหรอก ไหม้หมดแล้ว
ท้ายที่สุดแล้วบางคนผ่อนรถอยู่กลายเป็นผ่อนซากรถจากเพลิงไหม้ และความสูญเสียของพี่น้องประชาชนที่ใช้รถ EV ที่ผมเป็นห่วง ว่าในการตั้งกรรมการ ที่นี่การตั้งอะไรเสร็จช้า งานช้าจะเสร็จก็เพิ่มกัน งานอะไรก็ไม่เสร็จสักอย่าง ผมเรียนตรง ๆ ว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าห่วงที่สุด อย่างไรก็ต้องทำเอกสารให้ผมในเรื่องนี้” นายสุทธิชัยกล่าว
ในตอนหนึ่ง พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ตอบคำถาม นายสุทธิชัย ว่า เรื่อง EV เป็นประเด็นที่ กทม.เราให้ความสำคัญ โดยส่วนตัวยอมรับว่า เรายังไม่พร้อมมากนัก มีการจัดทำการของบประมาณ แต่ก็ยังไม่ได้รับการดำเนินการ ตามที่ทุกท่านทราบ
“ในส่วนของคณะกรรมการ รองปลัดฯ กำลังสอบถามอยู่ แต่ขอนำเรียนข้อมูลเพิ่มเติม คือในปีนี้เราจะมีการซ้อมแผนเผชิญเหตุเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เป็นเรื่องของการมีอุบัติเหตุจากรถ EV ภายใต้อาคารจอดรถแล้วทำให้เกิดประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง เราจะได้เรียนรู้และมีส่วนฝึกซ้อมด้วย
ขอเรียนว่า เราให้ความสำคัญ ส่วนในรายละเอียดจะมีการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร” พญ.วันทนีย์กล่าว
ด้าน นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ชี้แจงในส่วนของคณะกรรมการ ของ สํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่า จากที่ได้รับมอบหมาย เรื่อง แผนป้องกันและระงับภัยจากรถ EV กทม.โดยสำนักป้องกันฯ มีแผนซักซ้อม ณ สถานที่จริง ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลากทม.2 และลานจอดรถใต้อาคารไอราวัตพัฒนา แห่งนี้ ซึ่งจะเป็นการซ้อมปฏิบัติจริงทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง
“ซ้อมบนโต๊ะ 3 ครั้ง ในเดือน กรกฎาคม และซ้อมจริงในเดือนสิงหาคม” นายศุภกิจกล่าว
ด้าน นายสุทธิชัย กล่าวว่า ท่านเห็นหรือไม่ว่า ความพร้อมของ กทม.ไม่มีเลย ผู้บริหารระดับสูงก็ตอบไม่ได้
“ถ้าการของบฯ มีการชี้แจงเหตุผลการใช้รถ EV ได้ไม่เคลียร์ ตัดนะ เพราะท่านไม่มีความพร้อม ความปลอดภัยของประชาชนในการใช้รถ EVเป็นเรื่องสำคัญ และนับวันจะสำคัญมากขึ้น เพราะประหยัดกว่ารถสันดาป แล้วถ้าเราไม่มีความพร้อมในการช่วยดับเพลิง ถ้าไม่มีอุปกรณ์ น่าเป็นห่วงที่สุด” นายสุทธิชัยกล่าว และว่า
คนเป็น 10 กว่าล้านคนที่อาศัย ทำงานอยู่ที่นี่ รถติด รถมาก แล้วถ้าติดแล้วระเบิด ลามมาเยอะ ๆ จะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดเหตุแล้วไม่มีอุปกรณ์ นี่คือสิ่งที่เป็นห่วง
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 มิ.ย. 2567
Link : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4636385