ฟีดแบกปังทะลัก ‘กงสุลใหญ่’ ทูตแบบรุก ‘ตรวจDNA’ คนไทยในมาเลย์ ชี้ ปี67 ยอดพุ่งเท่าตัว – หวังพิสูจน์สถานะ บัตรปชช.ใบแรกใน 1 เดือน คืนสิทธิราษฎรไทย ไม่ต้องอยู่แบบหลบๆ
วันพุธที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู (สกญ.ฯ) ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนิน โครงการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎรประจำปี 2567 โดยตั้งจุด One stop service เพื่อดำเนินการตรวจสัญชาติ ด้วยวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ ระหว่างวันที่ 28 – 29 พฤษภาคมนี้
เวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ไร้สัญชาติที่พำนักอยู่มาเลเซีย จากหลากเมืองและหลายรัฐ หลั่งไหลเดินทางมาต่อคิวเพื่อรับบริการการตรวจพิสูจน์ DNA โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนมากเดินทางมาเป็นครอบครัว พร้อมกับนำบัตรประชาชนของ ‘คู่เทียบ’ หรือบุคคลร่วมสายเลือดมาลงทะเบียนที่จุดคัดกรอง เนื่องจากการยืนยันสถานะจะต้องใช้วิธีการตรวจเป็นคู่ เพื่อนำสารพันธุกรรมมาเทียบเคียงว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ หากตรวจพบว่าเป็นคนไทย ก็สามารถเข้าสู่ขั้นตอนออกบัตรประชาชนใบแรก เพื่อรับสิทธิในด้านต่างๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีตั้งแต่มารดาที่มาตรวจพิสูจน์ DNA พร้อมกับบุตร ไปจนถึงบิดา ปู่ ย่า ตา ยาย หลาน โดยขั้นตอนการตรวจ DNA แบ่งออกเป็น 5 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 ยื่นเอกสาร (บัตรปชช. ของคู่เทียบ) เพื่อกรอกประวัติ และเซ็นยินยอม รวมถึงทำผังครอบครัว เพื่อบ่งชี้ว่าเป็นญาติส่วนไหน ซึ่งจะนำมาสู่การกำหนดรูปแบบการตรวจที่ใช้จำนวนชุดน้ำยาตรวจ ต่างกัน เช่น ตรวจในแบบพ่อหรือแม่กับลูก ใช้น้ำยาตรวจ 1 ชุด หากตรวจแบบญาติ เช่น ตากับหลาน จะใช้ 2 ชุดเป็นต้น
จุดที่ 2 ตรวจดีเอ็นเอ โดยการเก็บเยื่อบุกระพุ้งแก้ม
จุดที่ 3 ถ่ายรูป
จุดที่ 4 พิมพ์ลายนิ้วมือ
จุดที่ 5 ตรวจสอบขั้นตอนสุดท้าย ไม่ให้ความผิดพลาด ซึ่งจะต้องมีการเซ็นยินยอม เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล
นายภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มมาแล้ว 7 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สถานะทางสัญชาติในมาเลเชีย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยในรัฐกลันตัน ที่เชื่อมโยงกับ จ.นราธิวาส จึงมีคนไทยเดินทางมาเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่รับจ้างตัดยางอยู่ในป่ายาง หรือไม่ก็ทำการเกษตร เช่น ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยอยู่มาเป็นระยะเวลานาน เมื่อมีครอบครัว มีลูก ก็ไม่ได้แจ้งเกิด ไม่มีทะเบียนราษฎร์ เป็นปัญหาสะสม ไม่ใช่เฉพาะในมาเลเซีย เพราะคนไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีปัญหา ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน
“ศอ.บต.ได้ดำเนินการตรวจ DNA สถิติฝั่งไทย 2,000 กว่าราย โดยใช้เครื่องมือทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากกระทรวงการต่างประเทศ และ ศอ.บต.
เราเริ่มดำเนินการมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2560 ยกเว้นช่วงโควิดปี 2563-2565 โดยในปีแรก 2560 มีคนมาลงทะเบียนรับการตรวจ 74 คน ในปี 2561 จำนวน 90 คน, ปี 2562 จำนวน 92 คน, ปี 2566 จำนวน 97 คน
“ส่วนปีนี้ 2567 ที่กำลังดำเนินการอยู่ ตัวเลขพุ่งเท่าตัวคือ 235 คนและยังสูงขึ้นตามลำดับ เฉพาะในปี 2566 มีผู้เข้าร่วม 97 คน ออกสูติบัตรได้ 89 คน หรือกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จากยอดคนที่มาตรวจฯ เราได้จัดทำ One stop Services ที่โก-ลก เพื่อให้สามารถออกบัตรประชาชนวันนั้นได้เลยเมื่อนำสูติบัตรไปแสดงตน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้มีการพูดปากต่อปาก เพราะมีผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งในจำนวนนั้นเราสามารถออกบัตรประชาชนได้ถึง 70 คนทันที” นายภาษิตเผย
นายภาษิตกล่าวต่อว่า ในส่วนของรัฐกลันตัน ตรวจฯ ไปแล้วเกือบ 500 คน รวมในฝั่งไทยอีก 2,000 คน นับเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นโครงการที่เราปฏิบัติตามภารกิจหลักของกระทรวงการต่างประเทศ คือการดูแล คุ้มครอง และรักษาผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศอย่างเป็นธรรม จับต้องได้ ให้บริการคนไทยทุกกลุ่มโดยไม่แบ่งแยกศาสนา ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้คนไทยเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การบริการภาครัฐ ทั้งการรักษาพยาบาล เข้าเรียน ในฐานะพลเมืองไทย
ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้คนไทยเหล่านี้ มีเอกสารเดินทาง สามารถพำนักในมาเลเซียได้อย่างถูกต้อง ถูกกฎหมาย หากเขาอยากกลับไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็สามารถทำได้” นายภาษิตชี้
นายภาษิตกล่าวอีกว่า ในด้านการตรวจ ความซับซ้อนขึ้นอยู่กับแค่ละเคส หากคู่เทสต์มีความซับซ้อนอาจจะต้องใช้เวลานาน โดยจะทยอยส่งผลมาที่กงสุลใหญ่ แล้วเราก็จะประสานกลับไปให้เขามาติดต่อที่กงสุล เพื่อที่เราจะออกสูติบัตรให้ ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการเข้าระบบ โดยจุดนี้จะต้องมีการประสานต่อ จึงเป็นเหตุให้มีการตั้งจุด One stop Services
“เพราะไม่อย่างนั้น เมื่อได้เอกสารจากเรา เขาจะต้องข้ามไปฝั่งไทย ด้วยข้อจำกัดหลายประการ เช่น ทำงานในป่ายางเป็นต้น กระบวนการมีความซับซ้อนในเชิงกฎหมาย ดังนั้น การตั้ง One stop Services ฝั่งไทย โดยสถานกงสุล ประสานงานไปเป็นลอต ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ เหตุที่ออกบัตรที่นี่เลยไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมาย สถานกงสุลใหญ่ เราออกบัตรประชาชนใบแรกไม่ได้ แต่หากต่ออายุบัตรใบที่ 2 หรืออื่นๆ สามารถติดต่อ สถานกงสุลใหญ่ได้” นายภาษิตกล่าว และว่า
เมื่อมีเอกสารยืนยันตน ก็จะเข้าสู่สิทธิพื้นฐานในการเป็นคนไทย ที่สามารถเข้าไปรับการรักษา มีบัตรทอง หรือบุตรหลานสามารถเข้ารับการศึกษาได้
เมื่อถามถึงยอดที่พุ่งขึ้นเท่าตัวในปีนี้ มองว่าเป็นผลจากอะไร ?
นายภาษิตระบุว่า เป็นผลจากการที่ 1.เราทำงานเชิงรุก ออกไปหาเขา 2. เมื่อเราออกให้ได้ เขาก็บอกกันปากต่อปากถึงประโยชน์ที่จะได้รับ 3.การร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน ทำให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้นในมิติต่างๆ
ด้าน นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการ รมต. กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ต้องขอบคุณทาง ศอ.บต.ที่ได้มาร่วมในงานครั้งนี้ด้วย เรื่องแรก ตนทราบมาว่า ในปีนี้มีผู้แจ้งสถานะตกหล่นมากที่สุด โดยตั้งแต่ปี 2560 เราดำเนินการตรวจพิสูจน์สถานะได้ 353 คน แต่เฉพาะในช่วง 2 วันนี้ (28-29 พ.ค.) มีจำนวนถึง 235 คน ซึ่งนับเป็นสถิติที่มากที่สุดตั้งแต่ที่ได้ดำเนินโครงการมา
“ความแตกต่างคือ ภาคอื่นจะเป็นแรงงานทะลักเข้ามา แต่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือแรงงานไทยที่เข้ามาอยู่ในมาเลเซีย แบบหลบๆ ซ่อนๆ ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะด้วยเหตุผลเรื่องการเมือง แต่ทุกวันนี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง หารายได้ให้ครอบครัว เขาต้องหลบๆ ซ่อน นับเป็นโอกาสดีที่เราได้เปิดช่องตรงนี้”
“เรานำเสนอว่า ถ้าคุณไม่มีบัตร จะขาดโอกาสหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล”
“แต่เสียดาย เราน่าจะมี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้ามาด้วย เพราะหลายท่านท้องอยู่ มีลูกอ่อน ถ้ามีการดูแลแม่และเด็กเข้ามาด้วยจะดีมาก เพราะทุกวันนี้ยังเกิดความหวาดระแวงนิดๆ ถ้ามาจะโดนจับหรือเปล่า
ต้องขอบคุณ ‘กงสุลใหญ่’ ที่ทำงานเชิงรุก ลงไปค้นหา เพื่อดึงเข้าระบบ 235 ท่าน ทำลายสถิติเก่า ถ้าทำตามระบบจริงๆ ต้องใช้เวลา 300-400 ปีถึงจะหมด ที่น่าทึ่งกว่านั้น ผมเป็นชาวมุสลิม ไม่ได้มาที่นี่บ่อย แต่ยังรู้ไม่มากเท่าที่กงสุลใหญ่รู้” นายกูเฮงกล่าว
นายกูเฮงยังกล่าวถึง ภาพจำด้านปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยว่า ‘กลันตัน’ เป็นรัฐที่เคร่งศาสนาที่สุด แต่ทำไมวัดอยู่ข้างมัสยิดได้
“ที่ว่าอิสลามสอนให้คนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น คุยกันกับท่าน รัฐมนตรีจนตกผลึก ว่าเราเดินมาถูกทางไหม เมื่อก่อนรัฐมองว่า อยากให้คน 3 จังหวัดพูดไทยได้ ผมพูดมลายูในไทยโดนเฆี่ยน แต่วันนี้เป็นอีกมิติหนึ่ง เป็นในเรื่องของความมั่นคง ความสวยงาม สร้างรายได้ ให้กลับคืนสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” นายกูเฮงระบุ
นายกูเฮงกล่าวต่อว่า ปัญหาของพวกเรา คือประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่อาจจะได้รับสิทธิช้า จึงคุยกับ ศอ.บต.ถึงแนวคิดในการที่จะทำ ‘โหนดเก็บ DNA’ ตามโรงพยาบาลและสถานพยาบาล เพื่อให้ความยุติธรรมเข้าถึงประชาชนได้เลย ไม่ต้องรออีก 3-4 เดือน เป็นอีกวิธีแก้ปัญหา ซึ่งจะเริ่มทำในปีนี้ มี 13 หน่วยงานที่ร่วมมือ ตรวจ DNA
ซึ่งจะมีสามารถมีบัตรประชาชนใบแรกได้ภายใน 1 เดือน ถ้าเป็นพ่อแม่ลูก 2 สัปดาห์ก็ได้ผล แต่ถ้าเป็นยายหลานกับเหลน อาจจะใช้เวลาวิเคราะห์นานขึ้น ประมาณ 1 เดือน
เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจแต่ละเคส ?
นายกูเฮงกล่าวว่า รมว.ยุติธรรม บอกว่า ต้องไม่ให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ เดินเข้ามาตรวจได้ฟรี แต่ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 2,500 บาท บาท/คน รวมคู่เทียบ ตกเคสละ 5,000 แต่เคสที่ยาก ต้องใช้น้ำยา 2 ชุด จะตกประมาณ 10,000 บาท/เคส
“10,000 บาทกับการได้สถานะทางทะเบียนราษฎร์ ท่านมองว่าไม่แพงเลย ที่ผ่านมาเคยตรวจแล้วไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน มีประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ เคสส่วนมากเชื่อมั่นอยู่แล้ว แต่ก็มีบางเคสที่เข้าเชื่อมั่นมาตลอด แต่ผลปรากฎว่าไม่ใช่ เป็นเรื่องหนักใจพอสมควรในการให้ข้อมูล” นายกูเฮงเผย
ขณะที่ นพ.สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า ตนมีโอกาสได้ร่วมงานกับกระทรวงการต่างประเทศ ได้มาคุยเรื่องมิติ ‘สันติภาพ’ ซึ่งที่สถานกงสุลใหญ่ ยังเป็นแหล่งพูดคุยอีกด้วย
ด้วยความที่ตนเป็นหมอ จึงมองเห็นปัญหาสุขภาพ เช่นเรื่องวัคซีน และกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดคือ ‘กลุ่มไร้สัญชาติ’ โดยประเด็นหลักคือวัคซีนของเด็ก ทั้งที่เราเป็นเมืองพี่เมืองน้องกัน แต่กลับเข้าไม่ถึง ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องราวที่กระบวนการรัฐยังไม่ได้จัดการ เช่น ติดปัญหาหน้างาน เอารถไปรับผู้ป่วยกลับไม่ได้ สุดท้ายแก้ปัญหาได้ด้วย กลันตัน อำนวยความสะดวก ด้วยความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น จนรัฐกลันตัน จัดรถไปส่งให้
“ถ้าใครได้ติดตามงานสังคมของภาคใต้ เราเป็นระดับรั้งท้ายตลอด แต่ความจริงบ้านผมมีสถานที่สวยงามมากที่สุด มีมหาวิทยาลัยที่ดี มีผังเมืองสวยงาม เป็นมิติที่ส่วนตัวเห็นว่า ต้องมาอำนวยคนไทย เพื่อเอาเงินจากการทำงานที่นี่ไปสู่พื้นที่บ้านเรานราธิวาส เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพราะเด็ก 70 เปอรเซ็นต์จะเป็นลูกครึ่ง ที่แต่งงานกับชาวมาเลเซีย อินโดนีเซียบ้าง เนื่องจากผมไปลงพื้นที่ เพื่อติดตามว่าหลังพิสูจน์สัญชาติ ได้รับสิทธิสวัสดิการหรือยัง การทำบัตรประชาชน จะช่วยแก้ปัญหาได้ทุกมิติ ในความไม่เข้าใจกับชาวบ้าน” นพ.สมหมายระบุ
นพ.สมหมายกล่าวอีกว่า เมื่อก่อน ตนเป็น ผอ.โรงพยาบาล เจอคนไทยไร้สัญชาติมารักษา ด้วยความเราเป็นหมอ ไม่เคยให้เขาขาดทุนรักษาโดยวิธีการให้ฟรี อย่างไรก็ดี ตนมองว่าเราควรจะมีงบประมาณในการดูแล เช่น งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เราน่าจะทำเรื่อง ‘ศูนย์ปฐมภูมิ’ เพราะที่นี่คือประเทศไทย ที่นี่ควรจะต้องมีศูนย์ปฐมภูมิทุก 3 เดือน และทำอย่างไรที่จะปลดล็อกเรื่องการทำบัตรประชาชนที่นี่ได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับไปทำที่เมืองไทย
“ศอ.บต.พร้อมตอบรับทุกเรื่องที่รัฐบาลอยากให้เราทำ ผมเชื่อว่าในอีก 5 ปี มิติความไม่เข้าใจกับชาวบ้าน ความเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรม จะลดลง ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิพื้นฐาน หลังจากนี้ เชื่อว่าจะมีหน่วยงานรัฐ มาช่วยกันที่นี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในบ้านของเรา ให้ได้รับความอบอุ่น” นพ.สมหมายระบุ
เมื่อถามถึงเคสที่อายุมากที่สุด ?
นพ.สมหมายเผยว่า เคยเจอเคสไม่มีบัตรประชาชน อายุ 67 ปีอยู่ที่กรุงปีนัง แต่สามารถออกบัตรได้ภายใน 3 วัน เป็น 60 กว่าปีที่ไม่เคยได้รับสิทธินี้เลย
เมื่อเปรียบเทียบแล้วว่าเป็นคนไทย จะเข้าสู่ขั้นตอนได้รับสิทธิอย่างไรต่อไป ?
นพ.สมหมายกล่าวว่า หลังจากได้ข้อมูลและตรวจ DNA แล้ว ประมาณ 1-2 เดือนจึงจะทราบผลตรวจ จากนั้นก็ไปแจ้งที่ทะเบียนราษฎร์ มีปลัดอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ
“เมื่อไปยื่น ก็สามารถออกบัตรได้เลย ประมาณไม่เกิน 1 เดือน ก็จะมีทะเบียนราษฎร์แล้ว ซึ่งถือว่าเร็วมาก” นพ.สมหมายกล่าว พร้อมฝากถึงรัฐบาลในอนาคต แก้ปัญหาบัตรประชาชนครั้งแรก ให้จบที่มาเลเซีย
ด้าน นายวรวีร์ ไวยวุฒิ รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เราทำงานภายใต้กระทรวงยุติธรรม ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาหลักคนไทยไร้สถานะทะเบียนราษฏร์ โดยจากการสำรวจพบว่ามีถึง 99,000 คน
ซึ่งบุคคลต้องมีสถานะทางทะเบียนราษฎรก่อน จึงจะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงบูรณาการ ร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อบ่งชี้ว่าเขาเป็นคนไทยตั้งแต่เกิด ตอนนี้เราพัฒนาเทคนิคให้สามารถพิสูจน์ได้ 3 ชั้นลำดับ ซึ่งยังต้องอาศัยกฎหมาย มาเป็นตัวยืนยันด้วย
“เป็น 100 ปี กว่าปัญหานี้จะหมดไป แต่มันจะไม่หมดเพราะเขาจะมีบุตรต่อไป เราจะแก้ให้ทุเลาภายใน 3 ปี และปัญหาน่าจะหมดใน 5 ปี ถ้าได้ทำตามโรดแมปที่วางไว้ ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เห็นปัญหาร่วมกัน และช่วยกันแก้ไข” นายวรวีร์กล่าวทิ้งท้าย
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 30 พ.ค.67
Link : https://www.matichon.co.th/politics/news_4602289