เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ กฎระเบียบฝ่ายบริหารเพื่อการบังคับใช้กระบวนวิธีดำเนินการสำหรับหน่วยงานยามฝั่งต่าง ๆ (Administrative Law Enforcement Procedures for Coast Guard Agencies) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีผลบังคับใช้แล้ว โดยหน่วยงานยามฝั่งของจีนมีอำนาจจับและยึดเรือต่างชาติที่ต้องสงสัยว่ารุกล้ำเขตแดนทางทะเลของจีน โดยให้เวลาการแก้ต่าง 60 วัน ซึ่งกฎระเบียบนี้ออกมาภายหลังที่ทางการจีนได้ผ่านกฎหมายพิทักษ์ชายฝั่ง (The Coast Guard Law) เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ.2564 ที่อนุญาตให้หน่วยยามฝั่ง (coast guard) ที่เป็นองค์กรรักษาความปลอดภัยทางทะเลของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีอำนาจใช้ทุกวิธีที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงการใช้อาวุธในการหยุดยั้งเรือต่างชาติที่ล่วงละเมิดน่านน้ำของจีน นอกจากนี้ ยังให้อำนาจหน่วยยามฝั่งทำลายรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างบนเกาะหรือแนวหินปะการังที่อยู่ในเขตแดนที่จีนอ้างอีกด้วย
ปัญหาก็คือสาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างกรรมสิทธิ์พื้นที่มากที่สุดประมาณ 90% ของทะเลจีนใต้ โดยใช้ “เส้นประ 9 เส้น” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่อยู่ห่างจากมณฑลไหหลำทางใต้สุดของจีนไปทางใต้และทางตะวันออกหลายร้อยกิโลเมตร รัฐบาลจีนบอกว่ากรรมสิทธิ์ของจีนในพื้นที่นี้มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปนานหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยที่หมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีย์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน และใน พ.ศ.2490 จีนได้ทำแผนที่ที่ระบุถึงรายละเอียดในการอ้างกรรมสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหมู่เกาะทั้งสองแห่งนี้อยู่ในเขตแดนของจีน อย่างไรก็ตาม มีการโต้แย้งว่าจีนไม่ได้อธิบายกรรมสิทธิ์ของจีนอย่างชัดเจนเพียงพอ และ “เส้นประ 9 เส้น” ที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ของจีนล้อมรอบพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ไม่มีระยะพิกัดกำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจีนอ้างกรรมสิทธิ์เฉพาะดินแดนที่เป็นแผ่นดินภายในขอบเขตเส้นประ 9 เส้น หรือรวมถึงน่านน้ำทั้งหมดในบริเวณนั้นด้วย เวียดนามโต้แย้งการอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ของจีน โดยระบุว่าจีนไม่เคยมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะทั้งสองแห่งนี้มาก่อน เวียดนามบอกอีกด้วยว่า เคยปกครองหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีย์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และมีหลักฐานหลายอย่างพิสูจน์คำกล่าวอ้างนี้ ทำให้ทั้งจีนและเวียดนามปะทะกันทางเรือจนเกิดความเสียหายถึงขั้นเสียชีวิต จับตัวไปและจมเรือกันมาแล้วหลายครั้ง
ที่ผ่านมา เรือตรวจการณ์ชายฝั่งของจีนที่มีอยู่ราว 200 ลำ มักเผชิญหน้ากับเรือจากมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งต่างกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์บางส่วนในทะเลจีนใต้ ในขณะที่เรือรบของสหรัฐอเมริกา มักแล่นผ่านน่านน้ำที่มีอาณาเขตราว 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรนี้เช่นกัน เพื่อแสดงถึงเสรีภาพในการเดินเรือ แต่เรื่องที่น่าวิตกก็คือ ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมามีเหตุการณ์กระทบกระทั่งอย่างรุนแรงระหว่างฟิลิปปินส์ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนตึงเครียดขึ้นตามลำดับ กล่าวคือในระยะไม่กี่เดือนที่มีเรือขนาดใหญ่ของหน่วยยามฝั่งจีนหลายต่อหลายลำ กำลังใช้เครื่องฉีดน้ำแรงสูงเครื่องใหญ่ทรงพลัง เล่นงานใส่เรือของหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ลำหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่า ในบริเวณน่านน้ำที่สองประเทศพิพาทกันอยู่รอบ ๆ สันดอน สคาร์โบโร (Scarborough Shoal)
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้พบปะกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ในวอชิงตัน ดีซี. เพื่อหารือกันในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของภูมิภาค โดยประธานาธิบดีไบเดนได้ย้ำยืนยันว่า ให้ความสนับสนุน “แบบหุ้มเกราะแข็งแกร่ง” แก่ฟิลิปปินส์ ภายใต้ข้อตกลงในสนธิสัญญาเพื่อการป้องกันร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกา-ฟิลิปปินส์ ซึ่งก็รวมไปถึงการพิทักษ์ปกป้องเรือต่าง ๆ ของหน่วยยามฝั่งที่ตกอยู่ภายใต้การโจมตีด้วยกำลังอาวุธในทะเลจีนใต้ด้วย
ปัญหาของการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงสูงของจีนเช่นนี้ ถึงแม้มีศักยภาพที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บถึงแก่ชีวิตได้ อาจถือว่าเป็นอาวุธได้หรือไม่นั่นเอง จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนคือการใช้อำนาจทางทะเล ขู่เข็ญ ยั่วแหย่ หรือเรียกได้ว่ารังควานชาติต่างๆ ที่มีข้อพิพาทพรมแดนทางน้ำกับจีน การใช้กองกำลังหลากหลายรูปแบบทั้งเรือสำรวจ เรือประมง เรือขุดลอกทราย เรือหน่วยยามฝั่ง แม้กระทั่งเรือรบและเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพปลดปล่อยประชาชน แล่นโฉบเฉียดน่านน้ำที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ กำลังสร้างความกังวลแก่หลายชาติ ทั้งในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก และช่องแคบไต้หวัน มาบัดนี้ได้คืบไปอีก 1 ก้าว โดยใช้หน่วยยามฝั่งของจีนเป็นแนวหน้าในการขู่เข็ญ รังควานชาติต่าง ๆ ที่มีข้อพิพาทพรมแดนทางน้ำกับจีนนั่นเอง
เนื่องจากหน่วยยามฝั่งของจีนมีลักษณะคล้ายกับเป็นกองทัพเรือที่สอง โดยเรือบางลำนั้นได้ติดตั้งปืนใหญ่แบบเดียวกันกับเรือรบ และสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้ประโยชน์ของกองกำลังหน่วยยามฝั่งในการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลอย่างต่อเนื่อง และใช้กองกำลังรักษาชายฝั่งเป็นเครื่องมือในการปกครอง ตั้งแต่นั้นมากองกำลังรักษาชายฝั่งจีนก็เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมีการเพิ่มจำนวนเรือและบุคลากรในกองทัพจนก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากันหลายครั้งกับประเทศต่างๆ รอบๆ ทะเลจีนใต้
บทความโดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ / วันที่เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2567
Link : https://www.infoquest.co.th/2024/407774