สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ว่า “ตามการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งที่ 2 หากศาลพบว่า บุคคลใดเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของบุคคลอื่น บุคคลนั้นอาจถูกห้ามครอบครองอาวุธชั่วคราว” นายจอห์น โรเบิร์ตส์ ประธานศาลฎีกา ลงความเห็น
“นับตั้งแต่มีการก่อตั้งประเทศ กฎหมายอาวุธปืนของสหรัฐ ครอบคลุมถึงการห้ามไม่ให้บุคคลนำอาวุธปืนไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อข่มขู่ผู้อื่น เมื่อนำข้อเท็จจริงมาพิจารณาถึงกรณีนี้ กฎหมายฉบับนี้ก็เหมาะสมกับข้อกำหนดดังกล่าว” ทั้งนี้ ความรุนแรงจากปืนกลายเป็นเรื่องปกติในสหรัฐ ประเทศที่มีจำนวนปืนมากกว่าประชากร และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงมากกว่า 40,000 ราย เมื่อปีที่แล้ว แต่ความพยายามในการระงับสิทธิครอบครองปืน มักเผชิญกับการต่อต้านทางการเมือง
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ แสดงความยินดีกับการตัดสินใจดังกล่าว พร้อมอ้างถึงผลงานในอดีตของเขา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายยกระดับความปลอดภัยของปืน และการยุติความรุนแรงบนพื้นฐานของเพศสภาพ
ไบเดนให้คำมั่นว่า จะผลักดันข้อกำหนดให้เข้มงวดยิ่งขึ้น “ด้วยผลการพิจารณาคดีวันนี้ เหยื่อที่รอดพ้นจากความรุนแรงในครอบครัว และครอบครัวของพวกเขา ยังคงสามารถพึ่งพาความคุ้มครองได้ เช่นเดียวกับในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา” ผู้นำสหรัฐเน้นย้ำว่า มีความ “มุ่งมั่น” ในการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง และจะผลักดันให้สภาคองเกรสดำเนินการ “เพื่อหยุดความรุนแรงจากปืนที่ทำให้ชุมชนแตกแยก”
อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดของสหรัฐระบุในคำตัดสิน เมื่อปี 2565 ว่าจะมีการยกเว้นสิทธิในการพกพาอาวุธเฉพาะกรณีที่ “สมเหตุสมผล” และจะยึดตามแบบอย่างในอดีตเมื่อต้องควบคุมอาวุธปืน ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นต้องใช้ความพยายามตัดสินว่าข้อจำกัดเกี่ยวกับอาวุธปืนก่อนหน้านี้ สอดคล้องกับ “ประวัติศาสตร์และประเพณี” ของการควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐช่วงปี 2343-2443 หรือไม่
ขณะที่ผู้พิพากษาคลาเรนซ์ โธมัส หนึ่งในคณะตุลาการ กล่าวว่า รัฐต่าง ๆ ดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อยึดปืนจากผู้ที่เคยใช้ก่อความรุนแรง “รัฐส่วนใหญ่ รวมถึงเทกซัส จัดประเภทการทำร้ายร่างกายที่รุนแรงว่าเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี ดังนั้น คำถามคือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งที่ 2 จะระงับการครอบครองปืนของราฮิมี และคนอื่น ๆ ได้หรือไม่” โธมัสให้ความเห็น “คำถามก็คือ รัฐบาลสามารถเพิกถอนสิทธิการครอบครองอาวุธ แม้ว่าเขาจะไม่เคยถูกกล่าวหาหรือตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาก็ตามได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้”
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2567
Link : https://www.dailynews.co.th/news/3567933/