เมื่อเสียง AI เหมือนมนุษย์เกินไปจนน่าขนลุก หลังทำเสียง สการ์เลตต์ โจแฮนสัน จนเจ้าตัวไม่สบายใจ ล่าสุดตัดสินใจระงับใช้งานไป
นับวัน ChatGPT หรือแชตบอต AI อัจฉริยะ ที่ตอบคำถามของผู้ใช้งานได้สารพัด จะยิ่งมีฟังก์ชันและความสามารถที่ล้ำขึ้น จนเหมือนมนุษย์เข้าไปทุกที ถึงขั้นทำให้นักแสดงสาว “สการ์เลตต์ โจแฮนสัน” ไม่สบายใจ หลังพบว่าเสียงใน ChatGPT คล้ายกับเสียงของเธอมากจนน่าขนลุก
ผู้อยู่เบื้องหลังแชตบอต AI ที่สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลกอย่าง ChatGPT ก็คือ บริษัท OpenAI องค์กรคิดค้นวิจัยเรื่องปัญญาประดิษฐ์
ที่ก่อตั้งขึ้นในนครซานฟรานซิสโก และได้รับการสนับสนุนจาก “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ
และเมื่อไม่นานมานี้ ทางบริษัทเพิ่งเปิดตัว ChatGPT เวอร์ชันใหม่ นั่นคือ GPT-4o (จีพีที-โฟร์โอ) ที่มาพร้อมความสามารถใหม่ๆ ทั้งการประมวลผลได้เร็วขึ้น โต้ตอบกับผู้ใช้งานได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น ถึงขั้นที่ผู้ใช้งานสามารถพูดแทรกได้เลยโดยที่ AI ก็ยังเข้าใจ นอกจากนี้ AI ยังสามารถส่งข้อความหยอกเล่นตอบกลับผู้ใช้งานได้ด้วย
แต่ความล้ำของ ChatGPT ก็ไม่วายสร้างเรื่อง เพราะล่าสุด ทางบริษัท OpenAI ออกมาเปิดเผยว่า ได้รับการติดต่อจากเอเจนซีของนักแสดงสาว สการ์เลตต์ โจแฮนสัน เนื่องจากพบว่า หนึ่งในเสียงผู้ช่วยที่ใช้ใน ChatGPT คล้ายกับเสียงของเธอ ซึ่งเคยรับบทผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ ในภาพยนตร์เรื่อง Her มากจนเกินไป
เบื้องต้น ทาง OpenAI ระบุว่า รับทราบเรื่องแล้ว และยอมรับว่าเสียงดังกล่าวอาจทำให้เกิดความสับสน จึงตัดสินใจระงับใช้งานไป
ด้าน โจแฮนสัน ออกแถลงการณ์เล่าเรื่องในฝั่งของตนเองว่า เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ได้รับการติดต่อยื่นข้อเสนอจาก แซม อัลต์แมน ซีอีโอของ OpenAI ที่อยากว่าจ้างให้เธอพากย์เสียงให้กับระบบ ChatGPT 4.0 ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุด แต่หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ประกอบกับมีเหตุผลส่วนตัว เธอตัดสินใจปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในอีก 9 เดือนต่อมา เธอก็ได้รับข้อมูลจากคนรอบตัวทั้งครอบครัว เพื่อน ๆ รวมถึงแฟน ๆ ซึ่งพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ChatGPT ตัวใหม่ ที่ชื่อว่า Sky เสียงเหมือนเธอมาก ๆ
แต่ถึงอย่างนั้น ทาง OpenAI และอัลต์แมน ก็ยังยืนกรานว่าเสียง Sky ใน ChatGPT ตัวใหม่ ไม่ใช่เสียงของโจแฮนสันอย่างแน่นอน พวกเขาไม่มีเจตนาที่จะเลียนแบบเสียงของเธอ และได้คัดเลือกนักพากย์เสียงมาเป็นต้นแบบ อีกทั้ง ยังรู้สึกเสียใจที่ไม่สื่อสารกับเธอให้ดีกว่านี้
โจแอนน์ จาง หัวหน้าทีมวางพฤติกรรมต้นแบบของ OpenAI ซึ่งมีส่วนในการแคสต์นักแสดงมาพากย์เสียงให้กับระบบแชตบอต เผยว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้คนจะแยกความต่างระหว่างเสียงผู้ช่วย AI ของโจแฮนสัน ในภาพยนตร์เรื่อง Her กับเสียงของ OpenAI ไม่ได้ เพราะเสียงของ ChatGPT ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ เหมือนผู้ช่วยที่เป็นมนุษย์จริงๆ ในขณะที่เสียงผู้ช่วยอัจฉริยะจากบริษัทอื่น ๆ อย่าง Siri (สิริ) และ Alexa (อเล็กซา) ยังคล้ายกับเสียงหุ่นยนต์อยู่
จาง อธิบายว่า ผู้ใช้งานยังสามารถสั่งให้เสียง AI ที่ตนเองเลือก มีบุคลิกลักษณะที่ต้องการได้ อยากให้ร่าเริง พูดเรียบ ๆ สม่ำเสมอ หรือจะให้เศร้า ก็สั่งได้ ขึ้นอยู่กับความชอบของเรา
สำหรับระบบ ChatGPT เริ่มมีเสียงพากย์ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แต่เสียงของ Sky ไม่ได้รับความสนใจ จนกระทั่งกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน
กรณีของโจแฮนสันและเสียง AI สะท้อนถึงความกังวลที่คนในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดมีต่อการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งหากยังจำกันได้ เรื่องนี้เคยเป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่ทำให้นักเขียนบทและนักแสดงแห่หยุดงานประท้วงนานหลายเดือน จนกระทบกับการผลิตซีรีส์และหนังฟอร์มใหญ่หลายเรื่อง
ฝั่งฮอลลีวูดกลัวมาตลอดว่า AI จะลอกเลียนใบหน้าและเสียงของนักแสดง ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในหน้าจอได้ตลอด โดยที่จ่ายเงินแค่เพียงครั้งเดียว และท้ายที่สุด AI ก็อาจจะมาแทนนักแสดงที่เป็นคนจริง ๆ
ปัจจุบัน บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน AI ต่างให้คำมั่นที่จะพัฒนา AI อย่างมีความรับผิดชอบ มุ่งเน้นออกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ดึงประโยชน์ของเทคโนโลยี AI มาใช้อย่างเต็มที่ แต่ต้องลดความเสี่ยงต่อมนุษยชาติด้วย
สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลสหราชอาณาจักรออกร่างรายงานสรุปจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระ 30 คน ที่ยืนยันว่า ยังไม่พบหลักฐานว่า AI สามารถสร้างอาวุธชีวภาพหรือทำการโจมตีทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนแยบยลได้ แต่ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการมองว่า ภัยคุกคามจากระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ใกล้ตัวกว่าและอาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือ ตำแหน่งงานที่ AI จะเข้ามาแทนที่
นอกจากนี้ AI ยังไม่มีความสามารถในการแยกแยะสีผิวได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์มองว่า นี่ต่างหากคือปัญหาที่แท้จริง
ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังถกเถียงกันเรื่องภัยคุกคามจาก AI รวมถึงความเป็นไปได้ที่มนุษย์อาจจะควบคุมปัญญาประดิษฐ์ไม่อยู่ แต่บริษัทไอทีก็เดินหน้าเปิดตัวและวางขายผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
ในตอนนี้ หลายคนอาจคิดว่า AI จะเป็นโอกาสสำหรับมวลมนุษยชาติ แต่หากไม่ควบคุมอย่างเข้มงวดหรือไม่หาทางจำกัดการใช้งาน เมื่อใดก็ตามที่ระบบพัฒนาถึงขั้นที่ทำงานได้เหมือนสมองมนุษย์ หรือทำงานแทนมนุษย์ได้ 100% หรือกล้าที่จะปฏิเสธการควบคุมจากมนุษย์ เมื่อนั้น อาจจะสายเกินไปที่จะหยุดยั้ง
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : PPTV / วันที่เผยแพร่ 29 พ.ค.67
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ไอที/225241