ภาพของโดรน BRINC สำหรับเจ้าหน้าที่
เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (Drone) ได้รับการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อนำไปใช้สำหรับปฏิบัติการภาคสนามของทีมกู้ภัยเบื้องต้น โดยนวัตกรรมนี้จะทำหน้าที่สอดส่องบริเวณที่มีความอันตราย ช่วยลดความเสี่ยงในการทำงานของเจ้าหน้าที่
โดรนว่านี้สามารถกระแทกกระจกหน้าต่างจนเปิดเป็นช่องให้บินเข้าไปภายในตัวอาคารได้ แม้ว่าจะปราศจาก GPS ช่วยนำทาง และยังสามารถทำการบินหาเส้นทางและสร้างแผนที่จำลองสามมิติของสภาพแวดล้อมรอบตัวได้ ทั้งยังทำหน้าที่เชื่อมการสื่อสารสองทาง ระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้รอดชีวิตในกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือกับผู้ก่อเหตุ ในกรณีวิกฤตตัวประกัน เป็นต้น
ภาพของการสร้างแผนที่ 3 มิติโดยโดรน ‘Brinc’
และหากโดรนนี้ประสบอุบัติเหตุตกลงพื้นแบบกลับหัว มันก็ยังสามารถพลิกตัวเองและบินขึ้นสูง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
บริษัทสตาร์ทอัพ บริงค์ โดรนส์ (Brinc Drones) ในเมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน คือ ผู้พัฒนาโดรนสำหรับทีมกู้ภัยเบื้องต้น โดยในปัจจุบัน โดรน รุ่น ลีเมอร์ ทู (Lemur 2) ของบริษัทถูกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหลายแห่งในสหรัฐฯ นำไปใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เบลค เรสนิค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Brinc Drones
เบลค เรสนิค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Brinc Drones ให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ ว่า ในแผนระยะยาว บริษัทอยากที่จะพัฒนาโดรนให้มีความทันสมัยและใช้งานแทนที่เฮลิคอปเตอร์ของตำรวจ รวมไปถึงการทำให้โดรนตอบสนองการโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินในระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาทีได้
และในสถานการณ์คับขันที่คาบเกี่ยวกับความเป็นความตาย โดรนยังสามารถส่งยารักษาโรคได้อย่างทันท่วงที เช่น จัดส่งยานาล็อกโซน (Naloxone) แก้พิษฉุกเฉิน หรือกระบอกยาปากกา เอพิเพ็น (EpiPen) แก้แพ้ชนิดรุนแรง หรือแม้แต่ช่วยให้นักดับเพลิงเห็นภาพของสถานที่เกิดเหตุ สภาพเพลิงไหม้ ผ่านกล้องถ่ายภาพความร้อนแบบเรียลไทม์ รวมถึงช่วยให้ตำรวจรู้ว่า “คนร้ายมีไฟแช็คหรือว่าอาวุธปืนในมืออยู่” ด้วย
กระบวนการพัฒนา สร้างเครื่องต้นแบบ และกระบวนการผลิตทั้งหมด เกิดขึ้นในบริษัทที่ตั้งเมืองซีแอตเติล อย่างไรก็ดี บริษัทแห่งนี้ยังไม่มีหนทางจัดหาส่วนประกอบต่าง ๆ ของโดรนที่มีราคาย่อมเยาจากประเทศอื่นมาผลิตอุปกรณ์นี้ได้
แฟ้มภาพ – คนงานในโรงงานเทคโนโลยีแห่งหนึ่งในนครเสิ่นเจิ้น มณฑลกว่างตง ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของจีน
เรสนิค ซีอีโอ บริษัท Brinc Drones เผยว่า “ในความเป็นจริง ห่วงโซ่อุปทานสำหรับส่วนประกอบของโดรนทั่วโลกทั้งหมด อยู่ในเมืองเสิ่นเจิ้น ประเทศจีนแห่งเดียว และบริษัทก็ปฏิบัติตามข้อกำหนดร่างกฎหมายงบประมาณด้านกลาโหมแห่งชาติ (National Defense Authorization Act – NDAA) ที่หมายความว่า จะไม่ใช้ส่วนประกอบ ทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือยางซิลิโคนที่มาจากประเทศจีน รัสเซีย อิหร่าน และประเทศอื่น ๆ ในรายชื่อที่ถูกระบุไว้”
ด้วยเหตุนี้ บริษัทแห่งนี้จึงจัดหาส่วนประกอบจากภายในประเทศทั้งหมดเท่านั้น
ทั้งนี้ โดรนของบริษัท Brinc เริ่มมาจากการใช้งานในที่ร่ม ก่อนถูกพัฒนาเพิ่มศักยภาพสำหรับใช้กลางแจ้ง โดยที่ผ่านมา อากาศยานไร้คนขับของบริษัทแห่งนี้ถูกนำไปใช้ในภารกิจลาดตระเวนและกู้ภัยในยูเครน รวมถึงถูกนำไปใช้ในกรณีเหตุแผ่นดินไหวในตุรกี ปี 2023 ด้วย
ที่มา: วีโอเอ
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : VOA Thai / วันที่เผยแพร่ 28 พ.ค.67
Link : https://www.voathai.com/a/seattle-startup-builds-drones-for-first-responders/7528399.html