ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประกาศลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารในวันอังคาร ระงับการขอเข้าสหรัฐฯ ในฐานะผู้ลี้ภัยจากชายแดนเม็กซิโก หากปริมาณคนเข้าเมืองโดยเฉลี่ยในรอบหนึ่งสัปดาห์สูงแตะ 2,500 คนต่อวัน และจะเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อจำนวนลดเหลือ 1,500 คนต่อวัน ตามการรายงานของเอพี
คำสั่งฝ่ายบริหารฉบับนี้ถูกจับตามองว่าจะมีการประกาศมาหลายเดือนแล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่ข้อเสนอต่อรัฐสภาสหรัฐฯ เรื่องการจัดการชายแดน ถูกปฎิเสธโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งส่วนใหญ่สังกัดพรรครีพับลิกัน ตามคำสั่งของโดนัลด์ ทรัมป์ผู้ที่คาดว่าจะเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปีนี้
คำสั่งที่เป็นอำนาจเฉพาะของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างเด็ดขาดที่สุดของรัฐบาลชุดนี้เพื่อควบคุมจำนวนคนเข้าเมืองที่ชายแดนตอนใต้ ที่มุ่งหวังจะปลดชนวนทางการเมืองเรื่องปัญหาคนเข้าเมืองก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน
ซึ่งหากพิจารณาตามจำนวนเฉลี่ยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หมายความว่าคำสั่งของไบเดนจะมีผลทันที เพราะจำนวนคนเข้าเมืองเฉลี่ยในปัจจุบันมีจำนวนเกินเพดานที่ตั้งไว้ข้างต้นแล้ว
เมื่อคำสั่งมีผลบังคับใช้ ผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่มาถึงชายแดนสหรัฐฯ แต่ไม่มีการบ่งชี้ว่ามีภัยอันตรายที่น่าเกรงกลัวต่อการกลับประเทศ จะถูกนำตัวออกจากสหรัฐฯ ทันที และหากกลับเข้ามาสหรัฐฯ อีกครั้งจะถูกลงโทษทางอาญา หรือห้ามเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 5 ปี
แต่หากผู้โยกย้ายถิ่นฐานแจ้งว่าต้องการจะขอลี้ภัย หรือบ่งชี้ว่ากลัวภัยอันตรายจากประเทศต้นทาง ก็จะถูกนำเข้าสู่ระบบตรวจสอบการขอลี้ภัยในสหรัฐฯ ที่จะยกระดับมาตรฐานมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และหากผ่านการตรวจสอบก็จะสามารถขอรับความคุ้มครองทางมนุษยธรรม
เจ้าหน้าที่ระดับสูงสี่รายให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนโดยไม่เปิดเผยตัวตน ระบุว่าคำสั่งของไบเดนมีขึ้นในช่วงที่จำนวนผู้ขอข้ามแดนค่อย ๆ ลดลงนับตั้งแต่เดือนธันวาคม แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลยังยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวมีความจำเป็น เพราะจำนวนคนข้ามแดนยังคงสูงอยู่ และจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่สภาพอากาศดีกว่านี้
ทั้งนี้ เอพีรายงานว่า ยังคงมีคำถามหลายประการในขั้นตอนการบังคับใช้ในภาคปฏิบัติ เช่น ก่อนหน้านี้ไบเดนมีข้อตกลงกับเม็กซิโกว่า เม็กซิโกจะรับชาวคิวบา เฮติ นิการากัว และเวเนซุเอลาที่สหรัฐฯ ไม่ให้เข้าประเทศเดือนละ 30,000 คน แต่ภายใต้คำสั่งชุดใหม่ ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าประชาชนประเทศอื่นที่ถูกนำออกจากสหรัฐฯ จะถูกส่งไปที่ใด
เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนยอมรับด้วยว่าการนำคนออกจากสหรัฐฯ อย่างรวดเร็วจะมีข้อจำกัดเนื่องจากไม่มีงบประมาณที่เพียงพอ และการกักตัวผู้ข้ามแดนที่มาเป็นครอบครัวก็ยังมีเงื่อนไขทางกฎหมายเข้ามาเป็นปัจจัย แต่ก็ยังยืนยันว่าจะปฏิบัติตามแนวทางคำสั่งที่มีมาใหม่
คำสั่งของไบเดนมีขึ้นมาตามอำนาจภายใต้มาตรา 212 (f) ของกฎหมายคนเข้าเมืองและสัญชาติ ที่อนุญาตให้ประธานาธิบดีจำกัดจำนวนคนเข้าเมืองในกรณีที่พบว่า “เป็นอันตราย” ต่อผลประโยชน์ของชาติ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงยืนยันว่า การใช้อำนาจครั้งนี้ต่างจากการตัดสินใจของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีที่เคยใช้คำสั่งเดียวกันห้ามพลเมืองจากประเทศมุสลิมเข้าประเทศเมื่อปี 2017 และลดจำนวนผู้ลี้ภัยในปี 2018 เพราะการใช้อำนาจของไบเดนยังยกเว้นผู้เข้าเมืองด้วยเหตุจำเป็นทางมนุษยธรรมหลายข้อ รวมถึงผู้ขอเข้ากระบวนการตามระบบที่ภาครัฐกำหนดไว้
ครั้งสุดท้ายที่จำนวนผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากเม็กซิโกต่ำกว่า 2,500 คนต่อวัน คือช่วงเดือนมกราคม 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ไบเดนรับตำแหน่งผู้นำสูงสุด สำหรับตัวเลขเฉลี่ยขาเข้า 1,500 คนต่อวันครั้งสุดท้ายนั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักที่สุด
ด้านกลุ่มสมาชิกสภาคองเกรสฝ่ายรีพับลิกันหลายคนที่แทบทั้งหมดเคยปฏิเสธข้อเสนอมาตรการจัดการชายแดนที่วุฒิสภาของทั้งสองพรรคเห็นพ้องต้องกันมาแล้วในช่วงต้นปีนี้ มองว่าการตัดสินใจของไบเดนล่าสุดเป็นเพียง “ละครทางการเมือง” ที่ต้องการบอกว่าตัวเองได้เข้มงวดกวดขันในเรื่องคนเข้าเมืองก่อนที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งเท่านั้น
ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน กล่าวในการแถลงข่าวว่า ไบเดน “พยายามที่จะหว่านล้อมเราทุกคนตลอดเวลาว่าไม่มีทางที่เขาจะสามารถแก้ไขความวุ่นวายนี้” และกล่าวด้วยว่า ให้จำเอาไว้ว่าเป็นไบเดนที่จัดแจงตบแต่งเรื่องนี้ขึ้นมา
ที่มา: เอพี
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : VOAThai / วันที่เผยแพร่ 5 มิ.ย.67
Link : https://www.voathai.com/a/biden-shutting-asylum-if-daily-number-from-mexico-over-2500/7642773.html