สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC เปิดภารกิจเชิงรุก นำคณะสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล เข้าดำเนินการแนะนำการกำกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) กรุงเทพมหานคร เพิ่มประสิทธิภาพกำกับดูแลการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และช่วยจัดการสภาพแวดล้อมในแต่ละหน่วยมีมาตรการ “ป้องกัน” ความเสี่ยงที่จะมีข้อมูลรั่วไหล พร้อมส่งเสริมเป้าหมายด้านการพัฒนากำลังคน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้กฎหมาย PDPA ในวงกว้าง
นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหาร พร้อมด้วย พล.ต.ต.กฤษศักดิ์ สงมูลนาค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC นำทีม คณะสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล, สำนักส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และฝ่ายตรวจสอบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และฝ่ายกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคล เจ้าหน้าที่โครงการ เข้าดำเนินการตรวจแนะนำการกำกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) กรุงเทพมหานคร
สำหรับภารกิจการตรวจแนะนำการกำกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถือเป็นหนึ่งในมาตรการเชิงรุกของ ‘สำนักตรวจสอบและกำกับดูแล’ หน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ในการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) เพื่อช่วยเรื่องการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในแต่ละหน่วยงาน ไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีข้อมูลรั่วไหล ด้วยกลไกการให้ความรู้เพิ่มมาตรฐานครอบคลุมทั้งในด้านทักษะ การป้องกัน รูปแบบการแก้ไขปัญหา รวมถึงสร้างความพร้อมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) กรุงเทพมหานคร สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยมีคณะเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) กรุงเทพมหานคร นำโดยผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล, ผู้อำนวยการกองควบคุมระบบคอมพิวเตอร์, รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์กรุงเทพ, ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เข้าร่วมรับการตรวจแนะนำจาก PDPC ภายใต้เนื้อหาสำคัญต่าง ๆ อาทิ กลไลการขับเคลื่อนการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศ, นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเชิงรุก, กลไกการกำกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงกรอบการตรวจแนะนำ 10 ด้าน ที่ทางฝั่ง PDPC เน้นหนัก ร่วมหารือพร้อมสอบถามความคืบในการดำเนินหน้าที่การทำงานในเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของกรุงเทพมหานครอย่างละเอียด พร้อมแนะแนวทางการดำเนินงานที่ต้องมีการเก็บรวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การรั่วไหลของข้อมูล หรือการใช้ข้อมูลในทางที่ผิด
โดยปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร มีงานบริการประชาชนทั้งหมด 77 หน่วยงาน และกว่า 700 หน่วยงาน มีบุคลากรมากกว่า 80,000 คน ที่มีส่วนในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของทั้งประชาชน และบุคลากรในกรุงเทพมหานคร จึงมีข้อมูลปริมาณมหาศาล จึงเป็นข้อมูลที่มีความเสี่ยง และมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก จำเป็นต้องมีมาตรการ “ป้องกัน” ข้อมูลที่อาจเกิดการรั่วไหลให้มากที่สุด
ทั้งนี้ การตรวจแนะนำการกำกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยังเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนากำลังคนด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักรู้ รวมถึงความเชื่อมั่นในการใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ให้เข้าถึงประชาชนทุกภาคส่วนได้ในวงกว้าง โดยปัจจุบัน PDPC ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานกับเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) รวมกว่า 2,156 หน่วยงานทั่วประเทศ
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : สยามรัฐ / วันที่เผยแพร่ 16 มิ.ย. 2567
Link : https://siamrath.co.th/n/544184