หน้ากากซิลิโคนรูปหน้าคน เพื่อใช้ปลอมแปลงใบหน้า ถูกใช้อยู่บ่อยครั้งในแวดวงฮอลลีวูด โดยที่หลายคนจดจำได้ก็คือในภาพยนตร์เรื่องมิชชั่น อิมพอสซิเบิ้ล รวมทั้งหน้ากากเหล่านี้ยังมักจะใช้เป็นของเล่นในงานแฟนซีต่าง ๆ แต่ในระยะหลังกลับพบว่า หน้ากากเหล่านี้ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่นการนำไปสวมเพื่อปิดบังใบหน้าและตัวตน ในขณะไปก่อเหตุอาชญากรรมโดยเฉพาะในประเทศจีนที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ถี่ขึ้น
ย้อนไปในเดือนมีนาคม มีเหตุคนร้ายวัยราว 40 ปี สวมหน้ากากคนแก่ก่อเหตุงัดแงะเข้าบ้านเรือนประชาชนในเซี่ยงไฮ้ถึง 4 หลัง ขโมยเงินรวมกว่า 100,000 หยวน หรือราว 500,000 บาท
ต่อมาในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เกิดคดีสุดไวรัลในประเทศจีน หลังจากที่คนร้ายสวมหน้ากากซิลิโคนปลอมตัวเป็นคนแก่ ก่อเหตุทุบกระจก ขโมยเงินและอัญมณีมูลค่ารวมกันกว่า 5 แสน จากร้านค้าที่อยู่ชั้นหนึ่งของอาคารสูงสี่ชั้น โดยเขาเกือบจะเนียนๆ หนีไปได้อย่างลอยนวลอยู่แล้ว ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เอะใจตรวจสอบกล้องวงจรปิด จนพบว่าชายแก่คนนี้เดินเข้าไปภายในอาคาร และเห็นชายแก่สวมหน้ากากอนามัยลงมือก่อเหตุ แต่ไม่เห็นเขาเดินออกมาจากอาคาร จนนำไปสู่การจับกุมคนร้าย และพบหลักฐานเป็นหน้ากากซิลิโคนคนแก่
ขณะที่เดือนที่แล้ว มีหัวขโมยงัดบ้านเรือนประชาชนในย่านชนบท 5 หลัง ในมณฑลเจียงซู ได้ทรัพย์สินมูลค่าราว 30,000 หยวน หรือราว 150,000 บาท โดยหลอกลวงชาวบ้านว่าเป็นพนักงานการไฟฟ้า โดยพกหน้ากากซิลิโคนไว้กับตัวหวังจะใส่เพื่อใช้หลบเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เหตุการณ์เหล่าจึงจุดประเด็นความกังวลของทางการจีนให้มีการตรวจตราและป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอย เพราะพบว่าใครก็สามารถซื้อหาหน้ากากเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย
ล่าสุด แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ในจีนอย่าง Taobao และ Pinduduo ได้สกัดการค้นหาสินค้าประเภทหน้ากากแบบนี้แล้ว เพื่อป้องกันกลุ่มอาชญากรรมนำไปใช้ในการก่อเหตุผิดกฎหมายต่างๆ เพราะสามารถหลีกเลี่ยงระบบการตรวจจับใบหน้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จีนใช้ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
เซนเซอร์การค้นหา แต่ยังเจอผลลัพธ์
แม้ว่าแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์จะเซนเซอร์การค้นหาคำว่า หน้ากากมนุษย์ ทำให้ไม่ขึ้นผลลัพธ์ก็ตาม แต่ถ้าเลี่ยงไปใช้คำว่า หน้ากากซิลิโคนแทน ก็จะยังขึ้นสินค้าประเภทนี้ให้สามารถกดสั่งได้อยู่ดี โดยมีหน้ากากของคนมีชื่อเสียงหลากหลายขึ้นมาให้เลือก ราคาตั้งแต่ 19-250 หยวน โดยไม่ได้จำกัดให้ส่งในจีนเท่านั้น แต่ยังสามารถสั่งให้มาส่งยังต่างประเทศได้ตามปกติ
สำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์ระบุว่า หน้ากากซิลิโคนเหล่านี้ไม่ได้ถูกห้ามซื้อขายในสิงคโปร์ ร้านค้าต่างๆ ยังมีสิทธิที่จะนำเข้าและจำหน่ายได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ตามปกติ ตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับต่างๆของท้องถิ่น โดยสิงคโปร์ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์คนร้ายใช้หน้ากากซิลิโคนในการก่อเหตุมาก่อน
ข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัว
นอกจากหน้ากากซิลิโคนจะกลายไปเป็นเครื่องมือของหัวขโมยในการก่อเหตุโจรกรรมแล้ว ยังมีความกังวลว่าหน้ากากซิลิโคนเหล่านี้อาจจะถูกมิจฉาชีพนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ด้วย โดยก่อนหน้านี้ บรรดาอินฟลูเอ็นเซอร์ของจีน มีการโพสต์คลิปวิดีโออย่างน้อย 2 คลิป ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเป็นคลิปที่แสดงให้เห็นวิธีสวมหน้ากากปลอมตัวแล้วสามารถที่จะปลดล็อกโทรศัพท์มือถือของคนอื่น สามารถสแกนใบหน้าเข้าออฟฟิศ หรือแม้แต่สแกนหน้าเข้าบัญชีธนาคาร หรือแม้แต่จ่ายเงินผ่านแอปอาลีเพย์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ด้วย
รองศาสตราจารย์ ไว คิง คง จากวิทยาลัยคอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์ข้อมูลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) ระบุว่าความเสี่ยงของการใช้หน้ากากเพื่อปลอมตัวเป็นบุคคลอื่น เป็นสิ่งที่นักวิจัยทราบกันดีมานานหลายปีแล้วว่ามีความเป็นไปได้จริง เพราะหน้ากากเหล่านี้ถูกนํามาใช้เพื่อประเมินความถูกต้องของวิธีการตรวจจับตัวตนมานานแล้ว และยังมีการจัดการแข่งขันเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของวิธีการต่างๆ ด้วย โดยพบว่าหากอุปกรณ์ตรวจจับไม่ใช่อุปกรณ์ตรวจจับอัลกอริทึมคุณภาพสูง ก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดได้มาก และยิ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายรายที่รับทำหน้ากากซิลิโคนตามสั่งได้ ก็ยิ่งเป็นดาบสองคมต่อการนำไปใช้ในทางที่ผิด
โดยสำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์ได้สำรวจข้อมูลของร้านค้าออนไลน์ที่รับผลิตหน้ากากซิลิโคนเหมือนคนจริง โดยอ้างอิงข้อมูลจากสื่อของจีนพบว่า ราคาของหน้ากากซิลิโคนประเภทนี้จะมีราคาอยู่ที่ 3,000-25,000 หยวน หรือราว 15,000-125,000 บาท โดยหากลูกค้าต้องการความเหมือนจริงมากๆ ก็สามารถเดินทางไปที่ร้านด้วยตัวเอง หรือจะส่งรูปภาพต้นแบบจากหลายๆมุมของใบหน้าไปให้ก็ได้
ทำหน้ากากเลียนแบบหน้าคนผิดกฎหมาย?
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของจีนเตือน การสร้างหน้ากากซิลิโคนเลียนแบบใบหน้าคนอาจจะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะหากเจ้าของไม่ได้ให้ความยินยอม โดยผู้ผลิตจะต้องได้รับโทษไปด้วยหากผู้ซื้อมีการนำหน้ากากไปใช้ล้วงข้อมูลส่วนตัว ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือก่อเหตุอาชญากรรมอื่นๆ โดยในทางกฎหมายบุคคลที่ใช้หน้ากากโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจต้องรับผิดในการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลไซเบอร์สเปซของจีนได้ออกร่างกฎที่ดูแลการใช้ และความปลอดภัยของเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศจีน สำหรับทุกอย่างตั้งแต่การเก็บขยะไปจนถึงเครื่องจ่ายทิชชูในห้องน้ำ
โดยองค์การบริหารไซเบอร์สเปซของจีน (CAC) กล่าวว่า เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าสามารถใช้เพื่อประมวลผลข้อมูลใบหน้าได้ ก็ต่อเมื่อมีวัตถุประสงค์เฉพาะและมีความจำเป็นเท่านั้น โดยยืนยันว่าทางการมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด และการใช้เทคโนโลยีจะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม นักวิชาการแนะนำว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำเพียงใด แต่ก็ควรใช้วิธีการระบุตัวตนวิธีการอื่นๆ ที่ซึ่งมีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย อย่างเช่น การใช้ลายนิ้วมือ การใส่พาสเวิร์ดกับอุปกรณ์ส่วนตัวอื่นๆ เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยกลวิธีต่างๆ ของมิจฉาชีพที่พัฒนามากขึ้นทุกวัน
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
ที่มา : channelnewsasia , globaltimes
————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ / วันที่เผยแพร่ 26 มิ.ย.67
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_776208